ปรับแพลตฟอร์มอีเวนต์สู้โควิด ครีเอตธุรกิจใหม่ลุย “เวอร์ชวล”

event-seminar

สตาร์ตอัพช่วยจัดอีเวนต์ปรับตัวสู้โควิด-19 ลากยาว “อีเว้นท์พาส” เปิด “เวอร์ชวลช็อป” ลุยอีคอมเมิร์ซ รุกบริการใหม่ยกงานขึ้นเวอร์ชวล “อีเว้นท์ ป็อป” จับมือ “โอมิเซะ” ช่วยแม่ค้าออนไลน์ครบวงจร “ตือ ออแกไนเซอร์” แนะรับนิวนอร์มอล

การแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า กระทบธุรกิจอีเวนต์โดยตรง และส่งผลกระทบไปยังธุรกิจเกี่ยวข้องอีกมากมาย รวมไปถึงธุรกิจสตาร์ตอัพที่พัฒนาแพลตฟอร์มช่วยการจัดงานอีเวนต์ทั้งหลายด้วย

นายเอกคณิต จันทร์สว่าง ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเว้นท์ไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดการอีเวนต์ครบวงจร “อีเว้นท์พาส” (Eventpass) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การจัดงานหายไปเกือบทั้งหมดส่งผลให้ออร์แกไนซอร์ขนาดเล็กและกลางหายไปกว่าครึ่ง ขณะที่รายใหญ่ต้องปรับตัวอย่างหนัก เพราะธุรกิจอีเวนต์เป็นธุรกิจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รองจากธุรกิจท่องเที่ยว

และคาดว่าภาพรวมในครึ่งปีแรกจะยังไม่ฟื้นกลับมา แต่ครึ่งปีหลังต้องประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหลัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรูปแบบการจัดงานจะเปลี่ยนไปเป็น “ไฮบริดอีเวนต์” มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน ส่วนการจัดงานออฟไลน์จะมีขนาดเล็กลง

“เป้าหมายของผู้จัดงานตอนนี้ คือ คนไทย ทำให้อีเวนต์ที่เจาะกลุ่มคนไทยกลับมาได้เร็ว โดยเฉพาะอีเวนต์ขายของ แต่ถ้าเป็นบีทูบีอย่างงานเทรดแฟร์ยังไม่กลับมา เพราะต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางมาได้ กลุ่มนี้ต้องจัดในลักษณะไฮบริด หรือเวอร์ชวลอีเวนต์ไปก่อน”

ที่ผ่านมาบริษัทปรับตัวต่อเนื่อง โดยพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ล่าสุดจัด Virtual Festival ในงาน “TRAMS Virtual Festival” ปลายเดือน มี.ค. เป็นงานโชว์เคสที่รวมโซลูชั่นต่าง ๆ ของบริษัทที่ลูกค้าสามารถนำไปประยุกต์กับการจัดอีเวนต์ได้

รวมถึงได้พัฒนา “Eventpass Shop” บนหน้าเว็บไซต์อีเว้นท์พาส เป็น “เวอร์ชวลช็อป” ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มาเปิดหน้าร้านขายของ โดยเฟสแรกไม่ได้เก็บค่าแรกเข้าหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ แบ่งเป็นหลายหมวดทั้งสินค้าแฟชั่น, เครื่องดื่ม, โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริม

ปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 170 ร้าน และเตรียมเพิ่มกลุ่มสินค้าท่องเที่ยว และอาหาร และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ด้วย

ด้านนายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด แพลตฟอร์มสำหรับจัดการอีเวนต์และกิจกรรม อีเว้นท์ป็อป (Eventpop) กล่าวกับ” ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนโควิดเคยบริหารจัดการอีเวนต์ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000-3,000 งาน แต่พอมีโควิดงาน และรายได้หายไป 70% ทำให้บริษัทต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยพัฒนาบริการใหม่ ทั้งจัดออนไลน์อีเวนต์, เวอร์ชวลอีเวนต์, เวอร์ชวลรัน (งานวิ่ง), อีคอมเมิร์ซ และการขายบัตรกำนัล (Voucher) เป็นต้น ทำให้สามารถประคองบริษัทผ่านวิกฤตมาได้

“สิ่งที่ยังทำอยู่คือการขายบัตรกำนัลต่าง ๆ และการจัดเวอร์ชวลอีเวนต์ รวมถึงเวอร์ชวลรัน (virtual run) ที่ให้นักวิ่งสามารถวิ่งในเวลาใดก็ได้ ในเส้นทางที่เป็นผู้กำหนดเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับแม้รายได้จากธุรกิจใหม่ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปได้ แต่ก็ทำให้รอดมาได้”

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ยังเป็นการเดินหน้าสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ ล่าสุดร่วมกับโอมิเซะ ผู้พัฒนาระบบรับชำระเงินออนไลน์ โดยเตรียมจะเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในกลางปีนี้ ในชื่อ www.esimo.co เป็นโซลูชั่นหลังบ้านที่ช่วยบริหารจัดการธุรกิจออนไลน์ครบวงจร ทั้งจัดการออร์เดอร์ บริหารร้านค้า คาดว่าจะทำให้ปีนี้ บริษัทขาดทุนน้อยลง

“ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ธุรกิจอีเวนต์เริ่มฟื้นกลับมา แต่ก็มาเจอโควิดระบาดรอบใหม่ทำให้ชะงักไปอีก ปีนี้คาดว่าธุรกิจอีเวนต์จะฟื้นกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนปีหน้าก็อาจพิจารณาอีกครั้งว่า สถานการณ์โควิดในไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นอย่างไร”

ขณะที่นายสมบัษร ถิระสาโรช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตือ จำกัด บริษัทออร์แกไนเซอร์ กล่าวว่า บริษัทออร์แกไนเซอร์ต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล และสมาร์ทโฟนกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตของผู้บริโภคยุคนี้ ขณะที่รูปแบบการจัดอีเวนต์เปลี่ยนไป

โดยสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการจัดอีเวนต์ออฟไลน์ ที่ต้องการดึงคนมาร่วมงานจำนวนมากจะไม่มีแล้ว โดยงานออฟไลน์จะจัดในลักษณะ “เอ็กซ์คลูซีฟอีเวนต์” เชิญคนไม่มาก หรือเฉพาะลูกค้าระดับท็อป ๆ เริ่มเห็นแบรนด์แฟชั่นใหญ่ ๆ ทำแล้ว ส่วนงานที่ต้องการคนจำนวนมากจะเป็น “เวอร์ชวลอีเวนต์”

“การทำแฟชั่นโชว์ให้คนจำนวนมากเห็นโดนยกขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ แต่การทำโชว์บนออนไลน์ก็ต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าได้ดูโชว์จริง ๆ ต่อหน้าด้วย ส่วนอีเวนต์ออฟไลน์จะเป็นลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ ไม่ได้เจาะกลุ่มแมส หรือเชิญคนจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา”