200 โรงงานเข้าแซนด์บอกซ์ เดินหน้าเฟส 2 อีก 3จังหวัด

โรงงานผลิต-ส่งออก

แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์ เฟส 1 ใน 4 จังหวัด “นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรสาคร-ชลบุรี” ฉลุย โรงงานแห่เข้าร่วมเกือบ 200 แห่ง จำนวนคนงานแตะ 200,000 คน หลังกระทรวงแรงงานเร่งจัดหาวัคซีนฉีดให้แรงงานทั้งหมด พร้อมเดินหน้าเฟส 2 ต่ออีก 3 จังหวัด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน หรือ Factory Sandbox ซึ่งบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน-กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ว่า โครงการระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัดคือ นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรสาคร-ชลบุรี มีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 112 แห่ง รวมจำนวนผู้ประกันตน 178,338 คน แบ่งเป็นจังหวัดนนทบุรี 32 แห่ง ผู้ประกันตน 19,731 คน

โรงงานที่เข้าร่วม อาทิ บริษัทไทยการ์เมนต์ เอ็กซปอร์ต ผู้ประกันตน 1,537 คน, บริษัทฟาสโก มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ผู้ประกันตนรวม 540 คน และบริษัทซีซีเอส แอดวานซ์เทค ผู้ประกันตน 736 คน

2) จังหวัดปทุมธานี 30 แห่ง ผู้ประกันตนรวม 50,328 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัทเบอร์ตัน อินดัสทรี ผู้ประกันตน 4,270 คน, บริษัทโรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ผู้ประกันตน 4,668 คน และบริษัทฟูชิ คูระ อิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ผู้ประกันตน 2,290 คน 3) จังหวัดสมุทรสาคร 34 แห่ง ผู้ประกันตนรวม 83,361 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตอาหารกระป๋องและอาหารทะเล เช่น บริษัทยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ประกันตน 12,333 คน, บริษัทไทยรวมศิลป์พัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ประกันตนรวม 10,940 คน และ บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ประกันตน 9,500 คน

และ 4) จังหวัดชลบุรี 16 แห่ง ผู้ประกันตนรวม 24,918 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน เช่น บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ผู้ประกันตน 8,556 คน, บริษัทแวนด้าแพค ผู้ประกันตน 2,604 คน และบริษัทเอดับเบิ้ลยู (ไทยแลนด์) ผู้ประกันตน 944 คน ผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องดำเนินการคัดกรองลูกจ้างในโรงงานด้วยวิธี Swab รูปแบบ RT-PCR ทั้งหมด 1 ครั้ง และตรวจแบบ Antigen Test Kit ทุก ๆ 7 วัน พร้อมกับฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับลูกจ้างทุกคน โดยเจ้าของโรงงานจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ในขณะที่กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่จัดสรรวัคซีนให้กับโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ

“คอนเซ็ปต์ของ Factory Sandbox ก็คือการประคองภาคธุรกิจส่งออกให้เดินหน้าต่อไปได้ ถ้าธุรกิจเจ๊งก็จะมีคนตกงานตามมาอีกจำนวนมาก แต่หากเรายังใช้แนวทางเดิม คือมีโควิดระบาดรุนแรง สั่งปิดพื้นที่เสี่ยง จ่ายเงินเยียวยาหรือชดเชยการว่างงานให้กับผู้ประกันตน จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผมมองว่าเราควรป้องกันตั้งแต่ต้นทางให้ลูกจ้างมีภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และได้ทำงานมีรายได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่า” นายสุชาติกล่าว

ส่วนโครงการ Factory Sandbox ระยะที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ จะเริ่มดำเนินการหลังเฟส 1 เสร็จสิ้น พร้อมกับต้องรอประเมินผลอีก 30 วัน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเริ่มดำเนินการโครงการระยะที่ 2 ต่อไป โดยโครงการนี้มาจากแนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ดำเนินการควบคู่กับ “สาธารณสุขและเศรษฐกิจ” ที่เน้นไปที่สถานประกอบการผลิตเพื่อการส่งออก 4 กลุ่ม คือ กลุ่มยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร และกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชลบุรียังมีโรงงานที่เข้าร่วม Factory Sandbox เพิ่มเติมเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดรวมจำนวนโรงงานที่เข้าร่วมในเฟส 1 ประมาณ 200 แห่ง คิดเป็นจำนวนผู้ประกันตนเกือบ 200,000 คน

ซื้อ ATK แบบคนละครึ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ Factory Sandbox ว่า มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมยังไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงาน 500-1,000 คน เพราะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลต้องกระตุ้นและมองให้ครบคลัสเตอร์ โดยต้องเข้าไปช่วยให้โรงงานขนาดเล็กที่เป็นซัพพลายเชนให้โรงงานใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการด้วย

“เราจะเห็นตอนที่โรงงานโตโยต้าหยุดการผลิตไป 2 เดือน ตอนนั้นมีคนติดโควิดในโรงงานเขาเล็กน้อย แต่ที่หนักก็คือโรงงานชิ้นส่วนที่ส่งให้โตโยต้าติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก เลยกลายเป็นว่ากระทบโตโยต้า รัฐจึงต้องมองให้ครบทั้งคลัสเตอร์ อย่าดึงแค่รายใหญ่ทำ Factory Sandbox ต้องให้รายเล็กเขาทำด้วย เพราะมันคือห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ หากโรงงานเล็กติดเยอะก็กระทบโรงงานใหญ่อยู่ดี”

โรงงานที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ โรงงานเหล่านั้นมีมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ที่ดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็รอว่ารัฐบาลจะจัดหาสิ่งที่เอกชนร้องขอไปได้หรือไม่ เช่น ชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชิ้น ที่รัฐบาลนำเข้ามานั้น จะแบ่งมาให้โรงงานอุตสาหกรรมได้เท่าไร หรืออย่างล่าสุดที่รัฐรับข้อเสนอเอกชนว่า จะจัดหาวัคซีนให้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมในโครงการ Factory Sandbox แต่ขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างเตรียมวัคซีนอยู่ จึงยังไม่รู้ว่าจะได้ฉีดเมื่อไร

ส่วนมติ ครม.ล่าสุดที่ให้ความเห็นชอบสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อชุดตรวจ ATK มาหักภาษีได้ 1.5 เท่า จากที่ขอไป 2 เท่านั้น “ก็ยังไม่เพียงพอ” เนื่องจากภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงแรงงานดึงเงินจาก “กองทุนประกันสังคม” เข้ามาช่วยค่าใช้จ่ายในการซื้อ ATK แบบคนละครึ่ง (รัฐ 50% เอกชน 50%) เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เอกชนแบกรับค่าใช้จ่ายแพง 140 บาท/คน/เดือน เป็นราคาที่รับได้ (ATK เลอปู่ 70 บาทคูณ 4 สัปดาห์ = 280 บาท/คน/เดือน)

เร่งขอชดเชยค่าใช้จ่าย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออนุสรณ์กรุ๊ป ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โรงงานขนาดใหญ่ในจังหวัดเข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox ทั้งหมด 21 แห่ง รวมพนักงานประมาณ 80,000 คน ตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ 23 สิงหาคมถึง 15 กันยายน 2564 ได้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR กับพนักงานไปแล้วประมาณ 60,000 คน

พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ในแรงงานประมาณ 5,000 คน แบ่งเป็นคนไทยประมาณ 700 คน แรงงานต่างด้าวประมาณ 4,200 คน “ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก” และได้เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้แรงงานที่ตรวจไม่พบเชื้อไปได้ประมาณ 26,000 คน แบ่งเป็นคนไทย 3,000 คน แรงงานต่างด้าว 23,000 คน

“20 กว่าวันที่ผ่านมาเราพบตัวเลขผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องน่ากังวล ผมอยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่นอก Sandbox ด้วยเพราะแรงงานต่างด้าวประมาณ 300,000 คน คิดเป็น 30% ของประชากรทั้งจังหวัด 1 ล้านคน ถ้าไม่ฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวที่ถือเป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ทำรายได้ให้ภาคอุตสาหกรรมก็จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปลำบาก” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายเชาวลิต เอื้อชูยศ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า นนทบุรีมีโรงงานเข้าร่วม Factory Sandbox อยู่ 9 แห่ง ผลการดำเนินการตรวจ ATK และตรวจ Real-time RT PCR พบผู้ติดเชื้อน้อยลง เฉลี่ยประมาณ 5 คน จาก 500 คน ปัจจุบันมีโรงงานอีก 4 แห่งที่เตรียมขอเข้าร่วมโครงการในเฟสที่ 2 รวมพนักงานนับ 1,000 คน

“ตอนนี้ทางเราได้ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการไปยังภาครัฐแล้ว และรัฐบาลก็รับเรื่องไว้พิจารณา แต่พูดง่าย ๆ คือ ทุกอย่างยังช้าอยู่ ต้องผ่านหลายขั้นตอน หลายหน่วยงาน ตอนนี้ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีคำตอบว่า จะได้ค่าใช้จ่ายสนับสนุนในส่วนนี้หรือเปล่า”

ทั้งนี้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนนทบุรีที่เข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox ได้ฉีดวัคซีนไปเกือบ 70% แล้ว หรือคิดเป็นสัดส่วนฉีดเข็ม 1 แล้ว 100% ฉีดเข็ม 2 ได้ 70% น่าจะควบคุมการระบาดได้พอสมควร