CPF ขึ้นท็อป 3 ผู้ผลิตหมูในจีน ฝ่าวิกฤตโรคอหิวาต์จ่อนิวไฮ

พลิกวิกฤตโรค ASF ระบาดหมูขาดแคลนราคาพุ่ง “ซีพีเอฟ” งัดกลยุทธ์ขยายฐานธุรกิจโตก้าวกระโดด ขึ้นแท่นท็อป 3 ผู้ผลิตหมูยักษ์ใหญ่ครบวงจรในจีน ชิงส่วนแบ่งตลาด 500 ล้านตัว/ปี ต่อจิ๊กซอว์หลังคว้าดีล Hylife ปักธงตลาดแคนาดา-สหรัฐเมื่อปีก่อน คาดดันกำไรปี 63 นิวไฮทะลุ 2 หมื่นล้านบาท ดีต่อเนื่องถึงปี 64

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่บริษัทย่อยของ CPF ได้เข้าซื้อหุ้นใน 43 บริษัทซึ่งประกอบธุรกิจสุกรในประเทศจีนจาก Chia Tai Animal Husbandry Investment (Beijing) Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPG) จะส่งผลด้านบวกทำให้ CPF สามารถต่อขยายธุรกิจสุกรได้ครบวงจร จากเดิมที่ทาง CPF ทำเฉพาะโรงงานอาหารสัตว์ ทั้งนี้ หลังดีลนี้สำเร็จ ภาพรวมฐานการผลิตหมูของ CPF จะขยับขึ้นติดอันดับท็อป 3 ในจีน มีปริมาณการผลิต 17-18 ล้านตัว รองจากเบอร์ 1 ซึ่งเป็นผู้ผลิตจีนที่ผลิตได้ 20 ล้านตัว รองรับความต้องการบริโภคหมูในตลาดจีนได้มากขึ้น

โยกพอร์ตจาก CPG สู่ CPF

“เรามองเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการบริโภคหมูอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 50% ของโลกที่บริโภคอยู่ 1,000 ล้านตัวต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการบริโภคในประเทศจีนประมาณ 500 ล้านตัวต่อปี เทียบกับไทยที่บริโภคเพียงแค่ 20 ล้านตัวต่อปีเท่านั้น”

ก่อนเข้าซื้อหุ้นใน 43 บริษัทดังกล่าว ผู้ถือหุ้นรายย่อยและผู้ถือหุ้นสถาบันของ CPF ร่วมโหวตให้ลงทุนรายการนี้ด้วยคะแนนเห็นชอบ 90% เพื่อขยายธุรกิจไปที่จีน จากเดิมที่ CPF จะทำเฉพาะฟีดมิล แต่หลังซื้อหุ้นในบริษัทย่อยของ CPG จะทำให้มีธุรกิจหมูในมือครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

ต้องยอมรับว่าฐานการผลิตในจีนขยายเพิ่มเร็วกว่าในประเทศไทยมาก เพราะไทยต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเลี้ยงหมูได้ถึง 5 ล้านตัว จีนทำทีหลัง แต่สามารถพัฒนาไปได้ถึง 4 ล้านตัว และจะเพิ่มเป็น 7 ล้านตัวในปีหน้า โดยมีการลงทุนโรงเรือนที่ดิน ระบบ อินฟราสตรักเจอร์ไว้หมดแล้ว

ฐานผลิตสุกรจีนเท่าเวียดนาม

ผลจากดีลนี้จะทำให้ปี 2564 ฐานการผลิตสุกรของ CPF ปรับเปลี่ยนไป โดยในจีนเตรียมขยายการผลิตเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีการเลี้ยงหมู 4 ล้านตัว ขยายเพิ่มเป็น 7 ล้านตัว อาจถือได้ว่าจีนกลายฐานผลิตอันดับ 1 เทียบเท่ากับในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิต 6 ล้านตัว และอยู่ระหว่างเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านตัวในปีหน้าเช่นกัน ขณะที่ฐานการเลี้ยงหมูในไทยยังคงเลี้ยงที่ 5 ล้านตัว

“ปัจจัยสำคัญเกิดจากการแพร่ระบาดของโรค ASF (African Swine Fever) ทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยลดลง เกิดการขาดแคลนหมูในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในเวียดนามและจีนการเลี้ยงของรายย่อยลดลงมาก ทำให้ระดับราคาหมูสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างผิดปกติ ทั้งยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู เนื่องจากยังไม่มีวัคซีน จึงต้องบริหารจัดการฟาร์มอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานชีวภาพ คงต้องใช้เวลากว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ หากจัดการไม่ดีอาจเกิดโรคได้ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้เลี้ยงขนาดใหญ่ที่มีระบบเลี้ยงครบวงจร (integrate) และได้มาตรฐาน”

อู้ฟู่กำไรพิเศษ 2.4 พันล้าน

นายประสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ CPF ช่วงไตรมาส 4 ยังมีโอกาสจะมีกำไรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากผลการซื้อขายหุ้นของบริษัทในจีน ซึ่งได้แจ้งกำไรพิเศษต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2,400 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับการมีกำไรเฉลี่ยต่อไตรมาสที่เคยทำได้ 4,000-5,000 ล้านบาท ถือว่ามีฐานมาครึ่งทางแล้ว ไม่รวมกับกำไรจากยอดขายที่จะเกิดขึ้นของไตรมาส 4 ที่จะมีเข้ามาเพิ่มอีก

“ปีนี้ถือเป็นปีที่ดี เพราะกำไรสะสม 3 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 19,614 ล้านบาท มากกว่ากำไรทั้งปีของปี 2563 ที่ 18,000 ล้านบาท และเมื่อไล่ย้อนหลังไปยังไม่เคยมีกำไรสูงขนาดนี้ หากรวมกับกำไรไตรมาส 4 และผลกำไรพิเศษ คาดว่าทั้งปี 2563 จะกำไรสูงกว่า 2 หมื่นล้าน ส่วนปีหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายมีกำไรที่ดีต่อเนื่อง จากการขยายธุรกิจและการเพิ่มปริมาณการผลิตในหลายประเทศ”

9 เดือนแรกปีนี้ยอดโตแซงปี’62

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา บจ.Chia Tai Investment Co.,Ltd. หรือ CTI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บจ.C.P. Pokphand Co.,Ltd. หรือ CPP บริษัทย่อยของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ได้เข้าซื้อหุ้นใน 43 บริษัทซึ่งประกอบธุรกิจสุกรในประเทศจีนจาก Chia Tai Animal Husbandry Investment (Beijing) Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CPG วงเงินรวม 4,109 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 131,287 ล้านบาท

จากก่อนหน้านี้เดือน เม.ย. 2562 ได้เข้าซื้อกิจการ Hylife Investment ผู้ผลิตหมูครบวงจรที่แคนาดา วงเงิน 11,845 ล้านบาท เพื่อขยายฐานการผลิตสุกรแปรรูปครบวงจรเข้าตลาดแคนาดา สหรัฐ และญี่ปุ่น ส่งผลดีต่อรายได้ CPF ต่อเนื่อง

ผลประกอบการช่วงไตรมาส 3/2563 มีกำไร 7,475 ล้านบาท เติบโต 23% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้ 451,032 ล้านบาท กำไร 19,614 ล้านบาท เติบโตขึ้น 36% ซึ่งนอกจากปัจจัยบวกจากธุรกิจสุกรเป็นหลักแล้ว ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจสัตว์น้ำในประเทศไทยก็ดีขึ้น จากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ให้น้ำหนักกับการทำการตลาดภายในประเทศมากขึ้น


ขณะเดียวกันได้กำหนดแผน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 CPF มุ่งเป้าหมายผลักดันรายได้จากยอดขายให้เพิ่มขึ้นปีละ 8-10% จนถึงปี 2023 คาดว่าจะมีรายได้ 8 แสนล้านบาท