ขึ้นค่าเเรงใหม่ 5-6 บาททั่วปท. โวยพรรคการเมืองช่วงหาเสียงฟุ้ง 425 บาท

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ที่มี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 แบ่งเป็น 10 ระดับ จำนวน 5 และ 6 บาท โดยมีจังหวัดชลบุรี และภูเก็ต ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด คือ 336 บาท/วัน ส่วนระยองปรับขึ้น 335 บาท ขณะที่กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ปรับขึ้นเป็น 331 บาท และฉะเชิงเทราปรับขึ้นเป็น 330 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 321.09 บาท และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 6 บาท ใน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี, ภูเก็ต, ปราจีนบุรี, กทม., นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนที่เหลืออีก 68 จังหวัด ปรับขึ้น 5 บาท ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย แบ่งเป็น 10 ระดับ สูงสุดอยู่ที่ 336 บาท ได้แก่ ชลบุรี และภูเก็ต ต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส

สุทธิ สุโกศล

“ขณะที่อัตราค่าจ้างกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลอยู่ที่ 331 บาท ส่วนที่เหลือจะลดหลั่นกันไปตามลำดับ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

ขณะที่แหล่งข่าวในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำเปิดเผยว่า ตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ลูกจ้างน่าจะพอใจ และนายจ้างคงจะเห็นด้วย ทั้งนั้น เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งการคำนวณตัวเลขการปรับขึ้นครั้งนี้ถือว่าไม่ได้มีความแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ อาจมีบางจังหวัดที่ขอปรับขึ้นสูงกว่าอัตราดังกล่าว และบางจังหวัดขอให้มีปรับขึ้นน้อยกว่า หรือไม่ปรับขึ้นเลย ทำให้ภาพรวมของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในครั้งนี้ อยู่ที่ 1.6% หรืออยู่ที่ 321.09 บาท

ผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ จะทำให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศไทยในช่วงต้นปี 2563 และจะทำให้แรงงานที่มีค่าจ้างน้อยกว่าถูกปรับเพิ่มให้สูงขึ้น ขณะที่แรงงานที่มีอัตราค่าจ้างสูงจะได้รับอานิสงส์ในการปรับขึ้นค่าจ้าง จนทำให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายอีกด้วย

“ทั้งนี้ อาจมีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งต่อไปกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแล และควบคุมราคาสินค้า ส่วนการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าครองชีพ ทั้งชิม ช้อป ใช้ และบัตรสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป ส่วนผู้ประกอบการอาจมีการปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือดอกเบี้ยถูก เพื่อดูแลนายจ้างขนาดกลาง ขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

นางสาวธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 5-6 บาทครั้งนี้ ถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้าง

“อยากทวงถามภาครัฐบาลว่า วันนี้นโยบายที่ได้หาเสียงไว้เมื่อก่อนการเลือกตั้งที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท ตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไร การคิดตัวเลขค่าจ้างอัตราดังกล่าวมาจากฐานอะไร และมีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด จึงขอให้รัฐบาลออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว และอยากให้ทำตามสิ่งที่ได้หาเสียงไว้กับผู้ใช้แรงงานโดยเร็วที่สุด”

คลิกอ่าน >>> เคาะแล้ว! ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ ปรับขึ้น 5-6 บาท สูงสุด 336 บาท/วัน