เมื่อกองทุนหุ้นจีนหลุด “ดาวเด่น” เปิดโผ 10 อันดับรีเทิร์นร่วงหนัก

เงินหยวน

การออกกฎหมายควบคุมธุรกิจต่าง ๆ ของทางการจีน ทำให้กองทุนหุ้นจีนที่เคยเป็นดาวเด่นในปีที่แล้วกลับเป็นกองทุนที่ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดและต่ำที่สุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

โดยข้อมูลของ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช จำกัด ระบุว่า กลุ่มกองทุนหุ้นจีนที่มีเงินไหลเข้าสูงในปีนี้ มีเม็ดเงินไหลเข้าเพียง 1,400 ล้านบาทในเดือน ก.ค. ส่งผลให้ภาพรวมผลตอบแทนสะสมของกองทุนหุ้นจีนทั้งหมดตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน ก.ค.

เฉลี่ยติดลบไป 6.1% ตรงข้ามกับทั้งปีที่แล้วบวกเฉลี่ย 19% ซึ่งจากเม็ดเงินชะลอตัวและผลตอบแทนติดลบ ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงไปเหลือ 1.7 แสนล้านบาทหรือลดลงราว 10% จากเดือน มิ.ย.

กองหุ้นจีนรีเทิร์นฮวบหนัก

ทั้งนี้ กองทุนที่มีผลตอบแทนติดลบมากสุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คือ กองทุน BCAP China Technology

ที่ -16.6% ขณะที่ผลตอบแทนสะสมต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ -26.15% โดยกองทุนดังกล่าวลงทุนไปที่กองทุนจากInvesco และ KraneShares ซึ่งทั้งสองกองมีสัดส่วนการลงทุนใน Tencent Holdings สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของพอร์ต

ขณะที่กองทุน Asset plus China มีผลตอบแทนติดลบเป็นอันดับที่สองที่ -14.68% และผลตอบแทนสะสมต้นปีถึงปัจจุบันที่ -6.44% และกองทุน WE-CANAB มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 เดือนที่ -11.93%

จากข่าวเชิงลบที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่การลงคะแนนเสียงของวุฒิสภายังไม่มากพอที่จะทำให้กัญชาเป็นพืชที่ถูกกฎหมายในระดับประเทศ

ส่วนกองทุน United All China Equity มีการลงทุนไปที่กองทุน UBS All China และ TMB China Opportunity มีการลงทุนไปที่ UBS China Opportunity แม้จะเป็นคนละกองทุน

แต่มีหน้าตาพอร์ตที่ค่อนข้างคล้ายกัน มีการลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเกี่ยวกับการศึกษาและการควบคุม/จำกัดเวลาการเล่นเกม ส่งผลให้ต่างก็ติดลบกันไปกว่า -11% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ดูตาราง)

“มอร์นิ่งสตาร์” ชี้ตลาดแพนิก

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ฯ กล่าวว่า กองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนติดลบจากมาตรการจากทางภาครัฐ ซึ่งถือเป็นลักษณะหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ที่อยู่ในช่วงพัฒนา ทางการจึงมีการออกเกณฑ์ต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการเติบโต

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้อาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนไปบ้าง แต่ความจริง เพียงแต่กระทบในธุรกิจบางประเภท และอาจมีความตื่นตระหนกมากเกินไปในบางกรณี เช่น

การจำกัดเวลาการเล่นเกมสำหรับเด็ก/เยาวชน จะส่งผลต่อ Tencent ที่เป็นบริษัทไอทีอันดับ 1 ของจีนไม่มาก ตามสัดส่วนผู้ใช้งานเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใหญ่ เป็นต้น

หุ้นจีนยังน่าสนใจหลังปรับฐาน

“ก่อนนี้จีนก็เคยมีการออกกฎลักษณะคล้ายกันในปีที่แล้ว การจำกัดเวลาสำหรับเยาวชน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างไรก็ดี การลงทุนในจีนยังมีความเสี่ยงในประเด็นเหล่านี้ได้ในอนาคต แต่หากมองในแง่ผลตอบแทนและความเสี่ยง ตลาดจีนยังถือว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจ” นางสาวชญานีกล่าว

ขณะที่ “เสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค” ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า ตลาดหุ้นจีนที่มีการปรับฐานในช่วงที่ผ่านมา บวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาวที่อาจเติบโตต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ช่วงกลาง หรือ mid cycle หลังผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว ยังคงมีความน่าสนใจอยู่

“บลจ.กรุงไทย” แนะทยอยสะสม

ด้าน “ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า กองทุนหุ้นจีนเคยมีช่วงที่ผลตอบแทนพุ่งขึ้นไปสูงมาก ๆ

และช่วงนี้เป็นช่วงที่ลงมาต่ำมาก ๆ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนได้รับผลกระทบในเชิงลบ อย่างไรก็ดี มองว่าจีนยังคงเติบโตได้ เพียงแต่ความกังวลของนักลงทุนยังคงมีอยู่มาก

“นักลงทุนยังไม่มั่นใจว่า จีนจะจัดระเบียบภายในประเทศได้จบสิ้นเมื่อไหร่ ซึ่งอาจจะยังไม่จบ อาจจะมีประเด็นอื่น ๆ ที่จีนกำลังจับตาดูอยู่ แต่ที่ผ่านมาจีนก็ทยอยจัดการควบคุมปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องบริษัทเทคโนโลยีและโรงเรียนกวดวิชา รวมถึงเรื่องของจำกัดเวลาเล่นเกมในวัยรุ่น” นางชวินดากล่าว

ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย บอกว่า นักลงทุนยังสามารถทยอยเข้าสะสมกองทุนหุ้นจีนได้ เพราะหากเทียบกับสหรัฐในเรื่องของเทคโนโลยี จีนยังคงน่าสนใจมากกว่า โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีการขายกันออกมามาก ทำให้ราคาลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

“ในระยะยาวมองว่า จีนยังคงน่าสนใจ เพราะเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่ยังมีโอกาสเติบโตที่ดี รวมถึง consumer power (อำนาจของผู้บริโภค) แข็งแกร่งด้วยจำนวนประชากรที่มาก

แต่แน่นอนว่าในระยะสั้นก็อาจจะยังได้รับความผันผวนอยู่จากกฎระเบียบ ถ้าหากจีนสามารถควบคุมได้ และประเด็นต่าง ๆ ยุติลงก็จะมีการรีบาวนด์ กลับเข้ามาอยู่ในสภาวะที่ดีได้” นางชวินดากล่าว

“ยูโอบี” เตือนมรสุมยังไม่จบ

“ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนกังวลมากที่สุดในตอนนี้ คือเรื่อง “ความไม่เท่าเทียม” และ “การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม” ทำให้คนในประเทศไม่มีความสุข

โดยในช่วงต้นของการเปลี่ยนแผนเศรษฐกิจ ทางการจีนมักจะใช้นโยบายหลากหลายรูปแบบควบคู่กันไปในการบริหารจัดการในแผนเศรษฐกิจ 5 ปี ล่าสุด

เน้นที่ “การหมุนเวียนภายในประเทศ” (dual circulation) กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะถูกกดดันต่อเนื่อง คือ เทคโนโลยีขนาดใหญ่ และกลุ่มธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดสูง

“นอกจากนั้น ธุรกิจที่คาดว่าจะถูกควบคุมมากขึ้น คือ อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา และการรักษาพยาบาล ที่ถูกเรียกว่า เป็น “สามภูเขา” ของคนจีน คาดว่าจะมีการควบคุมต่อเนื่อง

ทั้งในแง่ของการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อลดการเก็งกำไร ลดต้นทุนการศึกษาของคนในประเทศ ไปจนถึงการควบคุมราคายา และเร่งให้เอกชนเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุข” ดร.จิติพลกล่าว


นักลงทุนที่สนใจลงทุนกองทุนหุ้นจีนก็คงต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในแดนมังกรอย่างใกล้ชิด