2564 ปีแห่งอภิมหาบิ๊กดีล สตาร์ตอัพ-ค่ายมือถือจุดเปลี่ยนธุรกิจ

ศาลปกครองนัดไต่สวนคดีควบรวมทรูดีแทค

ปี 2564 เป็นอีกปีที่เรายังคงอยู่กับโควิด-19 แม้จะไม่ง่ายนักที่จะใช้คำว่า “ชิน” แต่เชื่อว่าทุกภาคส่วนเริ่มปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดได้บ้างแล้ว ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน

และการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในวงการไอที โทรคมนาคมที่คุ้นเคยกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมออยู่ก่อนแล้วจึงอาจจะได้เปรียบธุรกิจอื่นอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ควรบันทึกไว้

ปิดดีลควบรวมปฐมบท “เอ็นที”

เริ่มด้วยธุรกิจโทรคมนาคม ต้นปี 2564 มหากาพย์ควบรวมกิจการระหว่าง 2 รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของไทยที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานเกือบ 18 ปี หลังแปรสภาพจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศ เป็นบริษัทจำกัด จนพัฒนาต่อมาเป็นการควบรวมกิจการ บมจ.ทีโอที

และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ในที่สุดทั้งคู่ก็จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที สำเร็จเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 เรียกว่าเป็นผลงานชิ้นท้าย ๆ ก่อนพ้นตำแหน่งของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็น่าจะได้

แม้จะรวมกันได้มาตั้งแต่ต้นปี แต่หลายสิ่งก็ยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะการทำงานภายในองค์กรที่ควรจะสอดประสานเป็นหนึ่งเดียว แต่ในชีวิตจริงกลับยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจด้วยโครงสร้างการทำงานภายในที่ยังไม่ลงตัว (แม้แต่บอร์ดบริษัทก็เพิ่งตั้งเสร็จก่อนสิ้นปีไม่กี่วัน)

หรือเพราะเบอร์หนึ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรในช่วงเปลี่ยนผ่านยังเป็นแค่ตำแหน่ง “รักษาการ” ซึ่งถือว่ายาวนานข้ามปี ทำให้ขับเคลื่อนผลักดันอะไรไม่ได้มากนัก ขณะที่กระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ตัวจริงก็เพิ่งจะเริ่มกันได้ ดยประกาศเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 22 พ.ย.-21 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา

ปีหน้า 2565 จึงยังต้องลุ้นกันต่อว่า เมื่อไรที่ “เอ็นที” จะพร้อมใช้ศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารทั้งแบบมีสาย-ไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นเสาโทรคมนาคม, สายไฟเบอร์ออปติก, คลื่นความถี่ ล่าสุดยังรับช่วงบริหารจัดการ

“ดาวเทียม” ต่อมาจาก “ไทยคม” ที่เพิ่งหมดสัมปทาน คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่ามี (อาวุธ) ครบ (วงจร) มากที่สุด อยู่ที่ว่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร

หวังว่าคงไม่ช้าไปกว่าบิ๊กดีลส่งท้ายปี “ทรู-ดีแทค”

“กัลฟ์&อินทัชบิ๊กดีล ทรู-ดีแทค”

ไหน ๆ ก็พูดถึงเคสควบรวมไปแล้วก็ว่ากันต่อเลยละกัน ก่อนจะไปถึงบิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” ถ้าจะไม่พูดถึงการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย “กัลฟ์” ก็คงไม่ได้เพราะถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาเช่นกัน

ด้วยว่าเข้ามาถือหุ้นใน “อินทัช” บริษัทแม่ของเอไอเอส ด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 42.25% (รอบนี้ทำคำเสนอซื้อในเดือน เม.ย. ราคาหุ้นละ 65บาท สัดส่วน 23.32% แล้วเสร็จ ส.ค. ก่อนหน้ามีเข้ามาถือหุ้นอยู่แล้วที่ 18.93%)

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ “เอไอเอส” พูดถึงการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของกัลฟ์ในอินทัชว่าน่าจะเป็นผลดี และทำให้เอไอเอสที่แข็งแรงอยู่แล้วแข็งแกร่งขึ้นไปอีก เพราะจะเป็นการรวมกันของสไตล์การบริหารงานแบบ “เจ้าของ” ที่มีจุดเด่นเรื่องการตัดสินใจรวดเร็วกับความเป็นมืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของ “สิงเทล” และทีมเอไอเอส

คล้อยหลังไปเพียง 2 เดือน ข่าวลือที่กระหึ่มมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา กลับกลายเป็นจริง เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) บริษัทแม่กลุ่มทรู และกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ออกมายอมรับถึงความพยายามของทั้งคู่

นำโดย 2 แม่ทัพใหญ่ “ศุภชัย เจียรวนนท์-ซิคเว่ เบรคเก้” ที่ระบุว่าเป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (equal partnership) โดยมีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ และจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อขับเคลื่อนบริษัทสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (เทคคอมปะนี)

กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และผู้บริโภค ด้วยเกรงว่าความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันลดน้อยลง เพราะผู้เล่นเหลือน้อยราย ส่งผลให้อัตราค่าบริการลดลงช้าด้วย

รวมไปถึงรายได้ของภาครัฐจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ก็จะมีโอกาสได้น้อยลง เพราะผู้เข้าประมูลเหลือน้อยลงเช่นกัน

แน่นอนว่าถือเป็นภารกิจร้อน ๆ สำหรับ “กสทช.” ชุดใหม่ที่จะต้องเข้ามาแสดงบทบาทของผู้ “กำกับดูแลการแข่งขัน และรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค”

5 กสทช.ชุดใหม่ กับภารกิจหิน

ดีลความร่วมมือของ 2 ค่ายมือถือโยงกลับมาบทบาทของ “กสทช.” ในฐานะผู้กำกับดูแล ซึ่งการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่เพิ่งแล้วเสร็จหมาด ๆ ส่งท้ายปี

จากการลงคะแนนโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 หลังยืดเยื้อยานนานมากว่า 4 ปี สรรหาถึง 3 รอบ ตั้งแต่ปี 2561 จนมาจบลงได้ในปีนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อ 28 ก.พ. 2564

ผลการลงคะแนนจาก 7 รายชื่อผ่านมาได้ 5 คน ประกอบด้วย 1.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง) 2.ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์)

3.ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค) 4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) และ 5.รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)

อีก 2 ด้านที่ไม่ผ่าน คือ ด้านโทรคมนาคม และด้านกฎหมาย ที่จะต้องสรรหาเพิ่มเติมในปีหน้า

โดย กสทช.ชุดใหม่ มีภารกิจสำคัญที่รอให้จัดการไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ บิ๊กดีล “ทรู-ดีแทค” เสมือนภารกิจเรียกความเชื่อมั่น และโชว์ศักยภาพในบทบาทผู้กำกับดูแล

นอกจากนี้ยังมีอีกภารกิจเร่งด่วนอื่น ๆ เช่น การจัดประมูลใบอนุญาตการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เนื่องจากอายุวิศวกรรมของไทยคม 4 กำลังจะหมดในอีก 2-3 ปี หากช้าไปอาจมีผลกับการรักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม,

การจัดการประมูลคลื่น 3500 MHz ซึ่งก่อนหน้าที่ “ดีแทค” จะร่วมมือกับทรู เคยเรียกร้องให้ กสทช.เร่งดำเนินการประมูล โดยระบุว่าเป็นคลื่นมาตรฐานสำหรับ 5G ยังไม่นับเรื่องวิทยุชุมชนที่ยังค้างรอให้จัดการ และอื่น ๆ อีกไม่น้อย

แจ้งเกิดสตาร์ตอัพยูนิคอร์นไทย

หันมาสำรวจแวดวงเทคสตาร์ตอัพกันบ้าง ปีนี้บ้านเรามียูนิคอร์นเกิดขึ้นหลายตัว เริ่มจากตัวแรกกลางปี 2564 (มิ.ย.) เมื่อกลุ่มธุรกิจแฟลช บริษัทแม่ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ปิดดีลระดมทุนซีรีย์ D+ และซีรีย์ E ได้กลุ่ม Buer Capital Limited ทุนจากสิงคโปร์

และ SCB 10X มาร่วมทุน ตามด้วยผู้ลงทุนเดิม eWTP-OR-เดอเบล (กลุ่ม TCP)-กรุงศรีฟินโนเวตลงเงินเพิ่มไปกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มูลค่าบริษัทขึ้นไปทะลุ 30,000 ล้านบาท ส่งให้ แฟลช ขึ้นเป็น ยูนิคอร์น ตัวแรกของไทย

ถัดมาใน ก.ย. บริษัท แอสเซนด์ มันนี่จำกัด ในเครือ ซี.พี ประกาศความสำเร็จในการระดมทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จากบริษัท โบว์ เวฟ แคปิตอล แมเนจเมนต์ (Bow Wave Capital Management) สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มูลค่าบริษัททะลุ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นเป็นบริษัทฟินเทคยูนิคอร์นตัวแรก และตัวที่ 2 ของไทย

ก่อนจะจบปีด้วยการประกาศความร่วมมือของกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์) กับกลุ่มบิทคับ แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย โดยจะเข้าถือหุ้นในบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด 51%

คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท หากปิดดีลเรียบร้อย “บิทคับ” ก็จะขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวล่าสุดทันที

มากกว่าการเป็นขยับขึ้นเป็น “ยูนิคอร์น”ดีล “เอสซีบี เอกซ์กับบิทคับ” จุดพลุให้กระแสความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลในบ้านเราพุ่งทะยานขึ้นทันที (แม้จะสวนทางกับราคาบิตคอยน์ที่กลับมาปักหัวลงอีกครั้ง) ซึ่งความร้อนแรงก็คงจะดำเนินต่อไปในปี 2565 ด้วยเช่นกัน

ขาขึ้นโลจิสติกส์-ดีลิเวอรี่แข่งดุ

โควิด-19 อาจส่งผลร้ายกับหลายธุรกิจ แต่เป็นผลดีกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่โตอยู่แล้วให้โตขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในกลุ่มอีมาร์เก็ต ทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล ต่างโหมแคมเปญกันดุเดือด

จน “ดับเบิลเดย์” กลายเป็นท่าบังคับที่ทุกค่ายต้องทำกันทุกเดือน ไล่ไปตั้งแต่ต้นปียันสิ้นปี จากจุดเริ่มต้นโดยอาลีบาบา ในวันคนโสด 11.11 เมื่อหลายปีก่อน

เมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตขึ้น อานิสงส์ก็ตกมาอยู่กับโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์โตขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่โอกาสก็มาพร้อมวิกฤต การแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือดทำให้มีผู้ที่ยอมถอยทัพออกจากตลาดไปเช่นกัน นั่นคือผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วน ภายใต้แบรนด์ “อัลฟ่า ฟาสต์”

ส่วนรายที่เหลืออยู่ก็ยังแข่งกันหนัก พร้อมกับขยับขยายหาลู่ทางใหม่ ๆ เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า ดังเช่นความร่วมมือระหว่างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปณท กับ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ และบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด เปิดตัวบริการขนส่งเย็น

ภายใต้แบรนด์ “ฟิ้วซ์ โพสต์” เมื่อเดือน ส.ค. และคาดว่าจะเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบต้นปี 2565 ขณะที่ยักษ์ขนส่งอีกราย “เคอรี่” ก็ร่วมมือกับเบทาโกร เปิดตัวบริการขนส่งเย็น ภายใต้บริการ “KERRY COOL” รองรับพฤติกรรมคนสั่งอาหารออนไลน์พุ่ง

ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งเดือด

อีกธุรกิจที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือวิดีโอสตรีมมิ่ง เมื่อยักษ์ใหญ่ “ดิสนีย์พลัสฮอตสตาร์” ตบเท้าเข้ามาเจาะตลาดไทยในกลางปี 2564 โดยร่วมมือกับ “เอไอเอส” จัดแพ็กเกจค่าบริการสุดจูงใจ 35 บาท/เดือน หรือ 499 บาท/ปีสำหรับลูกค้าเอไอเอส เรียกเสียงฮือฮาและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับกระแสตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไม่น้อย

ฝั่งเจ้าตลาดเน็ตฟลิกซ์ก็เตรียมเปิดเกมรุกจริงจัง ด้วยการตั้งออฟฟิศในประเทศไทย และแต่งตั้งผู้กำกับชื่อดัง “สิน-ยงยุทธ ทองกองทุน” ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ ประจำประเทศไทย (มิ.ย.)

ขณะที่ยักษ์วิดีโอสตรีมมิ่งจากจีน “WeTV” ก็ออกมาประกาศตัวชัดเจนว่าจะเจาะตลาดนี้มากขึ้น โดย “กนกพร ปรัชญาเศรษฐ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย ฉายภาพว่า ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยแข่งขันสูง มีผู้เล่นมากถึง 20 ราย แต่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

อีกผู้เล่นหลักในฝั่งฟรีเมี่ยม (ให้ดูฟรี มีรายได้จากโฆษณา) “ไลน์ทีวี” (LineTV) คิดต่างออกไป ประกาศปิดบริการตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2564

ค้าปลีกไอที-มือถือลุยออนไลน์

ปิดท้ายด้วยธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที และโทรศัพท์มือถือ แม้ดีมานด์จะพุ่งจากกระแสเวิร์กฟรอมโฮมและเลิร์นฟรอมโฮม แต่การล็อกดาวน์เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวอย่างมาก

ทั้งในแง่การปรับแผนเปิดสาขาสแตนด์อะโลนชั่วคราวใกล้ห้างสรรพสินค้า และการขยับขยายเข้าสู่ช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งมีทั้งเปิดเว็บไซต์เอง และเข้าไปเปิดร้านในอีมาร์เก็ตเพลซบนลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล รวมไปถึงการเปิดไลฟ์คอมเมิร์ซเพื่อขายสินค้าบนช่องทางโซเชียลมีเดีย

ขณะที่ยังต้องเผชิญปัญหาซัพพลายขาดส่งผลให้ในบางจังหวะสินค้าไม่พอขาย สวนทางกับความต้องการที่พุ่งขึ้น และคาดว่าจะยังดำเนินต่อไปในปี 2565