Fear and Greed Index คืออะไร? รู้จักดัชนีความกลัว-โลภของนักลงทุน

ดัชนี Fear and Greed Index

Fear and Greed Index คืออะไร รู้จัก “ดัชนีวัดอารมณ์ตลาด” จากความกลัวและความโลภของนักลงทุน 

เมื่อความกลัวและโลภเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการลงทุน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนมักมีสิ่งที่เรียกว่า “อารมณ์” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ นั่นหมายความว่าระดับความกลัวและความโลภจะแสดงถึงความรู้สึกของนักลงทุนที่มีต่อตลาดการลงทุนในขณะนั้น ซึ่งสภาวะตลาดการลงทุนก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นสุดขีดหรือดึงลงต่ำสุด

“ประชาชาติธุรกิจ” พามารู้จักกับ Fear & Greed Index หรือดัชนีวัดความกลัวและความโลภของนักลงทุน ที่จะวัดความรู้สึกและอารมณ์ของนักลงทุนและเป็นตัวที่สะท้อนถึงสภาวะของตลาดได้เป็นอย่างดี

Fear and Greed Index คืออะไร

Fear and Greed Index คือดัชนีความกลัวและความโลภ ซึ่งใช้วัดดูพฤติกรรมที่แสดงออกมาทาง “อารมณ์” ของนักลงทุนในตลาด ว่ากำลังมีอารมณ์ไปในทางกลัวหรือโลภมากกว่ากัน และแสดงให้เห็นว่าตลาดอยู่ในสภาวะ “ขาขึ้นหรือขาลง”

ซึ่งปัจจุบัน Fear & Greed Index ที่พัฒนาโดย CNNMoney เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากในตลาดหุ้น และสำหรับตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเองก็มีดัชนี Crypto Fear & Greed Index ด้วยเช่นกัน โดยดัชนีจะมีการอัปเดตทุก ๆ 8 ชั่วโมง และสามารถใช้งานได้ผ่านทางเว็บไซต์ alternative

ระดับความกลัวและความโลภ

ระดับค่าความกลัวและความโลภอยู่ระหว่าง 0-100 แบ่งเป็นระดับ ได้ดังนี้

ที่ระดับ 0-24 (Extreme Fear) = สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความกลัวขั้นสุด เกิดการขาดทุนที่มาก จนหลายคนอยากจะขาย

ที่ระดับ 25-49 (Fear) = สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดยังมีความกลัวอยู่เล็กน้อย

ที่ระดับ 50 (Neutral) = สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ที่ระดับ 51-75 (Greed) = สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความโลภ

ที่ระดับ 75-100 (Extreme Greed) = สภาวะที่นักลงทุนหรือตลาดมีความโลภขั้นสุด เกิดอารมณ์ FOMO (Fear of missing out) คืออาการกลัวตกข่าว กลัวตกเทรนด์ ทำให้รู้สึกกังวลว่าตัวเองจะพลาดเรื่องอะไรไปตลอดเวลา จนทำให้รู้สึกเป็นกังวล

ตัวอย่าง fear and greed index
รูปภาพจากเว็บไซต์ : economymiddleeast.com

Fear and Greed Index คำนวณจากอะไร?

ดัชนีทุกประเภทล้วนเป็นผลลัพธ์จากการนำข้อมูลตัวเลขจากหลาย ๆ แหล่งที่เกี่ยวข้องเข้ามาคำนวณร่วมกัน ซึ่งจะขอตัวอย่างการคำนวณ Crypto Fear & Greed จากเว็บไซต์ alternative.me โดยปัจจัย (Data Sources) ที่ถูกนำมาคำนวณมีดังต่อไปนี้

ความผันผวนของตลาดเทียบกับความผันผวนเฉลี่ยตามช่วงเวลาที่เลือก (Volatility) 25%

เป็นการคำนวณโดยดูจากความผันผวนกับ Maximum Drawdown ของราคา Bitcoin และนำไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน และ 90 วัน โดยยิ่งมีความผันผวนมากเท่าไหร่ อาจสะท้อนว่าตลาดมีความกลัวมากเท่านั้น

ปริมาณการซื้อขายของตลาด (Volume) 25%

เป็นการคำนวณปริมาณซื้อขายร่วมกับแนวโน้มของตลาด (เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 30/90 วัน) โดยหากมีปริมาณซื้อขายสูงขึ้นอาจสะท้อนว่าตลาดกำลังมีความโลภเพิ่มขึ้น

การพูดถึงบนสังคมออนไลน์ (Social Media) 15%

เป็นการตรวจสอบว่า คำว่า Bitcoin หรือคำที่เกี่ยวข้องถูกพูดถึงบ่อยแค่ไหนบนโซเชียลมีเดีย เช่น ดูจาก # (Hashtag) บน Twitter ว่าถูกกล่าวถึงบ่อยแค่ไหนในระยะเวลาหนึ่ง ยิ่งถูกพูดถึงบ่อยก็เท่ากับว่าคนกำลังให้ความสนใจ และตลาดกำลังมีความโลภมากขึ้นเท่านั้น

การถือครอง (Dominance) 10%

เป็นการคำนวณโดยดูว่า Bitcoin กำลังมีสัดส่วนเป็นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดคริปโตทั้งหมด โดยมองว่าถ้า Bitcoin มีส่วนแบ่งในตลาดคริปโตเยอะ หมายความว่านักลงทุนกำลังกังวลว่าเหรียญเล็ก ๆ หรือ Altcoin มีความเสี่ยงมากเกินไป จึงต้องการหาที่หลบภัย กลับกัน หาก Bitcoin มีส่วนแบ่งตลาดน้อยลง หมายความว่านักลงทุนเข้าซื้อ Altcoin เพราะคาดหวังว่าจะได้กำไรมากกว่า เท่ากับว่าตลาดกำลังมีความโลภมากขึ้น

แบบสำรวจ (Trends) 10%

เป็นการวิเคราะห์จาก Google Trends เพื่อดูว่ามีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องมากไหม โดยดูทั้งเรื่องของจำนวนการค้นหา และคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าดูว่ามีการค้นหาคำว่า Bitcoin เพิ่มมากขึ้นแค่ไหนอย่างเดียว อาจให้ข้อมูลได้ไม่มากนัก แต่ถ้าดูคำค้นหาที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น ถ้าคำที่เกี่ยวกับข้องมีคำว่า “bitcoin price manipulation” (การปั่นราคา bitcoin) ถูกค้นหาเพิ่มมากขึ้น 1,550% ก็อาจสะท้อนได้ว่าตลาดกำลังมีความกลัวมากขึ้น เป็นต้น

การดู Fear and Greed Index สำคัญไหม?

การใช้ Fear and Greed Index จะช่วยให้ลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดคริปโตได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อดัชนี Fear and Greed มีค่าต่ำ แสดงว่าตลาดมีความกลัวเป็นอย่างมาก และนั่นอาจจะหมายถึงโอกาสสำหรับการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ในยามที่ราคาลดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อดัชนีมีค่าสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่านักลงทุนในตลาดกำลังอยู่ในสภาวะที่โลภมากขึ้น และอาจจะบ่งชี้ว่าราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลจะลดลงในไม่ช้า ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขาย

ยิ่งไปกว่านั้น Fear and Greed Index ยังช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาด ตัวอย่างเช่น การแกว่งตัวครั้งใหญ่ในตลาด อาจทำให้ดัชนีเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน และนี่คือจุดที่นักลงทุนทุกคนควรพิจารณา

สุดท้ายเมื่อพูดถึงการซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือสินทรัพย์ดิจิทัล คำแนะนำทั่วไปคือไม่ควรยึดติดกับตัวบ่งชี้หรือดัชนีเพียงตัวเดียว แม้ว่าดัชนีความกลัวและความโลภเป็นตัวบ่งชี้ที่มีประโยชน์ แต่ต้องรู้ไว้ว่านี่ไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่คุณจะใช้ในการตัดสินใจซื้อขายทั้งหมดของคุณ ตัวอย่างเช่น ตลาดที่น่ากลัวบางครั้งอาจเป็นเวลาที่ดีในการซื้อ ในขณะที่เมื่อราคาตกต่ำ ในขณะที่ช่วงเวลาแห่งความโลภอาจกลายเป็นโอกาสในการขาย