ร้านกาแฟสดแห่เปิดล้นเมือง อราบิก้าเถื่อนทะลักชายแดน

ภาพประกอบ ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

ร้านกาแฟสด ช็อก! เจอปัญหาวัตถุดิบขาดตลาด หลังแห่เดินหน้าเปิดสาขาเพียบไม่หยุดทั้งรายเล็กรายใหญ่ ส่งผลเมล็ดกาแฟเถื่อนทะลักชายแดนอื้อ “อราบิก้า” จากลาว-เวียดนาม เน้นขายถูกแค่กิโลกรัมละ 100-200 บาท แบรนด์ดัง “คาเฟ่ อเมซอน-เมซโซ่” รับมือโดดซื้อจากโครงการหลวง บางรายทำสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าจากเกษตรกร รับความต้องการขยายธุรกิจในอนาคต

เมล็ดกาแฟเถื่อนทะลัก

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านกาแฟรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจร้านกาแฟมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท มีอัตราเติบโตสูงช่วง 2-3 ที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ 15-20% และยังมีศักยภาพเติบโตได้อีก เพราะรายใหญ่ทยอยเปิดสาขาต่อเนื่อง ทำให้ตลาดมีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเพิ่มขึ้นมาก แต่วัตถุดิบในประเทศมีจำกัด โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิก้า ผู้ประกอบการบางรายจึงใช้วิธีการขอโควตานำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากเวียดนามและอินโดนีเซีย ทั้งหันมาสนับสนุนและทำสัญญารับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง บางรายก็ร่วมพัฒนาเมล็ดกาแฟให้มีคุณภาพตามที่ต้องการ

“ปัจจุบันผลผลิตเมล็ดกาแฟในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบการบางรายต้องซื้อเกินโควตา และยอมเสียภาษีที่สูงขึ้น เป็นช่องว่างทำให้มีการลักลอบนำเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขาย โลละ 100-200 บาท จากปกติ 300-400 บาท”

แหล่งข่าวยังระบุว่า ที่ผ่านมามีการจับเม็ดกาแฟเถื่อนเป็นระยะ ๆ ส่วนใหญ่เป็นอราบิก้า เช่น เดือนมิถุนายน 2560 กรมศุลกากรจับเมล็ดกาแฟลักลอบหนีภาษีได้ถึง 50,000 กิโลกรัม มูลค่า 7.5 ล้านบาทที่จังหวัดเชียงรายตามแนวตะเข็บชายแดนและเตรียมขนถ่ายเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ จากก่อนหน้านี้มีการจับกุมกาแฟดิบได้ 7 ตัน มีมูลค่ารวมกว่า 1.4 ล้านบาท ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม ผ่านมาทางประเทศกัมพูชา

เตรียมรับมือเมล็ดกาแฟขาด

นายสุชาติ ระมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบริโภคกาแฟที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้วันนี้เมล็ดกาแฟที่ผลิตได้ในประเทศเทียบกับการบริโภคเริ่มมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟมากขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ที่ขยายตัว แต่ไทยยังต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศ และคาดว่าภายในอีก 2-3 ปี ผลผลิตในประเทศอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ

สำหรับคาเฟ่อเมซอนหลัก ๆ ใช้เมล็ดกาแฟในประเทศที่เป็นการซื้อจากโครงการหลวงและประมูลจากเกษตรกร ส่วนโรงงานคั่วที่วังน้อย อยุธยา ล่าสุดเพิ่งทุ่มงบฯ 200 ล้านบาท เพิ่มเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 3 เท่า เพื่อรองรับการขยายสาขาใหม่ได้อีกหลายปี ซึ่งปี 2561 จะเปิดเพิ่มอีก 300 สาขา จากสิ้นปี 2560 มีประมาณ 2,000 สาขา

ขณะที่นายธนาวัฒน์ จิระเสวีจินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมซโซ่ จำกัด ร้านกาแฟ “เมซโซ่” กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า การผู้เล่นในธุรกิจร้านกาแฟมีมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้วัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีการขยายการปลูกเพิ่มขึ้น แต่ซัพพลายมีไม่ทันดีมานด์ ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และกระทบกับแบรนด์ที่เจาะตลาดล่าง ส่วนรายใหญ่ก็จะแก้ปัญหาด้วยการขอโควตานำเข้าเมล็ดกาแฟมาเสริม สำหรับเมซโซ่เองหลัก ๆ ยังคงใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด และมีแผนจะซื้อเมล็ดกาแฟดิบล่วงหน้าให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการขยายธุรกิจ

แบรนด์ใหญ่เปิดสาขาไม่หยุด

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการร้านกาแฟอีกรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ล่าสุด ในปี 2561 นี้ร้านกาแฟรายใหญ่ยังมีแผนจะเดินหน้าลงทุนขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น สตาร์บัคส์ ตั้งเป้าจะเปิด 400 สาขา ภายในปี 2562 จากปัจจุบันมี 322 สาขาทั่วประเทศ ขณะที่ คาเฟ่ อเมซอน ของ ปตท.ค้าปลีก ก็มีแผนเปิดเพิ่มอีก 300 สาขา ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน จากเดิมที่มีสาขามากกว่า 2,000 สาขา เช่นเดียวกับซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ที่ยังเดินหน้าเพิ่มมุมกาแฟสด “ออลล์ คาเฟ่” และ “คัดสรร” ในเซเว่นอีเลฟเว่น จากปี 2560 ที่เปิดจุดขายไปแล้วมากกว่า 3,500 สาขา รวมทั้งการเปิดร้านกาแฟ “เบลลินี่ เบค แอนด์ บรู” นอกร้านเซเว่นฯ เพิ่มขึ้น จากเดิมมีประมาณ 25 สาขา เช่นเดียวกับกาแฟมวลชน ที่มีร้านราว 150 สาขาก็เดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องด้วยโมเดลแฟรนไชส์

ส่วน ทรูคอฟฟี่ ก็มีแผนจะทยอยเปิดสาขาเพิ่มจากเดิมที่มีประมาณ 280 แห่ง โดยเน้นทำเลในอาคารสำนักงาน และมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับร้านกาแฟอินทนิล ของบางจาก ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 400 แห่ง ก็มีนโยบายเชิงรุกโดยตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 1,000 สาขา ภายใน 3-5 ปี ด้วยการจับมือกับธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนผู้สนใจลงทุนแฟรนไชส์ร้านอินทนิล ด้านอโรมากรุ๊ป เจ้าของธุรกิจกาแฟคั่วบด ร้านกาแฟ “ชาวดอย” และ “94 คอฟฟี่” ก็ยังเดินหน้าขยายธุรกิจไม่หยุด โดยใช้แบรนด์ “ชาวดอย” เป็นหัวหอก ในรูปของแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีกว่า 300 สาขา ส่วน “94 คอฟฟี่” จะมีการทยอยปรับโฉมร้านใหม่และเปิดสาขาเพิ่ม จากที่มีอยู่มากกว่า 10 สาขา

สำหรับร้านกาแฟ คาเฟ ดิโอโร่ ของบริษัท โกลเด้น ครีม จำกัด ก็กางแผนเชิงรุกในช่วงปี 2560-2561 ทั้งขยายสาขาใหม่รีโนเวตร้านเดิม รวมทั้งการทำกิจกรรมการตลาด เน้นเปิดสาขาในพื้นที่ชุมชนนอกศูนย์การค้า เช่น อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล จากเดิมมีอยู่มากกว่า 120 สาขา ควบคู่กันนี้ก็จะเน้นการขายแฟรนไชส์ ร้านกาแฟ “เฟิร์สท์ คัพ คอฟฟี่” มากขึ้น จากปัจจุบันมีราว 35-40 สาขา