ตื่นขาย ‘กองทุนตราสารหนี้’ จี้แบงก์ชาติเพิ่มดีกรีรับมือ

ตลาดกองทุนตราสารหนี้ป่วน นักลงทุนตื่นเทขายถือเงินสด “บลจ.ทหารไทย” ต้องปิด 4 กองทุน เซ่นไวรัส ชี้เหตุส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารต่างประเทศ จับตา บลจ.วรรณจ่อปิดกอง “ONE-HYPER” ลุ้น 1 เม.ย.นี้ “แบงก์ชาติ-ก.ล.ต.”แจงปัญหาสภาพคล่องการเงินโลกลามเข้าระบบการเงินไทย วงการจี้แบงก์ชาติเพิ่มดีกรีอุ้มกองทุนตราสารทั้งระบบ หวั่นมาตรการเสริมสภาพคล่อง 1 ล้านล้านบาท “เอาไม่อยู่” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่ส่งผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง เกิดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้  จากภาวะตื่นตระหนกขาดความเชื่อมั่นทำให้มีนักลงทุนแห่ขายหน่วยลงทุนก่อนกำหนดมากผิดปกติ ทำให้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563  ปลัดกระทรวงการคลัง  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องออกมาแถลงข่าวด่วนสร้างความเชื่อมั่น

โดย ธปท.ประกาศจัดกลไกพิเศษเพิ่มสภาพคล่องให้กับ “กองทุนรวม” ผ่านธนาคารพาณิชย์ มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยธนาคารสามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund : MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) รวมถึงการตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องสำหรับการระดมทุนหุ้นกู้ของภาคเอกชนอีก 1 แสนล้านบาท

เอาไม่อยู่-TMBAM ปิด 4 กอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย (TMBAM Eastspring) ประกาศปิดกองทุนตราสารหนี้ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ และต่อมาวันที่ 27 มี.ค. บริษัทประกาศปิดกองทุนตราสารหนี้เพิ่มอีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าจะมีอีกหลายกองทุนปิดตามมาอีก

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย จำกัด  เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้ที่ผันผวน ส่งผลให้นักลงทุนเกิดตื่นตระหนกเทขายหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ออกมา (Panic Sell) โดยแรงเทขายอย่างรุนแรงจากผู้ถือหน่วยลงทุนทั้ง 4 กองทุนเพื่อถือเงินสด และด้วยสภาพตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถนำเงินลงทุนใหม่ที่ได้รับไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในโครงการได้

บลจ.เดียวเทขายแสนล้าน

ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพในการซื้อขายตราสารหนี้ในพอร์ตลงทุน และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน บลจ.ทหารไทยจึงตัดสินใจเลิกกองทุนตราสารหนี้ทั้ง 4 กองทุน โดย 2 กองทุนแรกที่ประกาศเลิกโครงการ ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ ซึ่งทั้งสองกองลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศไม่เกิน 79% โดยตั้งแต่วันที่ 16-25 มี.ค.มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 49% และ 75% ตามลำดับ โดยมูลค่ากองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน ลดลงจาก 80,442.73 ล้านบาท มาอยู่ที่ 25,191.18 ล้านบาท และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ ลดลงจาก 70,690.27 ล้านบาท มาอยู่ที่ 38,234.35 ล้านบาท

ขณะที่ 2 กองทุนถัดมา ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส ที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 40% และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล ที่ลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 79% พบว่าในช่วงเวลาเดียวกันมีการขายโดยรวมสูงถึง 67% และ 66% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิตามลำดับ โดยกองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส มูลค่าสินทรัพย์รวมลดลงจาก 99,780.58 ล้านบาท เหลือ 75,270.32 ล้านบาท สำหรับกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล มูลค่าสินทรัพย์จาก 14,277.5 ล้านบาท ลดลงเหลือ 10,332.19 ล้านบาท

“การที่เราประกาศยุติการซื้อขายและปิดกองทุนรวม เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนได้ค่อย ๆ ขายทรัพย์สินเหล่านั้นออกมาเพื่อให้ได้ประโยชน์กับผู้ถือหน่วย แทนที่จะต้องไปเร่งขายเร็ว ๆ ตามการแพนิก ซึ่งเชื่อว่าการตัดสินใจนี้จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแก่ผู้ถือหน่วย และ 5 วันทำการนับจากวันที่เลิกกองทุน ผู้จัดการกองทุนจะขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในราคาที่เหมาะสมออกไป และในอีก 5 วันทำการถัดมาก็จะนำเงินส่วนที่ได้มาชำระคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุน” นายสมจินต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณียังไม่มีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเหมาะสมที่สามารถขายออกได้ บริษัทจะขยายเวลาชำระราคาให้ยาวขึ้นประมาณ 90 วัน เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนสามารถดูแลและตัดสินใจขายสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และหากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาเพิ่ม บลจ.ทหารไทยจะหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต.ต่อไป

ยันกองที่เหลือเข้าเกณฑ์ ธปท.

นายสมจินต์กล่าวว่า เนื่องจากกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.ทหารไทยที่ประกาศปิดไป 4 กองทุน มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง จึงไม่เข้าข่ายมาตรการดูแลสภาพคล่องกองทุนรวมตราสารหนี้ของ ธปท. อย่างไรก็ตามกองทุนตราสารหนี้ที่เหลือทั้งหมดของบริษัทเข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือสภาพคล่องจาก ธปท.

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กองทุนตราสารหนี้ที่เหลือในอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดเข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือจาก ธปท. รวมถึงสถานการณ์กองทุนตราสารหนี้กองอื่น ๆ ในช่วงหลังจากที่ ธปท.ประกาศมาตรการดูแลสภาพคล่อง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างมาก ทั้งในแง่ของมูลค่าและปริมาณการไถ่ถอนที่ลดลง

จ่อปิด “ONE-HYPER”

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ ได้ส่งหนังสือแจ้งลูกค้าและผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากสถานการณ์การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้ผู้ลงทุนลดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น “กองทุนวรรณ ไฮเปอร์ไฟแนนเชียล อินสตรูเมนท์ ฟันด์” (ONE-HYPER) ซึ่งพบว่ามีผู้ลงทุนส่งคำสั่งขายและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้ามามากกว่า 2 ใน 3 ด้วยเหตุดังกล่าวบริษัทจึงแจ้งลูกค้าว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณา “ยกเลิก” กองทุนดังกล่าว เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุนและการบริหารจัดการลงทุน โดยบริษัทจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับรายละเอียดเพิ่มเติมหากมีการเลิกกองทุน ในวันที่ 1 เม.ย. 2563

นอกจากนี้ บลจ.วรรณระบุว่า ขอให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเชื่อมั่นว่า กองทุนรวมตราสารหนี้อื่น ๆ ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.วรรณ แม้อยู่ในภาวะตลาดเงินที่มีความผันผวน  เนื่องจากเป็นการคัดเลือกลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพ ประกอบกับราคาสินทรัพย์ดังกล่าวคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายเสริมสภาพคล่องของ ธปท. ซึ่งทำให้สามารถชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้ลงทุนได้

แจงปมสภาพคล่องโลก

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.ทหารไทยที่ปิดไปนั้นส่วนใหญ่เน้นลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก ผ่านสินทรัพย์ประเภทเงินฝากและหุ้นกู้เกินกว่า 50% ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินโลกขาดสภาพคล่องและลามสู่ตลาดการเงินไทย ทำให้กองทุนรวมตราสารหนี้เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี หากดูภาพรวมกองทุนรวมตราสารหนี้ไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 64 กอง ส่วนใหญ่เน้นลงทุนสินทรัพย์ประเภทเงินฝากและหุ้นกู้ Investment Grade ระดับ A ขึ้นไปในประเทศเป็นหลัก

ด้าน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เนื่องจาก TMBAM Eastspring ไม่ได้เป็น บลจ.ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารทหารไทย แม้ตอนนี้จะยังใช้ชื่อนี้อยู่ เนื่องจากเดือน ก.ย.ปี 2561 ทางธนาคารทหารไทยได้ขายหุ้น 65% ให้กับ Eastspring  และในอนาคตทาง Eastspring จะเข้ามาถือหุ้นทั้งหมด 100% จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่โครงสร้างตราสารต่าง ๆ ที่ถือจะเน้นลงทุนตราสารต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งหุ้นกู้ต่างประเทศและเงินฝากต่างประเทศ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นปัญหาจากสภาพคล่องระบบการเงินโลกที่ลามเข้ามาในระบบการเงินไทย ในสภาวะตลาดไม่ปกติ ก็จะทำให้กองทุนขาดสภาพคล่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นกองที่มีคุณภาพดี ถ้าถือยาวต่อไปครบกำหนดก็จะได้เงินกลับคืนมา”

ดร.วิรไทกล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหน่วยลงทุนคือจะยังไม่ได้เงินคืน เพราะกองทุนมีการหยุดห้ามซื้อขายชั่วคราว โดยช่วงสั้น ๆ ทางธนาคารทหารไทยจะเข้ามาช่วย อาจจะมีโครงการที่จะปล่อยกู้ให้สำหรับคนที่ต้องการสภาพคล่อง โดยเอาหน่วยลงทุนไปค้ำ ซึ่งจะให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.5% ต่อปี ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ภายนอก ที่ทำให้ตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศมีสภาพคล่องเบาบาง และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลงไปต่อเนื่อง

จี้แบงก์ชาติยกระดับอุ้มทั้งตลาด

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญตลาดเงินตลาดทุนกล่าวว่า สถานการณ์ที่ บลจ.ทหารไทยต้องปิดกองทุนตราสารหนี้ไปถึง 4 กองนั้น หากภาครัฐไม่มีมาตรการเพิ่มเติมที่ครอบคลุมมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นกองทุนอื่น ๆ ปิดตามมา โดยเฉพาะกองทุนของ บลจ.ขนาดเล็กและไม่มีธนาคารเป็นบริษัทแม่ช่วยแบ็กอัพ เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น กลัวผลกระทบจากโควิด-19 จะกระทบบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ได้ จึงเกิดการตื่นตระหนกเทขายหน่วยลงทุนเพื่อถือเงินสด

“จังหวะนี้ ธปท.ในฐานะผู้กำกับ ต้องแสดงความเป็นพระเอก ประกาศรับซื้อหน่วยลงทุนทั้งหมดที่มีการเทขายออกมา ตั้งวงเงินไปเลย 2 ล้านล้านบาท แล้วถือไว้เลย 3 เดือน ซึ่งในการรับซื้อจะต้องเพิ่มประเภทสินทรัพย์ให้ครอบคลุมทุกระดับเครดิต รวมถึงที่เครดิตไม่ค่อยดีด้วย คือต้องให้มาตรการครอบคลุมทั้งตลาด เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเอาไม่อยู่”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ธปท.อาจจะต้องแต่งตั้งแบงก์รัฐบางแห่งให้เข้าไปรับซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily FI) แล้วนำหน่วยลงทุนมาวางหลักประกันขอสภาพคล่องจาก ธปท.อีกทอดหนึ่ง ตามกลไกพิเศษที่ ธปท.วางไว้ก่อนหน้านี้

“ช่วงก่อนหน้านี้ กองทุนที่มีปัญหา เกิดจากนักลงทุนส่วนหนึ่งที่ซื้อหน่วยลงทุนไว้วางมาร์จิ้นหุ้น  พอหุ้นตก มีการเรียกหลักประกันเพิ่ม ก็จำเป็นต้องขายหน่วยลงทุนเพื่อให้ได้เงินกลับมา แต่เมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเทขายมาก ๆ บลจ.ก็ไม่มีเงินไปคืน เพราะอาจจะขายสินทรัพย์ในกองไม่ออก หรือขายแล้วขาดทุน จึงไม่อยากขาดทุน ก็เลยปิดกอง คือตอนนี้คนหนีตายกัน ถ้ารัฐไม่ทำอะไรเพิ่ม ก็คงมีปิดกองเพิ่มอีก”

เชื่อมั่น 1 ล้านล้านเอาอยู่

ด้านแหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าวว่า มาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาช่วยเหลือใส่สภาพคล่องเข้าไปในระบบผ่านธนาคาร เข้าไปซื้อหน่วยลงทุน และเข้ามาทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น  Repo) กับทางแบงก์ชาติ ซึ่งมีเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือว่ามีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ที่ติดขัดเพราะหลายแบงก์ใหญ่ระบบหลังบ้านยังไม่สมบูรณ์ที่จะเดินสัญญาต่อท่อตรงนี้ได้ ซึ่งคงใช้เวลาไม่กี่วัน เพราะแบงก์ใหญ่บางแห่งเริ่มซื้อกองทุนทำธุรกรรมกับแบงก์ชาติได้แล้ว และช่วงนี้ work from home เป็นการติดขัดทางเทคนิค ทำให้เม็ดเงินที่แบงก์ชาติอัดเข้าไปในระบบอาจติดขัดแต่จะคลี่คลายภายในเวลาอันรวดเร็ว และที่กังวลว่าจะลุกลามไปยัง บลจ.ย่อย ๆ คาดว่าทั้งระบบยังช่วยกันได้อยู่

ทั้งนี้ ตามเกณฑ์การช่วยเหลือ ต้องเป็นสินทรัพย์คุณภาพดีเกิน 70% หรือเป็นหุ้นกู้ที่มีคุณภาพดี ทุก บลจ.จะสามารถเอากองทุนไปขายให้กับทุกแบงก์ได้ และแบงก์สามารถเอาหน่วยลงทุนไปทำ repo ได้ ซึ่งเป็นการออกแบบให้แบงก์มีแรงจูงใจที่จะเข้าไปทำ เพราะแบงก์ชาติชาร์จดอกเบี้ย 0.25% เท่านั้น คือถ้าแบงก์ทำก็ได้กำไร

“SCBAM” ยันไม่กระทบ

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่มีการปิดกองทุนรวมตราสารหนี้  ในส่วนของ บลจ.ไทยพาณิชย์ไม่ได้รับผลกระทบ โดยพบว่ายอดไถ่ถอนต่อวันยังอยู่ในระดับปกติ ประมาณ 100 ล้านบาท จากมูลค่าสินทรัพย์กองทุนตราสารหนี้ของบริษัททั้งหมด 300,000 ล้านบาท เนื่องจากในส่วนของ SCBAM มีการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่น้อย

“ในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรมก่อนจะมีมาตรการช่วยเหลือจาก ธปท. ก็เห็นสัญญาณการเทขายจากนักลงทุน แต่หลังจากที่มีมาตรการออกมา ก็ต้องบอกว่า นักลงทุนมีความเข้าใจมากขึ้นและชะลอการขายกองทุน”