นับหนึ่งเซ็นสัญญา”ไฮสปีด” ซีพีประเดิม 4 พันล้านตั้งบริษัท

แฟ้มภาพ
“บิ๊กตู่” เปิดทำเนียบรับเจ้าสัวเซ็นสัญญาไฮสปีดอีอีซี 24 ต.ค. สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตรไทย-จีน ระดมทุน 4 พันล้านตั้งบริษัทใหม่ “รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน” ร.ฟ.ท.เร่งเวนคืนส่งมอบพื้นที่พญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาใน 2 ปี เปิดหวูดปี’66

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่วม 4 ปีกว่ารถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกจะได้เซ็นสัญญา 24 ต.ค.นี้ นับจาก “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประกาศจะช่วย “รัฐบาลประยุทธ์ 1” ลงทุนรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง 193 กม. ลงทุนกว่า 1.52 แสนล้านบาท และตั้งทีมศึกษาโครงการเมื่อ มี.ค. 2558 จนมาสุกงอมในปี 2561 หลังหลอมรวมกับแอร์พอร์ตลิงก์ กลายเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ใช้เม็ดเงิน 224,544 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

เลื่อนเซ็นเร็วขึ้น 1 วัน

โดยเปิดยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย. 2561 มี 2 กลุ่มยื่นแข่งขัน คือ กลุ่ม BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชกรุ๊ป) และกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผลเปิดซองราคาวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ปรากฏว่ากลุ่ม ซี.พี.คว้าชัยแบบไม่พลิกโผ โดยเสนอวงเงินให้รัฐร่วมลงทุน 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าเพดานคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 119,425 ล้านบาท อยู่ที่ 2,198 ล้านบาท ทิ้งห่างกลุ่ม BSR 52,707 ล้านบาท จากนั้นใช้เวลาเจรจากันมาจนได้ข้อยุติร่วมกัน วันที่ 16 ต.ค. 2562

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า 24 ต.ค. นี้จะเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่าง ร.ฟ.ท.กับกลุ่ม ซี.พี. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธาน

“การลงนามเลื่อนเร็วขึ้นจาก 25 ต.ค. ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.เคยแสดงความประสงค์จะลงนาม 23 ต.ค. วันปิยมหาราช แต่นายกรัฐมนตรีติดภารกิจที่ญี่ปุ่น”

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผยว่า ได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจใหม่ (SPV) เพื่อเซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการ ชื่อ “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd พร้อมเตรียมเงิน 4,500 ล้านบาท วางหลักประกันสัญญาให้ร.ฟ.ท. ตามสัดส่วนการร่วมทุน ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 70% บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 15% และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 5%

“หลังเซ็นสัญญา ต้องออกแบบทำการเจาะสำรวจพื้นที่คาดว่าใช้เวลา 6 เดือน วางแผนรื้อย้ายสาธารณูปโภค เร่งเคลียร์พื้นที่เพื่อให้โครงการสร้างเสร็จ 5 ปี รวมถึงยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์จากบีโอไอ ทำแผนเงินกู้เพื่อลงทุนโครงการให้เสร็จใน 270 วัน เป็นต้น”

เคาะฤกษ์ดี 13.45 น.

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ เปิดเผยว่า วันที่ 24 ต.ค.นี้ เวลา 13.45 น. ร.ฟ.ท.จะเซ็นสัญญาร่วมทุนกับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่กลุ่ม ซี.พี.จัดตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่ จากนั้น 13.50 น. จะลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการระหว่างอีอีซี-ร.ฟ.ท. และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด

สิ่งแรกที่ต้องทำหลังเซ็นสัญญา คือ ออกแบบก่อสร้างของโครงการ ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ต้องส่งผู้รับเหมาก่อสร้างมาหารือกับ ร.ฟ.ท.ในฐานะเจ้าของโครงการ เพื่อร่างแบบก่อสร้างและทำแผนส่งมอบพื้นที่ร่วมกัน ที่มีข้อยุติร่วมกัน ต้องร่างแบบให้เสร็จใน 3 เดือน

ส่วนการรถไฟฯคาดว่า พ.ย.-ธ..ค.นี้จะเข้าพื้นที่สำรวจการเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน และสำรวจผู้บุกรุกกว่า 500 ราย เคลียร์สัญญาเช่าต่าง ๆ รวมถึงแผนรื้อย้ายสาธารณูปโภคร่วมกับ 8 หน่วยงาน เพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เสร็จใน 2 ปี ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เปิดบริการปี 2566-2567 และใน 4 ปี ช่วงพญาไท-ดอนเมือง เพื่อเปิดบริการปี 2567-2568 ตามที่แนบท้ายไว้ในสัญญา โดยมั่นใจว่าจะทำได้ตามแผน ส่วนการออกหนังสือเริ่มงาน(NTP)ให้เวลา 2 ปี หากเอกชนเห็นว่ามีพื้นที่มากพอและพร้อมก็ออกได้ เช่น ช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ เป็นโครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิม 28 กม. แต่ต้องจ่ายค่าใช้สิทธิเดินรถ 10,671 ล้านบาทก่อนช่วงนี้จะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมให้รองรับรถไฟความเร็วสูงได้

“ระหว่างนี้คณะกรรมการคัดเลือกต้องตรวจสอบและทบทวนเอกสารสัญญาและเอกสารแนบท้ายอีกครั้ง จากนั้นตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการ และคณะกรรมการตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 มีการแจ้งคณะกรรมการคัดเลือกในที่ประชุมถึงการตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดแล้ว”

สำหรับนิติบุคคลเฉพาะกิจใหม่ที่กลุ่ม ซี.พี.จัดตั้งขึ้นเพื่อเซ็นสัญญา ตามทีโออาร์ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ในวันเซ็นสัญญาร่วมลงทุน และก่อนเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อลงนามสัญญาแล้ว นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการส่งมอบพื้นที่ จะเร่งรัดดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ ยืนยันว่าใช้หลักธรรมาภิบาลในการดำเนินการ และนำสัญญาและเอกสารแนบท้ายมาเผยแพร่กับสื่อมวลชน เพื่อช่วยกันดูว่ามีสิ่งใดที่ยังไม่ทำตามสัญญา เพราะคลาดเคลื่อนในหลายเรื่อง เช่น การปรับร่างสัญญาหลัก หรือใส่เงื่อนไขเอื้อเอกชน ซึ่งไม่มีการทำแบบนั้นเลย ทุกอย่างยึดตามทีโออาร์

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… ฤกษ์ประวัติศาสตร์ ซี.พี.