แอร์ไลน์เปิดศึกแย่งนักบิน ใช้เงินล่อล้วงคอการบินไทย

นักบินขาด แอร์ไลน์ระอุ เปิดศึกแย่งตัวกัปตัน-นักบินผู้ช่วย ล่าสุด ทุกสายการบินแห่ประกาศเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ทยอยรับมอบเครื่องบินฝูงบินใหม่เข้าประจำการเพียบ หลัง ICAO ปลดธงแดง เผยทีเด็ดจูงใจเสนอรายได้แสนงาม พร้อมรถยนต์ประจำตำแหน่ง คอนโดฯ สวัสดิการค่าเทอมบุตร จับตา แอร์โฮสเตส วิศวกร ช่างเทคนิค เป็นคิวต่อไป

หลังจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศปลดธงแดงประเทศไทย จากประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินในไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลาย ๆ สายการบินเตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่ เพื่อนำไปเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เที่ยวบินทำให้มีความต้องการนักบินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แข่งแย่งตัวแก้นักบินขาด

แหล่งข่าวระดับสูงจากสายการบินรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดเส้นทางบินใหม่ และการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรด้านการบินมากขึ้น เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส วิศวกร และช่างเทคนิค ซึ่งขณะนี้เริ่มมีภาพของการแย่งตัวนักบินกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะสายการบินที่ต้องใช้เครื่องบินแบบ แอร์บัส เอ 330 สำหรับทำการบินระยะกลาง ปัจจุบันมีเพียง 3 สายการบินที่มีเครื่องบินแบบนี้ในฝูงบิน คือ การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และไทยไลอ้อนแอร์ ที่กำลังจะรับเครื่องแบบนี้เพิ่มภายในสิ้นปีนี้ เพราะแต่ละสายการบินต่างต้องการนักบินที่สามารถใช้งานได้ทันที

ส่วนเครื่องบินอีก 2 แบบที่ใช้กันมากในไทย ทั้งโบอิ้ง 737-800, โบอิ้ง 737-900 สายการบินที่ใช้ เช่น นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ และนิวเจน แม้ปัจจุบันนักบินจะยังเพียงพอ แต่ต้องจับตาเพราะแต่ละสายการบินต่างมีแผนรับมอบเครื่องบินรุ่นนี้เพิ่ม ส่วนเครื่องบินแบบ แอร์บัส เอ 320 ซึ่งไทยแอร์เอเชียและไทยสมายล์ใช้ ยังไม่พบปัญหาขาดนักบิน

ด้านนายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า โดยภาพรวมตอนนี้สายการบินต่าง ๆ มีการดึงตัวนักบินกันบ้าง ที่ผ่านมาไทยไลอ้อนแอร์ได้นักบินจากการบินไทย ที่เคยบินแอร์บัส เอ 330 มาอบรมเพิ่ม เพื่อเปลี่ยนมาบินเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 และโบอิ้ง 737-900 ให้ อย่างไรก็ตาม ไทยไลอ้อนแอร์มีแผนสร้างบุคลากรนักบิน ด้วยการเปิดรับสมัครนักเรียนการบิน (Student Pilot) รุ่นแรก ซึ่งปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา และในไตรมาส 4

ก็เตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่ แอร์บัส เอ 330-300 ขนาด 392 ที่นั่ง 3 ลำ และปี 2561 เดิมมีแผนรับมอบ โบอิ้ง 737 MAX 5 ลำ แต่พอ ICAO ปลดธงแดงก็อาจรับเพิ่มเป็น 10 ลำ เพื่อนำไปทำการบินสู่ประเทศจีน

นายเจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนิวเจน กล่าวว่า นิวเจนมีนักบินเพียงพอสำหรับฝูงบิน โบอิ้ง 737-800 จำนวน 12 ลำ ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีแผนจะรับมอบเครื่องบิน โบอิ้ง 737-800 เพิ่มอีกปีละ 4 ลำ เพื่อนำมาเปิดเส้นทางบินใหม่ จึงมีแผนจะตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบิน เพื่อรองรับความต้องการใช้งานในระยะยาว

ฟากนายโชคชัย ปัญญายงค์ ประธานกรรมการ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด กล่าวว่า จากนี้ไปนกสกู๊ตมีแผนจะทยอยรับมอบเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 777-200 อีก 2-3 ลำ และมีแผนจะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในหลาย ๆ เส้นทาง รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังซีอาน ประเทศจีน โตเกียว (นาริตะ) และโซล (อินชอน)

งัดรายได้-สวัสดิการสูงจูงใจ

นาวาอากาศโท ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (บีเอซี) โรงเรียนฝึกการบิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปลดธงแดงของ ICAO จะทำให้มีการดึงตัวนักบินมากขึ้น คาดว่าน่าจะเห็นภาพการดึงตัวนักบินที่ชัดเจนในอีก 6-12 เดือนนับจากนี้ เพราะแต่ละสายการบินต่างเตรียมแผนขยายฝูงบินรอรับไว้แล้ว

จากการสำรวจข้อมูลของผู้สำเร็จการศึกษาจากบีเอซีพบว่า รายได้นักบินในไทย โคไพลอต จบใหม่ อยู่ที่ 1-1.5 แสนบาท/เดือน, ซีเนียร์โคไพลอต 2-2.5 แสนบาท/เดือน และกัปตัน 2.5-3.5 แสนบาท/เดือน ส่วนรายได้ของนักบิน สายการบินในตะวันออกกลาง ระดับซีเนียร์โคไพลอต 3 แสนบาท/เดือน, กัปตัน 5 แสนบาท/เดือนเครื่องบิน 1 ลำ มีความต้องการใช้นักบิน 15 คน เมื่อสายการบินมีนักบินไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ก็ต้องดึงตัวจากคู่แข่ง โดยมีเรื่องของค่าตอบแทนรายได้ที่สูงขึ้น รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ จูงใจ เช่น รถยนต์ รวมทั้งการเสนอให้นักบินผู้ช่วยอาวุโส (ซีเนียร์โคไพลอต) มารับการฝึกอบรมเพิ่ม 1-2 เดือน ที่สายการบินตน เพื่อก้าวขึ้นเป็นกัปตัน เป็นต้น

“ก่อนที่ไทยจะถูกปักธงแดง มีนักบินจากการบินไทยลาออกไปสมัครสายการบินในมิดเดิลอีสต์ ประมาณ 100 คน แต่พอถูกปักธงแดงการดึงตัวนักบินก็ชะลอลงและล่าสุดหลังจาก ICAO ปลดธงแดงออก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สายการบินจากตะวันออกกลางจะเข้ามาดึงตัวไปอีก ด้วยข้อเสนอจูงใจ ทั้งรายได้ รถประจำตำแหน่ง คอนโดมิเนียม รวมถึงสวัสดิการ เช่น ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติของบุตร เป็นต้น” นาวาอากาศโทปิยะกล่าว

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวถึงโอกาสการพัฒนาสายการบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า

เรื่องศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) สำคัญมากในเรื่องการบิน จังหวะเวลานี้เป็นโอกาสสูงสุดของบริษัทการบินไทย ขณะนี้ฐานะการเงินเริ่มดีขึ้น ทุกค่ายกำลังต้องการเข้ามา

สร้าง hub อยู่ตรงนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี 32 ล้านคน ต้องใช้โอกาสนี้ทำให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องภาพลักษณ์ ยุทธวิธี เป็นโอกาสมหาศาล