ถึงเวลา…บังคับคนไทยออม เร่งดันคลอดกฎหมาย กบช.

ภาพประกอบข่าวเงิน-ออม-ลงทุน - Facebook Preview

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องรายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายดำรงชีพ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนไทยวัยเกษียณจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังขาดการเตรียมความพร้อม ขาดความรู้ทางการเงินและการออมที่ดี

คนไทยเงินไม่พอใช้ยามเกษียณ

โดยงานสัมมนาออนไลน์ The Retirement Plan Symposium ครั้งที่ 6 “เจาะลึก กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. 2564” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนพรินซิเพิล จำกัด เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ณัฐญา นิยมานุสร” ผู้ช่วยเลขาธิการสายธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สะท้อนว่า ปัจจุบันประชากรไทยที่มีอยู่ประมาณ 67 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในวัยแรงงานราว 38 ล้านคน และใน 38 ล้านคนดังกล่าวอยู่ในแรงงานภาคเอกชน 15 ล้านคน

แต่มีเพียงแค่ประมาณ 3 ล้านคน หรือสัดส่วนราว 18.8% เท่านั้นที่นายจ้างมีสวัสดิการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งเป็นการช่วยกันออมเงินไว้สำหรับวัยเกษียณให้แก่ลูกจ้าง ที่เหลืออีกกว่า 80% คือแรงงานภาคเอกชนที่ไม่ได้มีสวัสดิการกองทุนเลี้ยงชีพ

ขณะที่ในมุมนายจ้าง พบว่ามีนายจ้างเพียง 20,000 ราย หรือแค่ 3% ของนายจ้างทั่วประเทศเท่านั้นที่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้าง ด้านข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง พบว่ากองทุนเพื่อการเกษียณกองอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนประกันสังคมมีสมาชิกทั้งสิ้น 16,574,484 คน (ณ พ.ค. 2564) ขณะที่กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เป็นกองทุนภาคสมัครใจของกลุ่มแรงงานอิสระนั้น ปัจจุบันมีสมาชิก 2,284,852 คน ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มีสมาชิกทั้งสิ้น 1,165,165 คน

เร่งดัน กบช.ออมภาคบังคับ

“ณัฐญา” กล่าวว่า จะเห็นได้ว่ายังมีสัดส่วนประชากรอีกมากที่ยังไม่มีเงินออมเพื่อวัยเกษียณ จึงเป็นที่มาของการผลักดันกฎหมายจัดจ้างกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ขึ้นมาเพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี เพื่อให้แรงงานในระบบได้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม

นอกจากนี้ กบช.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้มีระบบข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการยกระดับการบริหารจัดการระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทั้งระบบ

“ณัฐญา” บอกว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบและปรับแก้ไขข้อกฎหมายกับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็ร่างกฎหมายจะถูกส่งเข้าพิจารณาในขั้นตอนรัฐสภาและบังคับใช้ต่อไป

“หลังจากประกาศบังคับใช้ จากนั้นจะมีเวลาให้อีก 1 ปีสำหรับการที่นายจ้างจะต้องดำเนินการส่งเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งกิจการที่จะโดนบังคับให้นำลูกจ้างเข้าสู่ กบช.เป็นกลุ่มแรก คือ กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล กิจการที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชน รวมทั้งหน่วยงานรัฐบาลที่ไม่ได้อยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น” นางณัฐญากล่าว

เพิ่มเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ

ขณะที่ “สุปาณี จันทรมาศ” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการออม การลงทุนและพัฒนาตลาดทุน สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เคยมีมาก่อน จะเป็นระบบออมแบบสมัครใจ ซึ่งมีมานานกว่า 34 ปี แต่มีสมาชิกในกองทุนแค่เพียง 3 ล้านคน จากเป้าหมายที่วางไว้ของจำนวนแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม 12 ล้านคน

โดยที่ปัจจุบันแรงงานที่เกษียณจะได้รับเงินเฉพาะในส่วนของบำนาญจากประกันสังคมสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน จากรายได้เฉลี่ย 16,000 บาทต่อเดือน ซึ่งยังไม่ถึง 20% ของเงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับ ถือว่ายังต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะได้รับไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งเมื่อมี กบช.น่าจะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดอยู่ 30% ได้ เพื่อให้ถึง 50% ตามเป้าหมาย

“ผู้เกษียณอายุแล้วบางรายที่เป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ก็สามารถใช้กองทุนเดิมได้ แต่หากมีความสนใจย้ายมาเป็นสมาชิกใน กบช.ก็ได้เช่นกัน โดยสามารถเลือกได้แต่จะบังคับให้ต้องมีกองทุนใดกองทุนหนึ่งไว้ออมเงินสำหรับวัยเกษียณ” นางสาวสุปาณีกล่าว

ปรับเกณฑ์สำรองเลี้ยงชีพ

นอกจากนี้ “ณัฐญา” กล่าวด้วยว่า ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้เตรียมแผนแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้สอดคล้องกับ กบช. เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจอาจมีความยืดหยุ่นในหลายส่วน จึงต้องมีการปรับแก้ไขเพื่อให้มีคุณสมบัติและลักษณะเทียบเท่า กบช.ที่เป็นภาคบังคับ

“ลักษณะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับ กบช. หรือ Qualified PVD จะต้องมีลักษณะอัตราเงินสะสม-เงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราที่ กบช.กำหนดไว้ จากเดิมที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดไว้เริ่มต้นที่ 2-15% จะต้องปรับขึ้นมาให้เท่ากับ กบช.ที่ 3-10% ต่อมาคือลักษณะอายุที่จะได้รับเงินคืน แต่เดิมกำหนดที่อายุ 55 ปีหรือเกษียณ จะต้องปรับให้อายุต้องครบ 60 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับทาง กบช.”

นอกจากนี้ การเลือกนโยบายการลงทุน หากสมาชิกไม่ได้เลือกนโยบายการลงทุนไว้เอง จะต้องมีการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น หรือมีนโยบายการลงทุนที่เรียกว่า life path คือนโยบายที่ปรับสัดส่วนการลงทุนให้สมดุลกับอายุ

อีกส่วนคือ จะต้องไม่มีเงื่อนไขในจำนวนเงินที่สมาชิกจะได้รับคืน และสุดท้ายคือ คุณสมบัติของสมาชิกแต่เดิมที่ลูกจ้างจะต้องสมัครเข้ากองทุนเท่านั้น ในส่วนนี้จะถูกปรับให้ลูกจ้างทุกคนที่มีอายุ 15-60 ปีเข้าเป็นสมาชิกทันที (auto enrollment)

“สำนักงาน ก.ล.ต.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในปี 2564 เพื่อให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ.กบช.” ผู้ช่วยเลขาธิการสายธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต.กล่าว


จากภาพทั้งหมดนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องบังคับให้คนไทย “ออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ” เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาวได้