“สมเด็จรีเยนต์-สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” 2 ราชินี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ราชสำนักรัตนโกสินทร์ มีผู้หญิงชั้นสูงที่อยู่ในฐานะพระอัครมเหสี มเหสี เจ้าจอม และนางสนม ซึ่งมาจากการถวายตัวเป็น “บาทบริจาริกา” หรือผู้มีหน้าที่ปรนนิบัติกษัตริย์ และมีคุณสมบัติโดดเด่นด้านความงาม เฉลียวฉลาด

ที่สำคัญคือ มีความจงรักภักดี ยอมอุทิศถวายชีวิตเพื่อกษัตริย์และบ้านเมือง เช่น ในสมัยพระศรีสุริโยทัย ผู้ถวายชีวิตขับช้างเข้ากันพระสวามีจนร่างถูกฟันบนคอช้าง

“สมเด็จรีเยนต์” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า The Queen Regent เป็นคำที่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ใช้กล่าวถึง “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงเป็น “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Regency”

เมื่อครั้งรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระพาสยุโรป ทรงแต่งตั้ง สมเด็จพระนางเจ้าศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เป็น “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” พระองค์แรกในสยาม ระหว่างวันที่ 7 เมษายน ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ.2440 เป็นระยะเวลา 8 เดือน 9 วัน

เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนา พระบรมราชชนนีเป็น “สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งให้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็น “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” พระองค์ที่สอง

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระผนวช ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 เป็นระยะเวลา 15 วัน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในขณะนั้น ยังทรงดำรงตำแหน่งนายิกาสภากาชาดไทย และทรงมีพระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุข การศึกษา การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมศิลปาชีพและการเสด็จเยี่ยมหน่วยราชการ “ซึ่งล้วนสืบทอดมากจากพระราชกรณียกิจของ สมเด็จรีเยนต์”

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสถาปนา พระราชชนนี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

กล่าวสำหรับ “สมเด็จรีเยนต์” อันเป็นสมญานามของ “สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” นั้น มาจากการเป็น “ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน” ขึ้นว่าราชการแผ่นดินในราชสำนัก “ฝ่ายหน้า” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับว่าราชการแผ่นดิน โดยข้าราชสำนักเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายชาย

ขณะที่ “ฝ่ายใน” เป็นพื้นที่ของข้าราชสำนักในพระองค์เป็นหญิงทั้งหมด เป็นครอบครัวของพระมหากษัตริย์ ซึ่งประกอบด้วยเครือญาติฝ่ายในเชื้อสายเจ้าในพระราชวงศ์และกลุ่มสตรีที่เป็น “บาทบริจาริกา” เชื้อสายเจ้าและขุนนาง

ในช่วงปี 2439-2440 โครงสร้างอำนาจทางการเมืองการปกครองแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร รวมศูนย์ที่องค์พระมหากษัตริย์ เป็นผู้นำความก้าวหน้ามาสู่สยาม ข้าราชสำนักฝ่ายใน มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เช่น สนับสนุนด้านการมี “รัชทายาท”

หน้าที่ของฝ่ายในอีกประการคือ การบำรุงประโยชน์และความสุขของพระมหากษัตริย์ และมีบทบาทในการเชื่อมสายสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับสายสกุลของตน โดยกลุ่มบาทบริจาริกาเชื้อสายเจ้า เป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ที่สุด

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 มีความเปลี่ยนแปลงในราชสำนัก “ฝ่ายใน” เมื่อทรงแต่งตั้ง “สมเด็จรีเยนต์ พระองค์แรกในสยาม”

สมติฐานในอดีต 100 กว่าปี พระราชภารกิจทางประวัติศาสตร์ ที่ “สมเด็จรีเยนต์” ทรงวางต้นแบบไว้ เป็นมาตรฐานของบทบาทและตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีให้มีการสืบทอดและยึดเป็นแนวทางปฏิบัติของแผ่นดินในลำดับต่อๆ มา เช่น การปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อสังคมและชาติเคียงคู่กับพระมหากษัตริย์ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับด้านการส่งเสริมและดูแลการศึกษา สาธารณสุข อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เช่น งานหัตถกรรม งานศิลปะพื้นบ้านที่เป็นผลผลิตของงานบ้านและจรรโลงประเพณีเดิม

โดยมีเป้าหมายให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนั้นบทบาทของสมเด็จพระราชินีและพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อชาติ สัมพันธ์ควบคู่กัน ยังเป็นเป็นบทบาทที่เริ่มมาจากการมี “สมเด็จรีเยนต์” เป็นพระองค์แรกในสยาม ซึ่งทรงเป็นต้นแบบของบทบาทพระบรมราชินีในทุกยุคสมัยก็ว่าได้


***ข้อมูลจากหนังสือ “สมเด็จรีเยนต์” สำนักพิมพ์มติชน