ประวิตร นั่งหัวโต๊ะไฟเขียว EIA รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ

“ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ไฟเขียว EIA 5 โครงการ ฉลุย รวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ 

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/64 โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุมได้ร่วมพิจารณารายงาน EIA จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน แก้ไขปัญหาการจราจร จำนวน 5 โครงการ ได้แก่

1.โครงการเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา

2.โครงการทางหลวงพิเศษ ส่วนต่อขยายอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน

3.โครงการทางเลี่ยงเมืองอำนาจเจริญ (ด้านทิศตะวันตก)

4.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 (สายเหนือและสายใต้) เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก

5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ส่วนโครงการที่ 6 ได้พิจารณาโครงการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย ได้แก่ โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย จ.นครราชสีมา (สูงเนิน) ระยะที่ 1 และ 2

รวมทั้งพิจารณาการขอขยายระยะเวลาการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ออกไปอีก 6 ปี

การปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการยื่นรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ และการกำหนดมาตรฐานความทึบแสงของเขม่าควัน จากปล่องเตาเผาศพให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

รวมทั้งได้พิจารณานโยบายและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดปี 2566 และแผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน และ 3 เผชิญเหตุ” และรับทราบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2564 ซึ่งภาพรวมทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ขึ้น เว้น ปริมาณขยะพลาสติกและมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น

“พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำที่ประชุม เปิดกว้างรับฟังและให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น และพร้อมทั้งแสดงความห่วงใยถึงสถานการณ์มลพิษด้านฝุ่นละออง โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนและเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในช่วงเกิดสถานการณ์ โดยเน้นมาตรการป้องกันและให้พร้อมเผชิญเหตุระดับพื้นที่ในการควบคุมแหล่งกำเนิด ทั้งจากยานพาหนะและอุตสาหกรรมในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมไฟป่าและปริมาณไม่ให้สูงเกินมาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน”