3 แบงก์เร่ง “ตั้งเอเย่นต์-ยุบสาขา” ลดต้นทุน

ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าลดสาขา ปูพรมแบงกิ้งเอเย่นต์ให้บริการลูกค้าแทน “แบงก์กรุงเทพ” จับมือ 3 กลุ่มพันธมิตร ชี้เทรนด์ธุรกรรมผ่านเอเย่นต์เพิ่มต่อเนื่อง “กสิกรไทย”ทะลุ 30 ล้านรายการ ไทยพาณิชย์แชมป์ปิดสาขา ธุรกรรมแตะ 6 ล้านรายการ จ่อจับมืออีก 4-5 ราย “ซีไอเอ็มบี ไทย” ผนึก “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ทำหน้าที่ KYC agent เปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์

BBL ลุยตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 นี้ ธนาคารจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดตั้งตัวแทนธนาคาร (banking agent) เพิ่มอีก 2-3 ราย หลังร่วมมือไปแล้ว 2 ราย ได้แก่ เทสโก้ โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่น และในเดือน พ.ค.นี้จะประกาศความร่วมมืออีก 1 ราย เป็นผู้ประกอบการกลุ่มโลจิสติกส์

“พันธมิตรที่จะร่วมมืออีก 2-3 ราย จะเจาะเซ็กเมนต์ลูกค้าแตกต่างกัน เพราะลูกค้าธนาคารมีความหลากหลาย ซึ่ง banking agent จะเป็นตัวที่มาช่วยให้บริการในจุดที่สาขาแบงก์เข้าไม่ถึง โดยแต่ละแบงกิ้งเอเย่นต์จะมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน บางแห่งเข้าถึงแหล่งชุมชน บางแห่งกระจายตัวระดับตำบล-อำเภอ เช่น 7-11 ที่มีจุดให้บริการกว่า 1.25 หมื่นแห่ง ส่วนเทสโก้ โลตัส ก็มีกว่า 2,100 แห่ง ทำให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายและสะดวก มองว่าเทรนด์การใช้แบงกิ้งเอเย่นต์จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ”

นางปรัศนีกล่าวอีกว่า หลังจากการเปิดบริการผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์พบว่า ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน โดยมากกว่า 50% ทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่สาขาธนาคารยังเปิดทำการอยู่ มีเพียงแค่ 20% เท่านั้นที่ทำธุรกรรมในช่วงสาขาปิดทำการ สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมผ่านตัวแทนธนาคาร และทำธุรกรรมตลอด 24 ชั่วโมง

ทำธุรกรรมผ่านสาขาลดลง

“ปัจจุบันแบงก์กรุงเทพมีธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์เฉลี่ย 1.2-1.5 หมื่นรายการต่อวัน และสัดส่วนกว่า 95% เป็นเงินฝาก ที่เหลือจะเป็นการถอนเงิน โดยปัจจุบันธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์อยู่ที่ประมาณ 5% ของธุรกรรมทั้งหมด โดยธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารสัดส่วน 44% และผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์กว่า 50% และคาดว่าภายในสิ้นปี สัดส่วนธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์จะเพิ่มจาก 5% เป็น 10% และธุรกรรมผ่านสาขาจะลดลงตามจำนวนสาขาที่ลดลงสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค”

SCB-KBANK ปูพรม 2 แสนจุด

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีพันธมิตรแบงกิ้งเอเย่นต์อยู่ 8 ราย จุดให้บริการทั้งสิ้นกว่า 2 แสนจุด โดยยอดธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ในช่วง ม.ค.-มี.ค. 2564 อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านรายการ มูลค่ารวม 27,000 ล้านบาท และภายในปีนี้ ธนาคารมีแผนจะเพิ่มพันธมิตรอีก 4-5 ราย

นางสาวศุภนีวรรณ จูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มปริมาณธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ของธนาคารเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 ที่เริ่มดำเนินการโดยในปี 2563 มีปริมาณธุรกรรมมากกว่า 33 ล้านธุรกรรม ส่วนใหญ่เป็นการฝากเงิน

“เป้าหมายหลักคือต้องการผลักดันบริการทางการเงินให้เข้าถึงผู้บริโภคครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งในมุมความสะดวกและเวลาในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จึงเร่งขยายแบงกิ้งเอเย่นต์ต่อเนื่อง รวมกว่า 2 แสนจุดให้บริการ ครอบคลุมธุรกรรมฝาก-ถอน-ชำระบิล และยืนยันตัวตน เป็นต้น”

ลูกค้าแห่เปิดบัญชีผ่านเซเว่นฯ

ด้านนายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มการตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์เป็นทิศทางที่อุตสาหกรรมธนาคารจะต้องเดินไป โดยธนาคารขนาดใหญ่มีการดำเนินการไปเกือบทั้งหมดแล้ว เนื่องจากต่อไปสาขาและเครื่องเอทีเอ็มจะปรับลดลง และธุรกรรมฝากเงินและถอนเงินจะไปอยู่กับตัวแทนธนาคารทั้งหมด

“ไทยกำลังเดินตามธนาคารต่างประเทศที่ทำธุรกรรมการเงินง่าย ๆ จะทำบนเครื่องอิเล็กทรอนิกส์หรือที่ตัวแทนธนาคาร ขณะที่จำนวนสาขาจะเหลือน้อยลงและมีไว้ทำธุรกรรมที่ซับซ้อน เช่น ที่ปรึกษาการลงทุน การขอคำปรึกษา การขอสินเชื่อหรือ wealth center เป็นต้น”

สำหรับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้ร่วมมือกับเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นฯ เป็นตัวแทนในการรับพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC agent) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ “ชิลดี” ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีลูกค้าหันมาทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสมากกว่าการทำธุรกรรมผ่านสาขาโดยรวมแล้ว สะท้อนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความนิยมในการทำธุรกรรมผ่านร้านสะดวกซื้อมากขึ้น

นายเอกสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ตลาด banking agent และ KYC agent มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) และผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และ e-Money จะหันมาเป็นตัวแทนในการรับพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือทำหน้าที่แบงกิ้งเอเย่นต์ให้กับธนาคารมากขึ้น เพื่อให้บริการลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคารที่ยังมีกว่า 40% ของประชากรทั้งหมด

แบงก์เดินหน้าลดสาขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีจำนวนสาขาและจุดให้บริการในประเทศ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 6,471 แห่ง ลดลงจากปี 2562 จำนวน 338 แห่ง ในจำนวนดังกล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์ลดลงมากสุด 180 แห่ง จาก 1,034 แห่ง เหลือ 854 แห่ง ขณะที่ธนาคารกรุงไทยลดลง 81 แห่ง จาก 1,105 แห่ง เหลือ 1,024 แห่ง ธนาคารธนชาตลดลง 51 แห่ง จาก 495 แห่ง เหลือ 444 แห่ง ธนาคารกสิกรไทยลดลง 28 แห่ง จาก 894 แห่ง เหลือ 866 แห่ง ส่วนธนาคารกรุงเทพและกรุงศรีอยุธยาลดลงเท่ากัน 20 แห่ง

สำหรับในปี 2564 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 มี.ค. 2564 พบว่าช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 สาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบลดลงอีก 13 แห่ง โดยธนาคารธนชาตที่ควบรวมกับทีเอ็มบีลดลงมากที่สุด จำนวน 6 แห่ง รองลงมาธนาคารไทยพาณิชย์ลดลง 3 แห่ง ธนาคารกรุงศรีอยุธยาลดลง 2 แห่ง และธนาคารกสิกรไทยลดอีก 1 แห่ง ส่วนแบงก์อื่น ๆ ยังไม่มีรายงานปรับลดสาขาเพิ่มเติม