“ซี.พี.” ควง “ITD” ถกพื้นที่สร้างไฮสปีดผงะบุกรุกอื้อ-จุดทับซ้อนเพียบรถไฟยันส่งมอบได้ 80%

แฟ้มภาพ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3​ สนามบิน​ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ​-อู่​ตะเภา)​ ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน​ 224,544​ ล้าน​บาท​ กล่าวว่า ผลการประชุมส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี.วันที่ 14 มิ.ย.2562 ยังมีปัญหาอีกมาก

@ติดพื้นที่ทับซ้อน

โดยเฉพาะช่วงบางซื่อ – ดอนเมืองที่คาบเกี่ยวกับโครงการชานเมืองสายสีแดง Missing Link และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คิดเป็น 20% ของพื้นที่รวมทั้งหมด ซึ่งจะต้องก่อสร้างอุโมงค์เปิดเป็นโครงสร้างร่วมกับโครงการข้างต้น และยังมีโครงสร้างของโฮปเวลล์ที่ต้องรื้อออก 80-90 ต้น

“ก็คุยกันว่าถ้าพื้นที่นี้ยังส่งมอบไม่ได้ เอาพื้นที่อื่นก่อนได้ไหม ส่วน ซี.พี.จะยังยืนเงื่อนไขว่า พื้นที่ตรงนั้นจะต้องส่งมอบใน 2 ปี เราก็จะไปเคลียร์ให้ ยอมรับว่าอาจจะจบไม่เร็ว แต่ขีดเส้นไว้ว่าจะให้จบในกรอบ EIA คือวันที่ 24 มิ.ย.นี้”

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญกลุ่ม ซี.พี.หารืออีกครั้งแต่ยังไม่ระบุวันเวลา โดยให้การบ้านไปกลุ่ม ซี.พี.ว่า ให้ทำร่างข้อเสนอเรื่องพื้นที่ที่ต้องการสำหรับรับมอบเพื่อดำเนินการก่อสร้างมาร่วมพิจารณาด้วย

@เลื่อนลงนามต้นเดือน ก.ค.

ด้านนายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)​ เปิดเผยว่า การประชุมเพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำแผนผังพื้นที่ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบตลอดแนวเส้นทาง 220 กม. คิดเป็นที่ดินประมาณ 10,000 ไร่ พร้อมทั้งทำแผนการส่งมอบที่จะกำหนดระยะเวลาชัดเจน คาดว่าการลงนามในสัญญาจะเลื่อนไปเร็วที่สุด ต้นเดือน ก.ค.นี้ แต่ก็ต้องรอผลการพิจารณารายงาน EIA ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม​แห่งชาติ ​(กก.วล.) ​ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ก่อน

“ตอนนี้มีพื้นที่ที่พร้อมส่งมอบแล้ว 80% แต่ยังขาดรายละเอียดสัญญาเช่าบางส่วนอีก 10 สัญญาเช่าจากทั้งหมด 314 สัญญาเช่าที่อยู่บนแนวเส้นทาง คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อมูลส่วนนี้ครบ ซึ่งการบอกยกเลิกสัญญาก็ไม่เป็นปัญหา เพราะตามระเบียบแล้วต้องแจ้งล่วงหน้ากับผู้เช่าเดิมเท่านั้น ก็ดำเนินการได้ทันที”

@เร่งเคลียร์อุปสรรค 2 ปี

ยังมีพื้นที่อีก 20% เป็นพื้นที่ที่ยังมีอุปสรรคในการส่งมอบ แบ่งได้ 3 ประเภทคือ 1.พื้นที่เวนคืนตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน 850 ไร่ ที่ยังอยู่ระหว่างรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนประกาศใช้ 2.พื้นที่บุกรุก ประมาณ 10% หรือประมาณ 1,000 ไร่ กระจายไปทั่วเส้นทาง 3.พื้นที่ที่มีสาธารณูปโภค​กีดขวาง เช่น ท่อน้ำมัน ท่อประปาขนาดใหญ่ สายไฟฟ้า ซึ่งรวมไปถึงโครงสร้างของโครงการโฮปเวลล์​เดิมอีกประมาณ 80-90 ต้นที่ต้องรื้ออออกด้วย

“การทำแผนผังจะมีการระบุระยะเวลาเคลียร์อุปสรรคด้านต่างๆ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ที่ ร.ฟ.ท.เคยทำมา เช่น การแก้ปัญหาผู้บุกรุกเคยใช้เวลาจัดการประมาณ 2-3 ปี ร.ฟ.ท.ก็จะเขียนลงไป จากนั้นกลุ่ม ซี.พี.จะพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการส่งมอบพื้นที่ อาจจะมีข้อเรียกร้องอยากทำตรงนั้นตรงนี้ก่อน เราก็มาคุยกันเพื่อให้รถไฟเน้นแก้ปัญหาเฉพาะจุดก่อน อาจจะมีการประสานหน่วยงานความมั่นคงมาช่วยในส่วนที่ดำเนินการขับไล่ผู้บุกรุกยาก”

ส่วนพื้นที่เวนคืน นายสุจิตต์ขยายความว่า ตามระเบียบแล้ว การเวนคืนจะมีกรอบเวลาที่ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.เวนคืนอย่างเป็นทางการ จะทำเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา​ เพื่อเร่งให้ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เพราะกลุ่ม ซี.พี.ก็กังวลในประเด็นนี้ เบื้องต้น จะแบ่งพื้นที่เวนคืน 850 ไร่ ออกเป็น 12 พ.ร.ฎ. แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีกี่แปลง ต้องสำรวจพื้นที่ก่อน

ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการเรื่องการเวนคืนและแก้ปัญหาผู้บุกรุกให้เสร็จภายใน 2 ปีตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ซึ่งจะไม่กระทบกับกรอบเวลาก่อสร้าง 5 ปีแน่นอน เพราะมีพื้นที่ที่พร้อมส่งมอบเพื่อก่อสร้างแล้ว 80%

ดังนั้น ในสัปดาห์หน้า คาดว่าร.ฟ.ท.น่าจะได้ข้อมูลในส่วนต่างๆ ครบรอบ​ถ้วนแล้ว ส่วนกลุ่ม ซี.พี.จะต้องไปสำรวจว่า มีอะไรยังติดขัดหรือไม่และต้องการให้ ร.ฟ.ท.ไปดำเนินการในพื้นที่อุปสรรคส่วนไหนก่อน แล้วส่งมาในที่ประชุมครั้งต่อไป

@ส่งอิตาเลียนไทยร่วมวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในวันนี้ นายวรวุฒิมอบหมายให้นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล ในฐานะรองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน เนื่องจากนายวรวุฒิติดภารกิจประชุมร่วมกับที่ปรึกษาจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า)

ส่วนกลุ่ม ซี.พี.ได้ส่งตัวแทนฝ่ายกฎหมายและผู้บริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ นำโดยนายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโสมาร่วมประชุม โดยนายสุเมธ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มาดูการส่งมอบพื้นที่ เพื่อกลับไปวางแผนการก่อสร้าง

“ส่วนตัวมองว่าระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปีที่ให้มาค่อนข้างจำกัด และข้อมูลที่ให้มาก็ยังไม่ครบ ขณะที่การแบ่งงานกับ บมจ.ช.การช่างในฐานะผู้ร่วมทุน ยังคุยกันอยู่”