ผ่าทางตันภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เพิ่ม 3 จังหวัดรับต่างชาติ-สู้โอมิครอน

ภูเก็ต

 

“โอมิครอน” ป่วนโลก ! ธุรกิจท่องเที่ยวหวั่น “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ถึงทางตัน ประตูเปิดรับต่างชาติถูกปิด ทุบเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวดับอีกรอบ โรงแรมอัดยับระบบเปิดประเทศยังมีปัญหาทั้งวงจร นักท่องเที่ยวติดโควิดตกค้างอยู่ในโรงแรมเพียบ ผู้ว่าฯภูเก็ตรับสารพัดปัญหารุมเร้า กระทุ้งส่วนกลางเร่งแก้ไข ททท.เผย 5 เดือนเงินสะพัดภูเก็ตกว่า 3 หมื่นล้าน ยันรัฐบาลเดินหน้าเปิดประเทศต่อ ศบค.เคาะพื้นที่แซนด์บอกซ์เพิ่มอีก 3 จังหวัด “กระบี่ พังงา สุราษฎร์ฯ”

การกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน หลังช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นและกระจายเป็นวงกว้าง สะท้อนจากจำนวนผูู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับประมาณ 3,000 ราย เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 โดยภายในสัปดาห์เดียวตัวเลขได้เพิ่มขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ 7,526 ราย (7 ม.ค.) ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องประกาศยกระดับการเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4

ขณะที่กรมควบคุมโรคได้ออกมาย้ำเตือน ห้ามประชาชนเดินทางไปสถานที่เสี่ยง ไม่เดินทางข้ามจังหวัดหรือไปต่างประเทศ เพื่อลดการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ต้องปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอีกครั้ง ด้วยการปรับเพิ่มพื้นที่ควบคุมและการเดินทางเข้าประเทศ ด้านการยกเลิกมาตรการ test & go ออกไปก่อน

แหล่งข่าวในภาคธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังรัฐบาลประกาศยุติการเข้าประเทศในระบบ test & go ออกไปแบบไม่มีกำหนด เหลือไว้เพียงรูปแบบ “แซนด์บอกซ์” ที่ จ.ภูเก็ต ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีความกังวลว่า ด้วยการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะส่งผลกระทบต่อการเปิดประเทศในรูปแบบ “แซนด์บอกซ์” ด้วย

เนื่องจากอัตราการติดเชื้อรายใหม่ของภูเก็ตพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของภูเก็ต ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564) ประสบปัญหาค่อนข้างหนัก และมีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ขณะที่ระบบเปิดประเทศของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ Thailand Pass, Coste ฯลฯ รวมถึงแอปพลิเคชั่นหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) ที่เป็นระบบติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถทำงานได้จริง

หวั่น “แซนด์บอกซ์” ถึงทางตัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาระบบเปิดประเทศดังกล่าวนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ รวมถึงจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการตรวจสอบและคัดกรองต่างชาติผ่านระบบ Thailand Pass ที่พบว่านักท่องเที่ยวบางส่วนอัพโหลดเอกสารไม่ครบก็อนุมัติ QR code หรือกรณีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน เอกสารรับรองผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง และเอกสารการจองโรงแรม

ซึ่งระบบที่ใช้อยู่นั้นเป็นการตรวจสอบด้วยมือที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเอกสารนั้นจริงหรือปลอม แค่แสดงเอกสารครบก็ได้รับอนุมัติให้ผ่านได้ รวมถึงกรณีที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถดาวน์โหลดแอxพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อติดตามตัวได้ ทำให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหาพบนักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อโควิดในสัดส่วนเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการต่างกังวลมากว่า ภูเก็ตแซนด์บอกซ์จะเดินมาถึงทางตัน ไม่สามารถเดินหน้าเปิดประเทศต่อไปได้

“หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าประตูเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะถูกปิดทุกช่องทาง ที่สำคัญจะทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศดับอีกครั้ง เพราะปัจจุบันภูเก็ตเป็นเพียงประตูเดียวที่เปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบของแซนด์บอกซ์ของประเทศไทย และจะเป็นฮับสำคัญในการส่งต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในภูเก็ตแซนด์บอกซ์ตามเงื่อนไข (7 วัน) ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ

กราฟฟิกภูเก็ต

นทท.ติดเชื้อค้างอยู่ รร.120 แห่ง

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตรายหนึ่งเปิดเผยว่า ที่น่ากังวลขณะนี้คือนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการป่วย และไม่ยอมเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากประกันที่ซื้อมาจากต่างประเทศไม่ครอบคลุม ต้องจ่ายเงินเอง เมื่อส่งตัวไปโรงพยาบาลสนามก็หนีออกจากพื้นที่ไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น ๆ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถตรวจสอบที่อยู่ได้ เพราะระบบติดตามตัวหมอชนะไม่ทำงาน ขณะที่ศักยภาพในการรองรับของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญามีไม่เพียงพอสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“ตอนนี้โรงแรมรับภาระหนักมาก จากข้อมูลที่มีการพูดคุยกันของผู้ประกอบการโรงแรมตอนนี้มีนักท่องเที่ยวติดโควิดที่ตกค้างอยู่ในโรงแรมมากกว่า 120 แห่ง ถึงเวลาเช็กเอาต์ก็ไม่ยอมออก เพราะไม่ยากไปจ่ายเงินค่ารักษาในโรงพยาบาล ขณะที่แขกของโรงแรมบางส่วนก็รอเช็กอินเข้าพัก ประสานงานหน่วยงานที่ดูแลก็ยากมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตก็ได้พยายามเชิญชวนผู้ประกอบการโรงแรมเข้าร่วม hospitel และ hotel isolation เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว”

อัดระบบเปิดประเทศมีปัญหา

นางอังคณา ธเนศวิเศษกุล นายกสมาคมโรงแรมหาดกะตะ กะรน จังหวัดภูเก็ต และกรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ในทางปฏิบัติตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ระบบเปิดประเทศแบบไม่กักตัวของประเทศไทยที่ประกาศใช้ไปตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ไม่สามารถใช้งานได้จริง และได้มีการสะท้อนประเด็นปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด

แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาทั้งหมดเกิดจากระบบของแต่ละแอปพลิเคชั่นไม่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างพัฒนาระบบของตัวเอง ไม่คำนึงถึงการนำไปเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นอื่น เวลานำมาใช้งานจริงจึงไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้

ผู้ว่าฯรับสารพัดปัญหารุมเร้า

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของภูเก็ตประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาภายในพื้นที่และปัญหาจากหน่วยงานส่วนกลางที่ดูแลระบบเปิดประเทศทั้งหมดอยู่ เช่น ปัญหาของระบบ Thailand Pass ที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการอนุมัติ QR code ปัญหาประกันที่นักท่องเที่ยวซื้อมาไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายกรณีพบว่าติดเชื้อ ปัญหาการติดตามตัวนักท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาความคล่องตัวในการทำ RT-PCR ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม จังหวัดได้รวบรวมและนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขไปแล้ว ส่วนจะได้รับการแก้ไขเมื่อไหร่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ส่วนปัญหาในพื้นที่นั้น ทางจังหวัดได้พยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดศูนย์ตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 (วันที่ 6/7) รวมถึงการหาทางเพิ่มโรงแรมสำหรับเป็น hospitel ขณะนี้แล้วประมาณ 400-500 ห้อง และโรงแรมที่เป็น hotel isolation อีก 66 แห่ง

ยันเดินหน้าเปิดภูเก็ตปลุก ศก.ต่อ

นายณรงค์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาภูเก็ตเน้นทำงาน 2 เรื่องหลักคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการควบคุมโรค ปัจจุบันในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นถือว่าเดินหน้าไปได้ดี เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากช่วงทดลองภูเก็ตแซนด์บอกซ์ (1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2564) ที่มีต่างชาติเดินทางเข้ามา 400-500 คนต่อวัน แต่หลังจากเปิดประเทศแบบไม่กักตัว (1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา) พบว่ามีต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว หรือประมาณ 4,000-5,000 คนต่อวัน

“เมื่อมีจำนวนต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ติดเชื้อในประเทศเองก็เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของทั่วโลกและของประเทศไทย ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพันกันไปหมด ถามว่าปั่นป่วนวุ่นวายไหมก็ต้องตอบว่ามันก็เป็นปัญหาที่เราต้องอยู่กับมัน เพราะเราอยากให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไป” นายณรงค์กล่าวและย้ำว่า

ยืนยันว่า เวลานี้ภูเก็ตยังมีความพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และพร้อมที่จะเป็นฮับสำหรับส่งต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ครบตามเงื่อนไขแล้วไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ และทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูเก็ต และจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ของประเทศ

เป้านักท่องเที่ยว 3 หมื่นต่อวัน

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวประมาณ 95% จึงตั้งเป้าว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป จะเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ประมาณ 10,000 คนต่อวัน หรือประมาณ 30% ของช่วงปกติ (ก่อนโควิด) หรือประมาณ 300,000 คนต่อเดือน และมีรายได้โดยตรงประมาณ 25,200 ล้านบาทต่อเดือน และเพิ่มเป็นวันละ 15,000 คน ในเดือนมกราคม 2565 หรือประมาณ 450,000 คนต่อเดือน มีรายได้โดยตรงประมาณ 47,250 ล้านบาท

และคาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 350,000 คนต่อเดือน มีรายได้โดยตรงประมาณ 27,300 ล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

“ในช่วงทดลองเปิดภูเก็ตช่วงแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 400-500 คนต่อวัน สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 800-900 คนต่อวัน หรือมีสัดส่วนประมาณ 1.5% ของจำนวนในช่วงปกติเท่านั้น ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังได้รับประโยชน์น้อยมาก ไม่คุ้มกับการกลับมาเปิดให้บริการ ทำให้เราต้องกลับมาตั้งเป้าหมายไว้ที่ 300,000 คนต่อเดือนนั้น เรามองว่าจำนวนดังกล่าวนี้จะเพียงพอสำหรับที่จะทำให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น” นายภูมิกิตติ์กล่าว

5 เดือนรายได้สะพัด 3 หมื่นล้าน

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า โครงการทดลองเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ในช่วงเริ่มต้น 4 เดือนแรก ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2564 ก่อให้เกิดรายได้จากนักท่องเที่ยวทางตรง หรือรายได้จากที่พัก อาหาร บริการทางการแพทย์ ซื้อสินค้าและบริการ ฯลฯ ประมาณ 4,260 ล้านบาท

ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรวม 10,100 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว (จากต่างประเทศ) ที่เข้าภูเก็ต 60,649 คน นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการจ้างงานและรักษาตำแหน่งงานจำนวน 13,759 คน มีผลตอบแทนจากการจ้างาน 1,082 ล้านบาท และทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษี 435 ล้านบาท

ส่วนช่วงที่เป็น “ภูเก็ต test & go” เปิดประเทศแบบไม่กักตัวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564-4 มกราคม 2565 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามารวม 136,843 คน แบ่งเป็น กลุ่ม test & go จำนวน 89,161 คน เป็นชาวต่างชาติ 85,255 คน กลุ่มแซนด์บอกซ์ 47,296 คน เป็นชาวต่างชาติ 46,613 คน และกลุ่ม AQ จำนวน 377 คน เป็นชาวต่างชาติ 355 คน

ทั้งนี้ หากคำนวณการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวในอัตราเฉลี่ยที่ 70,000 บาทต่อคน คาดว่าในช่วง 1 พฤศจิกายน 2564-4 มกราคม 2565 นี้ มีรายได้จากนักท่องเที่ยวทางตรงราว 9,500 ล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรวมกว่า 20,000 ล้านบาท

“หากประเมินรวมตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาของการเปิดภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564-2 มกราคม 2565 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามารวม 197,516 คน ประเมินคร่าว ๆ คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวทางตรงประมาณ 14,000 ล้านบาท และเชื่อว่าทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท” นายศิริปกรณ์กล่าว

สอดรับกับนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่กล่าวว่า ยอมรับว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลก ทุกประเทศทั่วโลกชะลอการเดินทาง ทำให้ผลตอบรับนโยบายเปิดประเทศของไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ สทท.มองว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาและขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศ เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง และทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่ต่อไปได้ หลังจากที่ประสบปัญหามาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

เคาะแซนด์บอกซ์เพิ่ม 3 จว.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าการดำเนินการเปิดประเทศจะมีบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรค ซึ่งรัฐบาลจะยังคงชะลอการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ test & go ออกไปก่อน แต่ยังคงมีนโยบายเดินหน้าเปิดประเทศต่อไป โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างร่วมกันดำเนินการแก้ไข

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดย ศบค.มีมติเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือ sandbox เพิ่มอีกจำนวน 3 จังหวัด/พื้นที่ ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (ทั้งจังหวัด) และกระบี่ (ทั้งจังหวัด) ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 นี้เป็นต้นไป จากเดิมมีจังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) เพียงพื้นที่เดียว

ศบค.เคาะ 69 จังหวัดสีส้ม

วันที่ 7 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบ video conference) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุม ศบค.เห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ โดยเพิ่มจังหวัดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 39 จังหวัด เป็น 69 จังหวัด

จังหวัดที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่ 1.ขอนแก่น 2.จันทบุรี 3.เชียงราย 4.เชียงใหม่ 5.ตราด 6.นครราชสีมา 7.บุรีรัมย์ 8.ประจวบคีรีขันธ์ 9.พระนครศรีอยุธยา 10.เพชรบุรี 11.ระนอง 12.ระยอง 13.เลย 14.สมุทรปราการ 15.สุราษฎร์ธานี 16.สุรินทร์ 17.หนองคาย 18.อุดรธานี 19.กาฬสินธุ์ 20.กำแพงเพชร

21.ฉะเชิงเทรา 22.ชุมพร 23.ชัยนาท 24.ชัยภูมิ 25.ตรัง 26.ตาก 27.นครนายก 28.นครปฐม 29.นครพนม 30.นครศรีธรรมราช 31.นครสวรรค์ 32.นราธิวาส 33.น่าน 34.ปราจีนบุรี 35.ปัตตานี 36.บึงกาฬ 37.พะเยา 38.พัทลุง 39.พิจิตร 40.พิษณุโลก 41.เพชรบูรณ์ 42.แพร่ 43.มหาสารคาม 44.มุกดาหาร 45.แม่ฮ่องสอน 46.ยโสธร 47.ยะลา 48.ร้อยเอ็ด 49.ราชบุรี 50.ลพบุรี

51.ลำปาง 52.ลำพูน 53.ศรีสะเกษ 54.สกลนคร 55.สงขลา 56.สตูล 57.สมุทรสงคราม 58.สมุทรสาคร 59.สระแก้ว 60.สระบุรี 61.สิงห์บุรี 62.สุโขทัย 63.สุพรรณบุรี 64.หนองบัวลำภู 65.อ่างทอง 66.อำนาจเจริญ 67.อุตรดิตถ์ 68.อุทัยธานี และ 69.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ สามารถบริโภคในร้านอาหารได้และเปิดได้ตามปกติ แต่ห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ขณะเดียวกันได้ปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ให้ 1.ขยายระยะเวลา work from home ออกไปอีก 14 วัน แต่ต้องไม่กระทบต่อบริการประชาชน และการดำเนินงานขององค์กร 2.สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เปิดในรูปแบบร้านอาหาร โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ก่อนวันที่ 15 มกราคม 2565 และเริ่มเปิดวันที่ 16 มกราคม 2565

และ 3.ปรับมาตรการในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต บริโภคสุราในร้านอาหารไม่เกิน 21.00 น. และต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ดังนี้ 1.ยกเลิกการกำหนดกลุ่มประเทศเสี่ยงในการเข้าราชอาณาจักร คือประเทศในทวีปแอฟริกาทั้งหมด (รวม 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา) สามารถเข้ามาได้เหมือนประเทศอื่น ๆ แต่ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดแต่ละรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลามไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และหลายประเทศประกาศยกเลิกการจำกัดการเดินทาง

2.เปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 3 จังหวัด/พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา และกระบี่ (ทั้งจังหวัด) ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 โดยผู้เดินทางต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง (ค่าที่พัก 7 วัน และค่าตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง)

3.พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 26 จังหวัด/พื้นที่ ยังดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง แต่เพิ่มมาตรการการบริโภคสุราในร้านอาหาร และเลื่อนการเปิดการดำเนินการพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในระยะที่ 3 จำนวน 5 จังหวัด/พื้นที่ ได้แก่ ตราด (คลองใหญ่) สระแก้ว (เมือง อรัญประเทศ) มุกดาหาร (เมือง) บึงกาฬ อุบลราชธานี (เมือง สิรินธร)


และ 4.ระงับการลงทะเบียนเข้าราชอาณาจักรในรูปแบบ test & go ออกไปก่อน โดยจะมีการประเมินสถานการณ์และพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวและการเดินทางของผู้ที่พำนักในประเทศไทยแล้วเดินทางไปต่างประเทศ และ 5.ระงับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในรูปแบบ test & go สำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติเดินทางเข้ามาภายหลัง 15 มกราคม 2565