กูรูวงการ “แบงก์-อสังหาฯ-โรงแรม” เปิดมุมมองทางรอดธุรกิจปี’65

เสวนา-เศรษฐศาสตร์ มธ.
สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2564 ภายใต้หัวข้อ "ทางรอดธุรกิจปี 2565"

กูรูวงการ “แบงก์-อสังหาฯ-โรงแรม” เปิดมุมมองทางรอดธุรกิจปี’65 ไทยพาณิชย์คาดเศรษฐกิจฟื้นตัว “ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม” พราวเรียลเอสเตท ชี้อสังหาฯจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี หวัง สมาคมโรงแรมไทยหวังนักท่องเที่ยวปีหน้า 5 ล้านคน หวั่นโรงแรมขาดแคลนคนทำงาน

ไทยพาณิชย์เชื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว “ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม”

วันที่ 19 ธันวาคม 2564 ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบีเท็นเอกซ์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2564 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “ทางรอดธุรกิจปี 2565” ว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอนคงสร้างความผันผวนให้กับทุกประเทศไปอีกสักพัก

แต่สำหรับประเทศไทยเชื่อว่าเศรษฐกิจและภาคธุรกิจคงจะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ มองปี 2565 ตัวเลข GDP จะโต 3% กว่าๆ หมายความว่าประมาณกลางปี 2566 ไทยจะกลับมาระดับเดิมก่อนช่วงโควิด จากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซบเซา

แต่ทั้งนี้คำจำกัดความการฟื้นตัวจะเป็นในลักษณะ “ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม” ซึ่งนิยามไม่ทั่วถึง เป็นเพราะอุตสาหกรรมในประเทศไทยค่อนข้างพิเศษคือ พึ่งพาภาคท่องเที่ยวและส่งออกที่สูงมาก แต่วันนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่เดินทางเข้ามามาก รวมไปถึงปีหน้าคาดว่าคงจะยังไม่ใช่สัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้นมาก เพราะฉะนั้นธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องก็จะฟื้นตัวได้ช้า แต่ธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain อาจจะเริ่มกลับมาได้

ขณะเดียวกันนิยามไม่เท่าเทียม เป็นเพราะขนาดของแต่ละธุรกิจแตกต่างกัน เช่น โรงแรม คาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจำนวนหนึ่งคงต้องเลือกว่าจะพักที่โรงแรมไหน อาทิ อยู่ในสถานที่น่าสนใจ, ราคาดี ก็มีโอกาสฟื้นตัวก่อน หรือแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี(SME) ก็เช่นเดียวกัน คนที่มีสายปานยาวกว่าก็คงมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ดีมีความเชื่อว่าไทยกำลังเข้าสู่การฟื้นฟูมากกว่าความกังวลว่าเศรษฐกิจจะลงไปลึกกว่านี้

ชี้หนี้เสียพุ่งสูงต่อเนื่อง

ดร.อารักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์หนี้เสียคงจะมีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะความกังวลหนี้เสียของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีความท้าทายมาก่อนช่วงโควิดอยู่แล้ว อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการอยู่ในซัพพลายเชนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกไม่ค่อยสูง แต่ก็เชื่อว่าหลังเกิดวิกฤตโควิดธุรกิจเอสเอ็มอีได้มีการตื่นตัว เพราะถ้าไม่แข็งแรงโอกาสเซมีสูงมาก ซึ่งจากที่ผ่านมาภาครัฐเองก็มีการสนับสนุนอย่างมาก ผ่านสินเชื่อในหลายรูปแบบ วงเงินกู้และดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

“ธนาคารพยายามช่วยเต็มที่ ในฐานะบทบาทช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ และตระหนักดีถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีไม่รอด ทั้งประเทศก็ไม่รอด แต่อยากแนะนำให้เอสเอ็มอีมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับโลก โดยหัวใจคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ต่อยอดธุรกิจ และยังช่วยลดต้นทุน” ดร.อารักษ์ กล่าว

พราวเรียลเอสเตทชี้อสังหาฯฟื้นตัวอีก 2-3 ปี

นายภูมิพัฒน์ สีนาเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์พบว่าตัวเลขบ้านจดทะเบียนประมาณ 1 แสนหลัง ในกรุงเทพและปริมณฑล ลดลงกว่า 30% โดยโครงการแนวราบ(บ้านเดี่ยว, ทาวเฮ้าส์) ไม่ได้ลดลง แต่คอนโดมิเนียมปรับตัวลดลง 53% ภาพนี้สะท้อนว่าคอนโดมิเนียมลงแรงมาก สาเหตุเพราะซัพพลายของจำนวนยูนิตในตลาดที่เปิดตัวใหม่ค่อนข้างมาก เมื่อปี 2556 มีประมาณ 90,000 ยูนิต และก่อนปีช่วงเกิดโควิดลอนซ์ใหม่ปีละ 180,000 ยูนิต

ดังนั้นด้วยซัพพลายที่สะสมมาตลอด เมื่อเจอผลกระทบโควิด ส่งผลให้เกิดโอเวอร์ซัพพลายทันทีสำหรับคอนโดมิเนียม แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะฟื้นตัวและกลับมาบาลานซ์ได้ โดยแนวทางธุรกิจจะมีการปรับตัวพัฒนาพื้นที่โครงการบ้านและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางให้สอดรับวิถีใหม่ของคนและการทำงานที่บ้านมากขึ้น

หวัง นทท.ปีหน้า 5 ล้านคน หวั่นโรงแรมขาดแคลนคนทำงาน

นางมานิสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า จากวิกฤตโควิดภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม คงจะเป็นเซ็กเตอร์ที่ฟื้นตัวช้าสุดแล้ว โดยรอบการระบาดโควิดระลอก 3 ในช่วงเดือน พ.ค. ที่มีการล็อกดาวน์มีการปลดพนักงานไปจำนวนหนึ่ง

แต่พอกลับมาเปิดได้ พนักงานบางคนก็ไม่กลับมาแล้ว โดยเลือกไปทำงานที่ต่างจังหวัดแทน และบางคนที่ยังอยู่เป็นความท้าทายมากที่ต้องมีแรงจูงใจให้กับพนักงาน เพราะต้องทำงานเต็มเวลาแต่โรงแรมยังจ่ายเงินได้ไม่เต็มเดือน ซึ่งตอนนี้ทุกโรงแรมพยายามหาคนทำงานเพราะขาดแคลนคน โดยลำบากที่สุดก็จะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“ปีก่อนโควิด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยประมาณ 40 ล้านคน ปี 63 ประมาณ 6.7 ล้านคน แต่ปี 64 แค่ 3-4 แสนคนเท่านั้น และตอนนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3 แสน แต่เข้ามาจริงๆ 45 วันประมาณแค่ 1.5 แสนคน จึงประเมินว่าปี 65 เทียบจากนักท่องเที่ยวตอนนี้ที่เข้ามาประมาณวันละ 5-6 พันคน และปีหน้าเพิ่มเป็นหมื่นคนต่อวัน เฉลี่ยเดือนละ 3 แสนคน ทั้งปีก็น่าจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยว 3.9 ล้านคน แต่ถ้าได้สัก 5 ล้านคนก็จะถือว่าดี แต่ขึ้นอยู่ปัจจัยภายนอกด้วย เช่น นักท่องเที่ยวจีน จึงอยากให้รัฐบาลไทยช่วยหารือกับรัฐบาลจีนด้วย แต่ทั้งนี้ในปีหน้าเราก็ยังคงต้องพึ่งคนไทยเที่ยวไทยอยู่เหมือนเดิมเช่นกัน” นางมาริสา กล่าว

ปัจจุบันโรงแรมขนาดเล็กแทบจะยังไม่ได้เปิดกิจการ โดยเฉพาะโรงแรมรับกลุ่มทัวร์ และบางโรงแรมก็อาจถอดใจ จากหนี้สินเงินกู้ที่มากก็อาจจะขายธุรกิจออกไปด้วย โดยตัวเลขจากทางโรบินฮู้ดที่กำลังพัฒนาให้จองโรมแรมผ่านแอปฯ พบตัวเลขกว่า 20-30% ของโรมแรมกลุ่มเอสเอ็มอีมีการปิดกิจการไปแล้ว อย่างไรก็ดีเชื่อว่าถ้านักท่องเที่ยวกลับมาบางผู้ประกอบการก็สามารถเปิดกลับมาได้ เพราะด้วยความที่ไซซ์ธุรกิจไม่ใหญ่มาก ไม่ต้องใช้คนเยอะ