ดนุชา มั่นใจไทยรอดวิกฤตโควิด เงินกู้ 5 แสนล้าน เพิ่มออกซิเจนเอสเอ็มอี

คุณดนุชาสภาพัฒนากล่าวในงานสัมนาประชาชาติ

สภาพัฒน์มั่นใจไทยรอดพ้นวิกฤตโควิดได้ ชี้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ช่วยเพิ่มออกซิเจนเอสเอ็มอี แท็กทีมภาคเอกชนออกแบบมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม พร้อมแพ็กเกจรักษาการจ้างงานครึ่งปีหลัง โฟกัสเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล คาดภาคการท่องเที่ยวยังไม่ปกติอีกมากกว่า 2 ปี ลั่นประเทศไทยต้องทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่หลังพ้นโควิด

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ในเครือมติชน หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจฉบับแรกของประเทศไทย จัดสัมมนาใหญ่ประจำปีในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 45 ในหัวข้อ “Thailand Survivor ต้องรอด” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับตัวพลิกสถานการณ์ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งกับเศรษฐกิจในภาพรวม ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน

เป็นการสัมมนาออนไลน์ที่หน่วยงานภาครัฐ กับนักธุรกิจชั้นนำร่วมให้ข้อมูล ถ่ายทอดเส้นทางการปรับตัว ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดในยุคโควิด-19 ผ่านทาง facebook live prachachat และสื่อออนไลน์ในเครือมติชน

ประกอบด้วย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท อิตัลไทย นางสาวชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด(มหาชน)

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮม(ประเทศไทย) และนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ Thailand Survivor ในงานสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 45 ประชาชาติธุรกิจ “Thailand Survivor … ต้องรอด” ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะยืนอยู่ได้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การส่งออก 2.การลงทุนภาครัฐ และ 3.การบริโภคภายในประเทศ

ขณะนี้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ไตรมาส 1 การส่งออกขยายตัว 11% ไม่รวมทองคำ และช่วงเดือน เม.ย. ขยายตัวได้ 25% ดังนั้นอุตสาหกรรมภาคการส่งออกจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน

ส่วนอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาภาครัฐก็มีมาตรการต่าง ๆ เยียวยาช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนไว้ อย่างไรก็ดี ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการที่รัฐออกมา ยังคงมีปัญหา ต้องต่อสู้ ดิ้นรนต่อซึ่งกลุ่มเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลทั้งหลาย ที่อาจจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการภาครัฐที่ออกมา แน่นอนว่าในแง่มาตรการการคลังก็ออกมาแล้ว และมาตรการการเงินของรัฐ ก็ออกมาด้วยเหมือนกันในช่วงที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมา มีคนไปใช้อยู่ 1 แสนล้านบาท และปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็น ซอฟต์โลนสำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2.5 แสนล้านบาท โดยปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่ง ก็คือโครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ลดภาระตัวเองจากเงินกู้ก็เอาทรัพย์สินมาวางไว้ แล้วเอาเงินไป เพื่อปลดหนี้ให้ตัวเอง แล้วก็ทำธุรกิจต่อ และมาซื้อคืนได้ภายหลัง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อธุรกิจไทยในราคาถูก

นอกจากนี้ ก็มีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือประชาชนอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินกู้เสริมสภาพคล่องผ่านธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นายดนุชา กล่าวว่า ล่าสุด มีพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท เตรียมไว้สำหรับแผนงานด้านสาธารณะสุข วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ทั้งการซื้อวัคซีน อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รักษาโรค ส่วนต่อมา เตรียมไว้เยียวยาประชาชนทุกอาชีพ รวมทั้งผู้ประกอบการด้วยวงเงิน 3 แสนล้านบาท และ อีกส่วนจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท

“เงินเยียวยา 3 แสนล้านบาท เตรียมไว้สำหรับการใช้ช่วยเหลือประชาชน หากเกิดการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง หรือหากยังไม่เกิดการระบาดแล้วมีความจำเป็นที่จะเข้าไปช่วยในแง่ของการช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอีที่สู้มาตลอด ประมาณ 1 ปีแล้ว ส่วนนี้ก็จะเป็นออกซิเจนตัวหนึ่งที่จะไปช่วยให้มีชีวิตเดินต่อไป ต้องเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า มีความชัดเจน ซึ่งได้ประสานงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ออกแบบมาตรการขึ้นมา เพื่อให้สามารถช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีให้ตรงเป้ามากขึ้น”

ทั้งนี้ วงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 1.7 แสนล้านบาท จะมีส่วนหนึ่งที่จะใช้ในการลงทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะกว่างบประมาณปี 2565 จะออก ประมาณเดือน ต.ค.2564 และงบประมาณ 2565 เองก็มีวงเงินที่จำกัดมาก ดังนั้น ในส่วนนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวที่จะไปเสริมการลงทุนของฝั่งรัฐบาล และ กระตุ้นการบริโภค เพื่อรักษาระดับการบริโภคแต่ละช่วงเวลาให้อยู่ในระดับปกติ

อีกเรื่องสำคัญที่จะต้องทำ และอยู่ระหว่างการจัดเตรียม คือ การรักษาระดับการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี เน้นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลเอสเอ็มอี ซึ่งกลุ่มนี้สู้มา 1 ปีแล้ว ณ วันนี้ภาครัฐอาจจะต้องให้ออกซิเจนเพิ่มเติม เพื่อช่วยปลดเปลื้องภาระบางประการในแง่ของการจ้างงาน เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอ และ ไม่ให้มีการปลดคนงานออก

นายดนุชา กล่าวอีกว่า เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะรอดได้ ถ้าช่วยกัน  โดยภาคธุรกิจเองจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะในภาคของการท่องเที่ยว เพราะหากถามว่าภาคท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเมื่อใน ก็ต้องตอบตามตรงว่าไม่มีใครตอบได้ชัดเจนนักในช่วงนี้

แต่ข้อมูลในการประมาณการของผู้คนในโลกผ่านการเดินทางทางอากาศ มีการประมาณการออกมาว่าใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี การเดินทางระหว่างประเทศจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนในช่วงปี 2562 หมายถึงการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วย แต่ในช่วง 2 ปี การเดินทางภายในประเทศจะเริ่มเติบโตมากขึ้น สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เข้าสู่ระดับปกติได้เร็วกว่า

“นอกเหนือจากมาตรการภาครัฐที่เตรียมไว้ มั่นใจว่าเราน่าจะรอดได้ คือ เรื่องของวัคซีน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้วิกฤตครั้งนี้จบลงได้เร็วขึ้น ถึงจะไม่ถึงขั้นไม่มีคนติดเชื้อเลย อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ว่าวัคซีนจะช่วยตัดวงจรการระบาดออกไปได้ และจะช่วยให้เราสามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ออกมาตรการต่าง ๆ ให้เดินหน้าต่อไปได้ ฉะนั้นวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผนด้วย ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือให้ทำในแง่มาตรการของสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้ดี”

เลขาธิการ สศช. กล่าวอีกว่า หากหลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้แล้วประเทศไทยจะเดินอย่างไรต่อ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะบางคนรอดมาได้ แต่อาจจะรอดด้วยแผลถลอก บางคนอาจจะรอดด้วยแผลผ่าตัด หมายความว่าผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็ต้องเดินประเทศต่อไปข้างหน้า ซึ่งระยะข้างหน้าหากผ่านวิกฤตครั้งนี้ต่อไปได้ ประเทศไทยก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ อยู่ ยังไม่สามารถไว้ใจได้ มีเทรนด์ที่จะดิสรัปชันต่าง ๆ เช่น ดิจิทัลดิสรัปชัน สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิถีชีวิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างการผลิตที่ไม่ได้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มปรับปรุงแล้ว อาจจะแซงประเทศไทยไปแล้วก็ได้ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีความเปราะบาง เป็นผลมาจากโควิดที่ผ่านมา เป็นความเปราะบางจากหนี้ครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำ

และระยะต่อไปความก้าวหน้าทางด้านการเงินและเอสเอ็มอีจะมีความสำคัญมากขึ้นในกรที่จะมาเกี่ยวพันในชีวิตประจำวัน ซึ่งเอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น ต้องพยายามที่จะปรับประเทศไทย

ประเทศไทยถึงเวลาที่จะ Transform เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อสร้างโอกาส และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงเพื่อขจัดข้อจำกัดที่จะบั่นทอนขีดความสามารถของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจและสังคม

สิ่งที่ต้องทำหลังจากพ้นวิกฤตในครั้งนี้ คือเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจสามารถที่จะสร้างราคาได้สูงขึ้น สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีการใช้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างเศรษฐกิจของประเทศ” เลขาธิการ สศช.กล่าว

ในระยะถัดไปหลังจากออกจากวิกฤตครั้งนี้แล้ว ซึ่งจะทำใน 4 เรื่อง ได้แก่ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรแปรรูป เสร้างเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ การเปลี่ยนแปลงมีฐานการผลิตรถยนต์อยู่แล้ว ก็ต้องปรับให้เป็นรถยนต์อีวี เพื่อสอดรับกับทิศทางของโลก ไม่ให้ไทยตกขบวน เรื่องอุปกรณ์การแพทย์ การแพทย์ครบวงจร และการใช้โลเคชั่นของประเทศไทยให้เป็นประโยชน์การค้าและโลจิสติกส์

“ที่ต้องทำคู่กันคือการสร้างโอกาส ให้กับเอสเอ็มอี ชุมชน วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีความมั่นคงในอาชีพได้ ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง สร้างความเจริญสู่ภูมิภาคและตัดความยากจนข้ามรุ่น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่จะต้องทำ คือการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อไปเสริมเศรษฐกิจในชุมชน และการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง

สุดท้ายคือการปรับระบบภาครัฐ จะต้องพัฒนากำลังคน เพื่อเป็นกำลังแรงงานในอนาคต รวมถึงปรับกระบวนการภาครัฐให้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ และมั่นใจว่าจะรอดจากวิกฤตครั้งนี้ได้แน่ ๆ ถ้าเราช่วยกัน” เลขาธิการ สศช.กล่าว