บลจ.ไทยพาณิชย์ ออกกอง LTF เน้นผสมกลยุทธ์ลงทุนเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน

บลจ.ไทยพาณิชย์ ออกกอง LTF เน้นผสมกลยุทธ์ลงทุนเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน มองศก.โลก-ไทยหนุนตลาดหุ้น ชี้ปี 61 กำไรบจ.โต 10-12%

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่าบริษัทฯ ออกกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวซีเล็คท์ (SCB Selects Long Term Equity Fund : SCBLTSE) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีพื้นฐานดีมั่นคงมีแนวโน้มเจริญเติบโตสูง รวมถึงตราสารทุนหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงผลตอบแทนของหุ้นหรือกลุ่มหุ้นของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว โดยเฉลี่ยในรอบบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม และอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน การบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้เพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันนี้-23 เมษายน 2561 นี้ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่าภาพรวมการลงทุนตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องในปีนี้ จากการที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกมีการขยายตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตมากขึ้นจากการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้การอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี2561 คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 10-12% ทำให้ ณ ระดับปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีการซื้อขายอยู่ที่ระดับ PE 15.7 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ไม่แพง

โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวซีเล็คท์ เป็นกองทุนที่บริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนหุ้นไทยที่มีประสบการณ์ยาวนาน มีกองทุนภายใต้การบริหารที่ได้รับการจัดอันดับมอร์นิ่งสตาร์ 5ดาว* และ 4 ดาว* (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561)โดยกองทุนนี้เน้นสร้างผลตอบแทนเหนือตลาดอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีข้อจำกัดการลงทุน มีการใช้กลยุทธ์ที่ผสมผสานหลากหลายโมเดลการลงทุนให้เหมาะสมตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งในแต่ละโมเดลการลงทุนมีการคัดเลือกหุ้นที่ผู้จัดการกองทุนมีความเชื่อมั่นว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนได้สูงที่สุด


สำหรับโมเดลการลงทุน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การพิจารณาปัจจัยพื้นฐานและทีมบริหาร เพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีในราคาที่เหมาะสม การพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจมหาภาค เพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์ที่อาจได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ตลอดจนการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Machine Learning) และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพในการพิจารณากว่า 200 ปัจจัยการลงทุนเพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับสถาณการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งครอบคลุมหุ้นกว่า 178 ตัว ขณะเดียวกันยังบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยมีการประเมิน ควบคุม ติดตาม และรายงานความเสี่ยงที่สำคัญต่อพอร์ตการลงทุนด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม เช่น พิจารณาจากค่าความเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (Beta) และค่าความเบี่ยงเบนของผลตอบแทนจากเกณฑ์มาตรฐาน (Tracking Error) เป็นต้น เพื่อมุ่งเน้นการหาผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม