“บิ๊กตู่” จับเข่าคุย “ฮุนเซน” วัดใจโครงการพันลึกผันน้ำสตึงมนัม

การเดินทางเยือนกัมพูชาของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 กันยายนที่จะถึงนี้ ในฐานะ “แขก” ของ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน และรัฐบาลกัมพูชา ได้ถูกจับจ้องขึ้นมาอีกครั้งในประเด็นที่ว่า การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย-กัมพูชาครั้งที่ 3 จะมีการหยิบยกเรื่องของ โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ขึ้นมาหารือหรือไม่

แน่นอนว่า ฝั่งรัฐบาลกัมพูชาตั้งความหวังไว้เต็มเปี่ยมกับโครงการนี้

โดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้สั่งการผ่านสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2559 ว่า ฝ่ายกัมพูชาเห็นชอบที่จะให้ตั้งโรงไฟฟ้าฝั่งไทยและผันน้ำให้กับฝ่ายไทย “โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” มาถึงเดือนมกราคม 2560 กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชาก็ได้มีหนังสือมาถึงกระทรวงพลังงานไทยแจ้งว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สิทธิ์กับ บริษัท Steung Meteuk Hydropower หรือ SMH เป็นผู้พัฒนาโครงการนี้

ฝ่ายไทยเอง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ก็ได้นำเสนอ สถานภาพการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม โดย คณะอนุกรรมการมีความเห็นให้ มีโรงไฟฟ้าฝั่งกัมพูชา ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 24 เมกะวัตต์ (MW) ผันน้ำจากตัวเขื่อนเข้ามาฝั่งไทย 300 ล้าน ลบ.เมตร และค่าไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายให้กับโครงการสูงถึง 13.50 บาท/หน่วย

โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ไม่มีการให้รายละเอียดว่า น้ำจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม.ที่จะผันเข้ามาฝั่งไทยนั้น จะถูกนำไปใช้เพื่อกิจกรรมใดในประเทศและเหตุใดค่าไฟฟ้าในโครงการถึงแพงมหาศาลถึงหน่วยละ 13.50 บาท

อย่างไรก็ตามความ “น่าสงสัย” ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสตึงมนัมพึ่งจะมาถูกเฉลยเอาเมื่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการสตึงมนัม (Tariff MOU) ซึ่งจัดทำโดย บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการฝ่ายไทย (เปิดตัวผู้ลงทุนฝ่ายไทยในโครงการนี้เป็นครั้งแรก) กับ บริษัท Steung Meteuk หรือ SMH

สาระสำคัญของ Tariff MOU ฉบับนี้ก็คือ โครงการจะผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสตึงมนัมเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 24 MW และส่งน้ำให้ไทยระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมเฉลี่ยปีละ 300 ล้าน ลบ.ม. โดยราคาขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.สูงสุดไม่เกิน 10.75 บาท/หน่วย และ “จะไม่มีการคิดค่าน้ำ” ที่ผันมายังฝั่งไทย พร้อม ๆ กับให้ กฟผ.เจรจาร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อายุ 50 ปี ขนานไปกับการทำ MOU ด้วยความมั่นใจเต็ม 100% ว่า โครงการนี้ยังไงก็เกิดขึ้นแน่

แต่เรื่องกลับ “แดง” ออกมาตรงที่ว่า ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพงมหาศาลถึงหน่วยละ 10.75 บาท กับการตอกย้ำถี่ ๆ ว่า “ไม่มีการคิดค่าน้ำที่ผันเข้ามายังฝั่งไทย” จนกลายมาเป็นการสืบค้นจนพบข้อเท็จจริงที่ว่า แท้ที่จริงแล้วค่าน้ำที่อ้างว่า ผันมาให้ไทยฟรี ๆ นั้น ได้แอบ “บวก” เข้าไปอยู่ในค่าไฟฟ้าที่จะขายให้กับ กฟผ.หน่วยละ 10.75 บาทเรียบร้อยไปแล้ว ตามสูตรน้ำประมาณ 3 คิวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 หน่วย หรือ มูลค่าน้ำประมาณ 2.87 บาท/คิว (3 คิว x 2.87 บาท = 8.61 บาท + มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาท/หน่วย = 11.21 บาท/หน่วย) ซึ่งใกล้เคียงกับราคาค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ระบุไว้ 10.75 บาทมาก

ในขณะที่ กระทรวงพลังงาน ได้ออกถ้อยแถลงที่ว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดเล็ก จะไม่กระทบอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่า Ft) พร้อมกับ “โบ้ย” ไปว่า ถึงค่าไฟฟ้าจะ “ค่อนข้างแพง” แต่มีความจำเป็นเพราะต้องการน้ำจำนวน 300 ล้าน ลบ.ม.มารองรับความต้องการใช้ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กับ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) แต่ก็ไม่ยอมบอกว่า มูลค่าของโครงการสตึงมนัมอาจจะมากกว่า 50,000 ล้านบาท

หากรวมการลงทุนในส่วนระบบท่อส่งน้ำที่จะรองรับน้ำที่ผันเข้ามาจากชายแดนตราดมาถึงอ่างเก็บน้ำประแสร์ ระยอง เข้าไปด้วย (ตัวเขื่อนโรงไฟฟ้า 9,554 ล้านบาท ระบบท่อส่งน้ำจากการประเมินเบื้องต้นของกรมชลประทานอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการสร้างอ่างเก็บน้ำอีกไม่น้อยกว่า 4 อ่าง)

สวนทางกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การผันน้ำจากโครงการสตึงมนัมเพื่อนำน้ำมาใช้ในภาคตะวันออก “ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว” เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเห็นชอบให้ กรมชลประทาน เข้าไปสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ได้ โดยจะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในอีก 12 ปีข้างหน้า”

ส่วนนายสมเกียรติ ประจำวงศ์ รองอธิบดีกรมชลประทานก็ออกมากล่าวว่า น้ำที่จะนำมาใช้เป็นน้ำที่ “เหลือจาก” การปั้นกระแสไฟฟ้าของเขื่อน หากกัมพูชาขายแพง ไทยคงต้องหาวิธีอื่น หากไม่คุ้มค่าการลงทุนเพราะ “โครงการสตึงมนัมไม่เพียงมีค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำ หากแต่ยังมีเรื่องของการวางระบบท่อส่งน้ำด้วย”

เหตุผลดังกล่าวส่งผลให้การเดินหน้าโครงการสตึงมนัมต้อง “หยุดชะงัก” ลงชั่วคราวจากความขัดแย้งกันเองระหว่าง กระทรวงพลังงาน กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อนถึง “บิ๊กโย่ง” พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ต้องออกมากล่าวว่า “กระทรวงพลังงานไม่ได้ต้องการโครงการนี้ ไม่มีความจำเป็น ไปถามคนที่เค้าอยากได้สิว่า ค่าไฟคุ้มมั้ย ค่าน้ำคุ้มมั้ย”


กลายเป็นปริศนาต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้ว “ใคร” ต้องการโครงการสตึงมนัมกันแน่