ส่องโอกาสลงทุนหุ้นจีน หลังแดนมังกรจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่

การออกกฎหมายควบคุมธุรกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลจีน ทั้งในกรณีของ Alibaba, Didi มาจนถึงธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบทำให้ผลตอบแทนกองทุนหุ้นจีนหลายตัวเฉลี่ยติดลบค่อนข้างหนัก สร้างความกังวลให้นักลงทุนถึงแนวโน้มที่รัฐบาลอาจขยายการควบคุมไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นตามมาอีก

โดยกองทุนหุ้นจีนได้รับผลกระทบผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนติดลบลงไป อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” พบว่า ยังมีกองทุนที่ยังสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564

โดยสูงสุดเป็นกองทุน Greater China (GC) ให้ผลตอบแทนที่ 12.59% รองลงมา คือ กองทุน UOB Smart Greater China (UOBSGC) ให้ผลตอบแทนที่ 8.04% ทั้งสองกองเป็นของ บลจ.ยูโอบี (ดูตาราง)

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปีนี้มีกองทุนหุ้นจีนเปิดใหม่ 16 กองทุน (ณ 2 ส.ค.2564) จาก 10 บลจ. ในจำนวนนี้เป็นการเปิดกองทุนในไตรมาส 2 เป็นส่วนใหญ่

รวม 12 กองทุน ซึ่งกองทุน TISCO China Consumer เป็นกองทุนหุ้นจีนเปิดใหม่ที่มีมูลค่ามากสุด 3,200 ล้านบาท

“ประเด็นเกณฑ์การควบคุมธุรกิจจีนบางประเภท ทำให้กองทุนหุ้นจีนส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนติดลบ ประกอบกับเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนหุ้นจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นส่วนให้การออกกองทุนหุ้นจีนอาจมีแนวโน้มชะลอลงตามไปด้วย”

ขณะที่ในงานสัมมนาออนไลน์ “ส่องกองทุนหุ้นแดนมังกร ลงทุนอย่างไรให้รุ่งกับกองทุน MCHEVO” ในหัวข้อ “ทิศทางจีนหลังยุค COVID-19 : China’s Post-COVID-19 และการลงทุนใน China Evolution”

ที่จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี เมื่อเร็ว ๆ นี้ “บดินทร์ พุทธอินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) กล่าวว่า

ผลกระทบจากการควบคุมด้านกฎระเบียบการผูกขาดตลาด ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีการปรับฐานลงหนักในช่วงที่ผ่านมา

โดยมีหลายบริษัทได้รับผลกระทบ ทั้งด้านการผูกขาดทางการค้า ด้านกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ และด้านการควบคุมการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้

“ประเด็นล่าสุด คือ กลุ่มติวเตอร์ออนไลน์ที่ถูกเข้ามาควบคุมและออกกฎต่าง ๆ อย่างเข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่จำกัดชั่วโมงการเรียน และล่าสุดถูกจัดให้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร

ส่งผลให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลงไปประมาณ 90% จากจุดสูงสุด ซึ่งประเด็นนี้เองกำลังสร้างความกังวลให้นักลงทุน ว่ามีการขยายการควบคุมไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นด้วยหรือไม่”

จีนจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่

“ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางการจีนเข้ามาจัดระเบียบหลายธุรกิจที่อยู่ในตลาดทุน เพื่อต้องการที่จะตัดไฟแต่ต้นลมป้องกันผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

“การจัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และลดค่าใช้จ่ายพ่อแม่ผู้ปกครองจีนเพื่อจูงใจให้มีลูกคนที่สาม หวังให้ในอนาคตประชากรจีนมีสัดส่วนคนวัยหนุ่มสาวสมดุลกับคนสูงวัยมากขึ้น

ส่วนกรณี Ant Financial ที่ปล่อยกู้ง่าย ผ่าน FinTech แต่สร้างปัญหาหนี้ครัวเรือนที่จะกระทบกับระบบการเงินจีน”

ภาพรวมเศรษฐกิจจีนโตดี

“ดร.อักษรศรี” กล่าวว่า ภาพใหญ่มองว่าจีนจะฟื้นตัวและเติบโตได้ดี เพราะท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 จีนเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เศรษฐกิจปีที่แล้ว (2563) ขยายตัวได้ 2.3%

ขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกแย่กว่านี้ ส่วนปี 2564 นี้ ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจีนก็ไปได้สวย โดยไตรมาส 1 โต18.3% และไตรมาส 2 โต 7.9%

“ดังนั้น เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัวดี ดัชนีภาคการบริโภค การผลิตและการส่งออกของจีนก็พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัญญาณเชิงบวกที่จะทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ แม้ว่าจีนจะมีข่าวในการจัดระเบียบตลาดทุนเข้ามากระทบ แต่ในภาพใหญ่จีนจะฟื้นตัวและเติบโตได้ดีแน่นอน”

โอกาสจากนโยบายที่ปรับเปลี่ยน

“นาวิน อินทรสมบัติ” Chief InvestmentOfficer รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นจีน

จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและการบริโภค ที่จะสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในระยะยาวอาทิ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์

ตามยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่จะเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศให้ได้ถึง 70% ภายในปี 2568

ต่อมากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2603 และกลุ่มสุขภาพ ที่รัฐบาลจีนต้องการให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่เหมาะสม

รวมถึงสนับสนุนการลงทุนและวิจัยเพื่อพัฒนายาและนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ

ด้าน “ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา” Chief Economist กองทุนบัวหลวง กล่าวว่า ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14

ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด มองว่า รัฐบาลจีนต้องการให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “xiaokang shehui” ซึ่งหมายถึง สังคมที่อยู่ดีกินดี ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

“จีนมองว่าหลังโควิดจะเน้นพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องขับเคลื่อนการส่งออกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ลดอุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมลง และมีเทคโนโลยีสีเขียวสมัยใหม่มากขึ้น”

กลุ่มธุรกิจเด่นรับนโยบายใหม่จีน

ฟาก “เชาวน์กร โชติบัณฑ์” Head of Investment Strategy บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า มี 5 กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนในอนาคต

ได้แก่ 1.กลุ่มการบริโภคที่เป็นจุดขายหลักของจีน หลังรายได้ของชนชั้นกลางยังคงเติบโตต่อเนื่อง คาดตลาดการบริโภคของจีนจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 55-60% ของ GDP ในปี 2573

2.กลุ่มเทคโนโลยี จีนจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับแอปพลิเคชั่น 5G ทั่วโลก, ส่งผลให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีการเติบโตต่อเนื่อง จีนยังคงสนับสนุนด้าน AI, big data และ digital

3.กลุ่มอุตสาหกรรม ที่สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยี 5G นำมาสู่การใช้ robot, automation และ AI เพื่อมาเป็นเครื่องทุ่นแรงในขณะที่มีผลิตภาพเพิ่มมากขึ้น

4.ธุรกิจกลุ่มพลังงานสะอาด จีนมุ่งเน้นพลังงานสะอาดและมียอดขายรถ EV มากสุดในโลก และมีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดที่สูงที่สุดในโลก

5.กลุ่มสาธารณสุข (healthcare) มีโอกาสเติบโตได้อีกมากจากจำนวนผู้สูงอายุของจีนที่มากขึ้น 24% เป็น 33% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพอย่างมาก

ทั้งหมดนี้ แม้ตลาดหุ้นจีนช่วงนี้จะมีความเสี่ยง แต่ระยะยาวผู้เชี่ยวชาญและบรรดาผู้จัดการกองทุนต่างยังคงมองว่าจีนจะเป็นประเทศที่เติบโตได้ดีท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกและเป็นตลาดที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน จากนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก