แรงบันดาลใจ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง “คุณภาพชีวิต” ในสิ่งแวดล้อมใหม่

สมถวิล ลีลาสุวัฒน์ : เรื่อง

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นมุมมองใหม่ ๆ พร้อมปรับวิธีปฏิบัติจากสิ่งเดิม ๆ เพื่อเป้าหมายสู่การให้ และนำพาสิ่งดี ๆ มาสู่ผู้คนและชุมชน

ท่ามกลางการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ที่ชาวกรุงกำลังเผชิญกับภาวะรถติด เสียง และฝุ่นละออง โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็น “บริการสาธารณะ” แน่นอนช่วงระหว่างก่อสร้างนั้น แทบไม่มีใครจะยินดี เพราะสภาพแวดล้อมต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่ปรารถนามากมาย

แต่ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ เพราะทุกการก่อสร้างโครงการใหญ่ จะนำมาซึ่งความเจริญ เป็นระเบียบ และดูดีขึ้นทันตา เห็นได้จากรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วทั้งสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน ซึ่งถือเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยให้การขนส่งคนเป็นไปอย่างราบรื่น คล่องตัว และตรงเวลา

ส่วนสายสีแดงกำลังลุ้นอยู่ว่าจะเป็นนางเอกในด้านการคมนาคมหรือไม่ หลังเปิดทดลองวิ่งอยู่นาน โดยมี “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นไข่แดงและผงชูรสให้โครงการดูดีมีสีสัน

ปัจจุบันยังมีรถไฟฟ้าอีก 2 สายใหม่กำลังเร่งก่อสร้าง คือ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งเป็นโครงการในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

จิรฐา วัฒนประดิษฐ์
จิรฐา วัฒนประดิษฐ์

ล่าสุด จิรฐา วัฒนประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร รฟม. หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้จูนแนวคิดใหม่ ภายใต้ความตั้งใจและนโยบายขององค์กร เพื่อผลักดันให้ผู้คนในชุมชนตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างและพาดผ่าน มี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีขึ้น

แรงบันดาลใจครั้งนี้ เป็นการมองจากข้างนอกเข้าหาตัว โดยคิดถึงใจเขาใจเราเป็นหลัก ดังนั้น รฟม.ซึ่งเป็นด่านหน้าของงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องลงพื้นที่ และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชุมชนมีความสุข

ซึ่งเป็นที่มาของกิจกรรมเพื่อสังคม กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว หลังโครงการแรกประสบความสำเร็จด้วยดี ในการเพิ่มทักษะความรู้สู่ชุมชนบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกว่า 10 เขตพื้นที่ อาทิ การให้ความรู้เรื่องการปลูกผักบนที่ว่าง พร้อมบริโภคได้จริงในครัวเรือน และสามารถทำเป็นอาชีพได้ ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลูกผักไร้ดิน ที่ว่างกินได้”

รฟม.มองเห็นการตอบโจทย์ จึงจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ภายใต้ชื่อว่า “รฟม.ปั้นอาชีพ ทำง่าย ขายดี” เป็นการจัดเต็ม 3 หลักสูตร เพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชนให้มีรายได้เสริมในยุค new normal ที่ต้องต่อสู้และอยู่ร่วมกับโควิด-19

ขณะที่โลกซื้อขายสินค้าและอาหารบนแพลตฟอร์มออนไลน์กำลังเฟื่องฟูสุด การติดอาวุธทางความรู้ให้กับชาวชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง เหมือนการตั้งต้นให้ผู้คนสามารถสร้างธุรกิจอาหารและคุ้นชินกับการเปิดตลาดใหม่ได้ โดยผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

รฟม.ได้ร่วมกับ ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) จัดงานอบรมผ่าน Live Streaming ในกลุ่มเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00-13.00 น. เพราะต้องรักษาระยะห่างและความปลอดภัยจากการแพร่ระบาด ทั้งสอดรับกับวิถี new normal

“ใจอยากให้กิจกรรมเป็นงานที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย ได้ทักษะและความชำนาญ เพื่อให้ชาวชุมชนตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และประชาชนที่สนใจสามารถเรียนรู้ได้แบบครบวงจรและนำไปปฏิบัติได้จริง” จิรฐากล่าว

เช่น ทักษะการถนอมอาหาร จำพวกเนื้อแดดเดียว เนื้อฝอย และเมนูเพื่อสุขภาพ สุกี้โรล พร้อมน้ำจิ้ม รวมถึง
การขึ้นทะเบียนใบอนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

กิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากเชฟมืออาชีพ อ.ขนิษฐา ชัยชาญกุล เชฟจากมติชนอคาเดมี เป็นผู้ร่วมอบรมตั้งแต่พื้นฐานการถนอมอาหารให้คงคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด

ตลอดจนวิธีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้สินค้า การเลือกบรรจุภัณฑ์ การเก็บวัตถุดิบในอุณหภูมิที่เหมาะสม และการคิดคำนวณต้นทุน รวมไปถึงการตั้งราคาขายอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการสอนเทคนิคการถ่ายภาพด้วยมือถือแบบง่าย ๆ โดย บุญแต่ง ผุสดี เจ้าของช่อง Youtube บุญแต่งสอนแต่งภาพ ซึ่งผู้ร่วมอบรมจะได้เรียนรู้พื้นฐานในการถ่ายรูปอาหาร การสังเกตแสง การใช้แสงธรรมชาติในการถ่ายรูป เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายรูปสินค้า ทั้งตกแต่งภาพอาหารโดยใช้โปรแกรมง่าย ๆ เพื่อประกอบการเขียนคอนเทนต์และโพสต์ขายของได้ดีเหมือนมืออาชีพที่ทำกัน รวมถึงการเปิดเคล็ดลับการขาย offline สู่ online โดย “ครูบ๊อบบี้-ณริณฑ์พัฒ อภิวัชรพงษ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการขาย offline/online สถาบัน The iCon Group

“มีคำถามว่า ทำไมไม่เป็นหมูแดดเดียว ไม่เป็นหมูฝอย ประเด็นนี้ต้องบอกว่า ทีม รฟม.ได้สำรวจพื้นที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวม 10 เขตตามแนวเส้นทางสายสีเหลือง ทั้งจตุจักร ห้วยขวาง วังทองหลาง บางกะปิ สวนหลวง บางนา ประเวศ เทศบาลตำบลด่านสำโรง เทศบาลตำบลบางเมือง และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ โดยมีผู้ต้องการเข้าอบรมกว่า 500 คน และพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม นี่จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจเลือกทำเมนูเนื้อเป็นหลัก”

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองไม่เพียงแค่ทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองเท่านั้น แต่แนวเส้นทางและบางสถานียังเป็น “จุดเชื่อม” ขนส่งมวลชนโครงการอื่น ๆ อีกด้วย เช่น สถานีลาดพร้าว บนถนนรัชดาภิเษก บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน) วิ่งตามเส้นทางถนนลาดพร้าว จนถึงแยกบางกะปิ และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ตรงไปจนถึงแยกศรีเทพา และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดที่สถานีสำโรง บริเวณแยกเทพารักษ์

ทั้งเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชนได้ในทุกมิติ เป็นการยกระดับนโยบายสู่สิ่งที่จับต้องได้และเกิดประโยชน์จริง