“อาคม“ มั่นใจวัคซีนปลุก ศก. ปักธง Q4 เปิดประเทศดัน GDP โต 4%

วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นทั้งความหวังในการควบคุมโรคและความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ขณะนี้เริ่มมีการนำร่องฉีดวัคซีนแล้ว โดยภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ ไปจนถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 นี้ 17 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ” ได้จัดสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ขึ้น เพื่อฉายภาพทิศทางและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “โรดแมปเศรษฐกิจ-ลงทุนประเทศไทย” ว่า ขณะนี้วัคซีนลอตแรกมาแล้ว และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ฉีดวัคซีนกันไปแล้ว การฉีดวัคซีนถือว่าจำเป็น เพราะจะสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการรักษาโรคที่ยังคงระบาดอยู่ เช่นเดียวกับในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องวัคซีนเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการพูดถึงกันมาตั้งแต่วิกฤตปี 2540 ว่าเศรษฐกิจไทยต้องมีภูมิคุ้มกัน

ตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยด้านต่าง ๆ ถือว่าดูดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในเดือน ก.พ. 2564 ตัวเลขเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 แต่พอไตรมาส 4 ก็เจอโควิดระลอกใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักไปชั่วขณะ แต่ผ่านไประยะหนึ่งเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้น แต่ล่าสุดก็มาเจอการระบาดที่ตลาดย่านบางแค กรุงเทพฯอีก แต่เชื่อมั่นบุคลากรทางการแพทย์ว่าสามารถดูแลควบคุมการแพร่ระบาดได้

ฟื้นเศรษฐกิจต้องพึ่งพารายได้จาก ตปท.

การที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่ได้ จะขึ้นกับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ต้องมีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามา โดยแม้ว่าจะเริ่มเห็นการส่งออกขยายตัวได้แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำ และที่ยังขาดไปก็คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดหวังว่าด้วยมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ และหากดูแลสถานการณ์โควิดได้ดี ก็เชื่อว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

“เมื่อเราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็มีคำถามว่า เมื่อไหร่เศรษฐกิจถึงจะฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลักเลย” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ยังต้องส่งเสริมคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศด้วย เพื่อไม่ให้สายการบินขาดทุน

ต้องฉีดวัคซีน 3 ตัว ฟื้นเศรษฐกิจไทย

นายอาคมกล่าวว่า การจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องฉีดวัคซีน 3 ตัว ได้แก่ 1.วัคซีนระดับมหภาค หรือระดับของประเทศ ที่ต้องดูแลให้เศรษฐกิจมีการเติบโต ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ต้องดูแลเงินเฟ้อไม่ให้ต่ำเกินไปจนทำให้ดอกเบี้ยติดลบ ขณะเดียวกันต้องดูแลทุนสำรองระหว่างประเทศให้มั่นคง รวมถึงฐานะการคลังของประเทศ และดูแลภาระหนี้ของประเทศ

อย่างไรก็ดี การกู้เงินเพื่อดูแลประเทศช่วงนี้อาจจะจำเป็น ซึ่งทุกประเทศก็กู้ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็มีการกู้วงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 60 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อกู้มาแล้ว จะต้องสร้างรายได้ ต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

2.วัคซีนระดับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกัน ภาคธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยง และภาคการเงินต้องเข้าไปช่วย ต้องไปด้วยกัน ขณะเดียวกันรัฐบาลจะเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการลงทุนมากขึ้น เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

“เราหวังว่าอีอีซีจะเป็นโครงการหนึ่งที่จะมากระตุ้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของเรา ที่จะมีทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S curve” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้กระแสดิจิทัลที่เข้ามา ภาคเอกชนคงต้องทำธุรกิจโดยใช้ดิจิทัลมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบการแข่งขันแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาในระดับรัฐบาลก็มีการนำดิจิทัลมาใช้เยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นในหลายโครงการ ตั้งแต่ชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เราชนะ ฯลฯ

นโยบายการคลังเน้น 3 ด้านหนุนธุรกิจ

ทั้งนี้ ในการสนับสนุนภาคธุรกิจนั้น นายอาคมกล่าวว่า นโยบายของกระทรวงการคลัง จากนี้ 1.จะเน้นส่งเสริม digital business โดยเฉพาะสตาร์ตอัพ ซึ่งจะพยายามปรับโครงสร้างภาษีให้เอื้อ พร้อมกับการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ นอกจากนี้ จะผลักดันให้เทคโนโลยี 5G สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลด้วย 2.การสนับสนุนพลังงานสะอาด เพื่อรับมือผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เป็นโจทย์ใหญ่ของโลก และ 3.การส่งเสริมด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อรับมือสังคมสูงอายุ

ส่วนวัคซีนตัวที่ 3 วัคซีนในระดับประชาชน โดยจะต้องสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชนฐานราก และช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ล่าสุดก็มีการปรับปรุงให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น

คลังตั้งเป้าท้าทายดันจีดีพีปีนี้โต 4%

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ได้ประชุมร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง IMF มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 2.6% ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 2.5-3.5% และกระทรวงการคลังประเมินโตที่ 2.8%

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังมีเป้าที่ท้าทายว่า จะพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ถึง 4% โดยจะต้องมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการลงทุน ขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซี มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะต้องเปิดประเทศให้เร็ว ซึ่งจะต้องพิจารณาประกอบกับเรื่องความปลอดภัยของโควิดด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ภูเก็ตก็อยากให้เปิดประเทศให้เร็ว แต่รัฐบาลก็จะต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากทางสาธารณสุขด้วย

“เป้าหมายเศรษฐกิจโต 4% นั้น ปัจจัยหลักมาจากเรื่องการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ส่วนนี้ด้วย รวมทั้งจะต้องมีการผลักดันเรื่องการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง” นายอาคมกล่าว

IMF แนะไทยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง 2 ปี

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ทาง IMF ได้เสนอแนะ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ไทยยังจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ประคองไปจนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 ปีจากนี้ และ 2.ให้นโยบายการเงินดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างเจาะจงมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือร่วมกัน โดยจะมีการดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าธุรกิจเอสเอ็มอีในเร็ว ๆ นี้ ผ่านการแก้ไขกฎหมายซอฟต์โลนและการทำโกดังพักหนี้

ขยายขอบเขตซอฟต์โลนช่วยรายใหญ่

“ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับ ธปท.เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ ด้วยการแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ซึ่งจะขยายไปถึงธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่า SMEs เช่น ภาคโรงแรม ที่จะเป็นการให้สินเชื่อใหม่ เชื่อมโยงไปกับโครงการโกดังเก็บหนี้ ซึ่งจะให้ธุรกิจที่เดินต่อไปไม่ได้ให้โอนธุรกิจไว้ที่โกดังก่อน และเมื่อมีความสามารถก็ให้กลับมาซื้อคืนในราคายุติธรรม” รมว.คลังกล่าว

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำโครงการ “เราผูกพัน” เพื่อเยียวยากลุ่มลูกจ้าง ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณ รูปแบบเงื่อนไขการเยียวยาและการใช้จ่าย เบื้องต้นจะมีข้าราชการชั้นผู้น้อยที่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือราว 1 ล้านคน