สธ. พบชายไทยติดเชื้อโอไมครอน รายที่ 4 มาจากคองโก

โอไมครอน

สธ.ยัน ไทยเจอโอไมครอน รายที่ 4 ชายไทย อายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่ยูเอ็น รับตัวอย่างมาตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนตามรายงานของมติชนว่า ตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่าย ได้เฝ้าระวังการตรวจรหัสพันธุกรรมมาโดยตลอด แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ ตรวจด้วยวิธี SNP ตรวจเฉพาะตำแหน่งยีน เพื่อดูสายพันธุ์เบื้องต้น เช่น เดลต้า เบต้า อัลฟ่า และตรวจด้วย WGS หรือโฮจีโนมซีเควนซิ่ง เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เพื่อยืนยันอีกครั้ง ดังนั้น เราจึงตรวจ 2 วิธีแต่ไม่จำเป็นต้องตรวจด้วย WGS ยืนยันในทุกราย

สำหรับการตรวจสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-ถึงวันที่ 7 ธ.ค.64 ทั้งผู้เดินทางจากต่างประเทศ และคนในประเทศ รวม 1,645 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นการสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมจากผู้ติดเชื้อที่ชายแดน กลุ่มคนมีอาการหนัก คลัสเตอร์น่าสงสัย ผู้รับวัคซีนครบโดสแล้วแต่ยังติดเชื้อ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อซ้ำ พบออกมาว่าเจอเดลต้าเกือบทั้งหมด ราวกว่า 99% ยกเว้น 4 รายเป็นโอไมครอน ไม่ถึงร้อยละ 1

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 6 ธ.ค. 2564 เราได้ตัวอย่างมา 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่ยูเอ็น เราทราบจากข้อมูลห้องทดลองเบื้องต้น เป็นผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เข้าไทยผ่านระบบไม่กักตัว (Test and go) มีประวัติรับวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม ซึ่งตรวจเบื้องต้น วินิจฉัยขณะนี้ว่ามีโอกาสเป็นโอไมครอนอีก 1 ราย นับเป็นรายที่ 4 ที่ประเทศไทยตรวจพบ

“สรุปไทยมีคอนเฟิร์มโอไมครอน 3 ราย เป็นชาวอเมริกัน 1 ราย และเป็นหญิงไทย 2 ราย ที่เดินทางจากประเทศไนจีเรีย ส่วนรายที่ 4 เป็นชายไทย เดินทางมาจากต่างประเทศ ย้ำว่ายังไม่พบเคสที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะนี้ผลตรวจรายที่ 4 เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นโอไมครอน ซึ่งต้องรอผลการตรวจยืนยันอีกครั้ง และทางกรมควบคุมโรคกำลังสอบสวนติดตามผู้สัมผัส” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าโอไมครอนมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย เป็น BA 2 หรือโอไมครอนไลก์ (Omicron like) แล้วตีเนียนว่า ยีน S หายไปบางส่วน ซึ่งเป็นตัวที่เราเอามาตรวจวิเคราะห์นั้น แต่ปรากฏว่า ยีน S มันกลับมานั้น ทำให้มีข้อสงสัยว่าเป็นการหลอกทำให้ตรวจไม่เจอหรือไม่ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าไม่สามารถหลอกได้ เรายังสามารถตรวจเจอได้ เพราะขณะนี้ในการตรวจตำแหน่งเฉพาะของยีน มีการตรวจหลายตำแหน่ง คือ HV 69-70 deletion ตำแหน่ง K 417N ตำแหน่ง L452R ตำแหน่ง T478K และตำแหน่ง N501Y

“เพราะฉะนั้น 4 ราย ที่มีการตรวจเบื้องต้นเป็นโอไมครอน ก็ตรวจจากตรงนี้ จึงเนียนไม่ได้ ยกเว้นว่าจะมีการกลายพันธุ์จนเป็นคนละเรื่อง ก็ต้องมาพิจารณาสูตรการตรวจกันใหม่ ทั้งนี้ ATK ยังตรวจเจอได้ แต่ต้องเก็บให้ถูกต้อง ขออย่าวิตกกังวลมาก เพราะถึงอย่างไร เชื้อก็ไปทั่วโลก วันนี้มี 4 ราย ที่เราสุ่มเฝ้าระวัง ถือว่าน้อยมาก แต่สัดส่วนอาจจะมีเพิ่มขึ้นได้ แต่ข่าวดีคือ เขาไม่ค่อยรุนแรงนัก ยังไม่มีใครเสียชีวิต ดังนั้น อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นมุมที่ดี แต่ข้อมูลบางคนบอกว่ามีการหลบวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม 40 เท่า แต่หากดูข้อมูล จะเห็นว่าจำนวนตัวอย่างเพียง 6 ราย จะเอาเพียงข้อมูลนี้มาบอกทั้งหมด ถือว่ายังไม่มีนัยยะสำคัญ แต่มาตรการพื้นฐาน และวัคซีนยังเป็นเกราะป้องกันได้อยู่” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากตำแหน่งโอไมครอนไลก์จะตรวจได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรามีการตรวจหลายจุด การตรวจหลายจุดและบังเอิญจะหายไปทั้งหมด โอกาสแบบนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป เพราะการกลายพันธุ์เป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้ เหมือนโอไมครอน เราก็ไม่รู้ว่าจะกลายพันธุ์ขนาดนี้