ปรับ ‘กลยุทธ์ลงทุน’ รับมือสงครามยืดเยื้อ

จิตตะ เวลธ์
โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ 

สงครามยังไม่จบ…อย่าเพิ่งนับศพทหาร วลีนี้ยังใช้ได้กับการห้ำหั่นกันของ 2 ประเทศ รัสเซียและยูเครน ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 เดือน และไม่มีทางรู้เลยว่า บทสรุปจะไปทางไหน จบลงด้วยดีหรือไม่

ทุกครั้งที่เกิดสงคราม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในวงจำกัดหรือลามไปทั่วโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงเวลาสงครามมีมากกว่าช่วงเวลาปกติ และแน่นอนว่า ตลาดหุ้นจะผันผวนมากกว่าเดิม เพราะถูกขับเคลื่อนด้วยอคติและอารมณ์จากความไม่แน่นอนต่างๆ ยิ่งสงครามทวี ความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายที่เป็นมูลค่ามหาศาล กลายเป็นวิกฤตที่รุนแรงมากขึ้นไปอีก

แล้วในฐานะนักลงทุน…คุณจะรับมืออย่างไร ปรับ ‘กลยุทธ์ลงทุน’ ไปทางไหน เมื่อสงครามยืดเยื้อ และหากจะลงทุนช่วงเวลาที่เกิดสงคราม…ช่วงไหนดีที่สุด

ลงทุนช่วงสงคราม กำไรหรือขาดทุน

ผมได้รวบรวมสถิติการลงทุนในช่วงเวลาต่างๆ ที่เกิดสงครามมาเป็นกรณีศึกษา โดยใช้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี จากการลงทุนในช่วงเวลาต่างๆ ที่เกิดสงครามในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากคุณอยากรู้ว่า ตลาดหุ้นเป็นอย่างไร คุณควรเข้าลงทุนตอนไหนเมื่อเกิดสงคราม ‘กลยุทธ์ลงทุน’ เหมือนกับช่วงเวลาปกติหรือไม่  กลยุทธ์แบบไหนดีที่สุด หากคุณต้องการสร้างผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด ท่ามความความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ มาหาคำตอบ ได้เลย

ผมจะพาคุณย้อนเวลากลับไป 100 กว่าปี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 2457  โดยช่วงเวลา เริ่มต้นและสิ้นสุดสงครามจะอ้างอิงข้อมูลจากสารานุกรม Britannica ซึ่งรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุยาวนาน มากกว่า 2 ศตวรรษ

ดัชนีตลาดหุ้นที่ใช้เป็นกรณีศึกษา คือ ดัชนี S&P Composite ที่มีการคำนวณย้อนหลังยาวนานตั้งแต่ปี 2414 กว่าจะมาเป็นดัชนี S&P500 ยอดนิยมในปัจจุบัน

ผมได้จำลองสไตล์การลงทุน 4 รูปแบบ โดยเลือกจังหวะการลงทุนที่แตกต่างออกไป ได้แก่ ลงทุนครั้งเดียวในช่วงสงครามเริ่มต้น กลางสงคราม และสงครามสิ้นสุด กับลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) แต่ทุกๆ รูปแบบจะถือไว้จนครบ 10 ปีหลังสงครามสิ้นสุด ซึ่งจะเป็นการลงทุนระยะยาว สะท้อนความเคลื่อนไหวของ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในทุกช่วงเวลา รวมไปถึงผลพวงหลังสงครามสิ้นสุด โดยจะเปรียบเทียบ จากผลตอบแทนเฉลี่ยของแต่ละพอร์ต

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ใช้ข้อมูลราคาของกองทุนดัชนี จึงไม่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผลและการคิดค่าธรรมเนียม ต่างๆ เนื่องจากกองทุนดัชนีกองแรกของโลก คือ Vanguard 500 Fund เพิ่งถูกตั้งขึ้นปลายเดือนสิงหาคม 2519 จึงไม่ครอบคลุมช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเวียดนาม

คุณจะเห็นว่า การลงทุนในเดือนที่สงครามเริ่มต้น และถือต่อไปอีก 10 ปีหลังสงครามจบ จะสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงที่สุด จาก 4 ใน 6 สงคราม นั่นเป็นเพราะว่าต้นทุนการลงทุน ในช่วงเริ่มต้นสงครามยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนในช่วงสงครามสิ้นสุด จึงทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงกว่า

ขณะเดียวกัน หากลงทุนในช่วงสงครามสิ้นสุด คุณจะเห็นว่า จากสงครามใหญ่ 6 ครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ย ได้สูงที่สุดเลย เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นไปแล้ว จากการรับรู้ผลกระทบจากสงครามต่างๆ ต้นทุนการลงทุน จึงสูงตามไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบอื่นๆ ซึ่งเป็นเกร็ดน่ารู้ของ ‘กลยุทธ์ลงทุน’ ในช่วงสงคราม มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ลงทุนช่วงกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างผลตอบแทนได้มากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ Pearl Harbor รัฐฮาวายพอดี (ธันวาคม 2484) ดัชนี S&P Composite แตะจุดต่ำสุด แต่หลังจากที่สหรัฐฯ ชนะการศึกเหนือกองทัพเรือญี่ปุ่นได้หลายๆ ครั้งติดๆ กัน ดัชนี S&P Composite พลิกกลับมาเป็นขาขึ้นทันที
  • ลงทุนแบบ DCA ช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุด เมื่อเทียบกับสงครามใหญ่ 6 ครั้ง เพราะเป็นช่วงที่ดัชนี S&P500 เป็นขาขึ้นมาอย่างยาวนาน ก่อนไปสะดุดในช่วงวิกฤตฟองสบู่ Dot Com (ปี 2538-2544) และเป็นสงครามที่มีระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 1 ปีเท่านั้น
  • ช่วงสงครามอัฟกานิสถาน ลงทุนตอนเริ่มต้นสงครามกับแบบ DCA ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ใกล้เคียงกัน เพราะดัชนี S&P500 ในช่วงปี 2544-2557 เป็นเคลื่อนไหวมีทั้งขาขึ้นและขาลงแรงๆ เป็นรูป W-shape แม้ว่าจะจบวิกฤตฟองสบู่ Dot Com ไปแล้วก็ตาม ดังนั้นต้นทุนระหว่างช่วงเริ่มต้นสงครามกับแบบ DCA จึงมีแนวโน้มเท่าๆ กัน
  • ช่วงสงครามอิรัก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับสงครามอัฟกานิสถาน แต่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงกว่า เนื่องจากช่วงสงครามอิรักเริ่มต้น ดัชนี S&P500 เป็นขาลงแรงๆ พอดี ประกอบกับสงครามอิรักมีระยะเวลาสั้นกว่า เริ่มช้ากว่า จบเร็วกว่า แม้ช่วงเวลาสิ้นสุดสงครามดัชนีเป็นขาขึ้นเหมือนๆ กันก็ตาม

สิ่งที่ค้นพบคือ จริงๆ แล้วตลาดหุ้นไม่ได้กลัวสงคราม แต่กลัวความไม่แน่นอนระหว่างที่เกิดสงคราม นี่คือสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีอารมณ์และอคติต่อการตลาดหุ้นมากกว่าช่วงที่ไม่มีสงคราม

​​

หากดูจากกราฟไทม์ไลน์การเคลื่อนไหวดัชนี S&P Composite (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นดัชนี S&P500) ในช่วงนานกว่า 1 ศตวรรษ ครอบคลุมสงครามใหญ่ 6 ครั้ง คุณจะเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย หลายๆ ครั้งที่เกิดสงคราม ตลาดหุ้นมักปรับตัวลงหลังจากช่วงเริ่มต้นสงครามไปแล้ว

แต่เมื่อสงครามดำเนินไปสักระยะ จนนักลงทุนสามารถประเมินสถานการณ์ได้ รับรู้ผลกระทบไปแล้ว จึงบรรเทาความ วิตกกังวลลง ตลาดหุ้นจะปรับตัวเป็นขาขึ้นเป็น V-shape อย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ไปจนสิ้นสุดสงคราม

เมื่อประกอบกับการจำลองสไตล์การลงทุน 4 รูปแบบ และผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง จุดที่น่าสนใจมีดังนี้

  • กราฟดัชนี S&P Composite หากเจาะเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้ง 2 และสงครามเวียดนาม มีการเคลื่อนไหวเป็น V-shape เช่นเดียวกัน เพียงแต่ภาวะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น การลงทุนยังจำกัดเฉพาะกลุ่ม บริษัทในตลาดหุ้นมีไม่มาก ขาด Mass Participation จากนักลงทุนรายย่อย กราฟดัชนีในภาพใหญ่จึงไม่ผันผวน ขึ้นหรือลงแรงๆ ให้เห็นมากนัก
  • หลังจากเมื่อเปลี่ยนเป็นดัชนี S&P500 ปี 2500 กาลเวลาผันเปลี่ยนไป โลกขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยมมากขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีบริษัทจดทะเบียนใหม่ๆ เข้ามากขึ้น จนกลายเป็นมหาอำนาจทางการเงินโลกมาจนถึงปัจจุบัน
  • กราฟดัชนี S&P500 ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามอิรัก และสงครามอัฟกานิสถาน จะขึ้นลงแรง เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีวิวัฒนาการจนเป็นระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ มีหุ้นเทคโนโลยีเกิดขึ้นนับร้อยบริษัท มีหุ้นบริษัทข้ามชาติจากทั่วโลก ขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยเห็นโอกาสสร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นมากขึ้น จึงเกิด Mass Participation จากนักลงทุนทั่วโลก

‘กลยุทธ์ลงทุน’ จับจังหวะหรือ DCA ดีกว่ากัน

คุณจะรู้ได้อย่างไร ว่าจุดเริ่มต้นของสงครามคือตอนไหน นี่ถึงจุดต่ำสุดของดัชนีหรือยัง แล้วสงครามจะจบเมื่อไร

คำตอบชัดๆ คือ ไม่มีใครรู้ หรือคาดการณ์ได้เลย กูรูอาจจะประเมินได้ว่า ความขัดแย้งนี้อาจจะเป็นฉนวนเกิดสงคราม แต่ยากที่จะฟันธงได้ชัดๆ ว่า สงครามจะเริ่มขึ้นเมื่อไร

ฉันใดฉันนั้น เวลาแม่ทัพวางยุทธวิธีเพื่อรบกับฝ่ายตรงข้าม พวกเขาจะซุ่มวางแผนกันลับๆ ไม่มีฝ่ายไหนประกาศรบกันโต้งๆ ดังนั้น คุณไม่มีทางรู้เลย เช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน วันดีคืนดี รัสเซียก็เดินเกมบุกยูเครนในเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ทันที

แล้วสถิติย้อนหลังที่ได้รวบรวมมาเป็นกรณีศึกษา ผ่านการลงทุนในดัชนี S&P Composite (ดัชนี S&P500 ในปัจจุบัน) ครอบคลุมสงครามใหญ่ 6 ครั้ง ให้บทเรียนสำคัญๆ เพื่อมาออกแบบ ‘กลยุทธ์ลงทุน’ ได้อย่างไรบ้าง

  • กลยุทธ์ลงทุนที่ทำได้ง่ายที่สุดและทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้น่าพอใจ คือ การลงทุนแบบ DCA ตั้งแต่สงครามเริ่มต้นจนสิ้นสุดและถือเอาไว้อีก 10 ปี โดยหากคุณวางแผนจัดสรรเงินมาลงทุนแบบ DCA เป็นประจำอยู่แล้ว สามารถทำตามแผนเดิมได้ต่อเนื่อง
  • หากคุณเพิ่งเข้าลงทุนก่อนเกิดสงครามพอดีก็สามารถเบาใจได้ เพราะสถิติย้อนหลัง 4 จาก 6 สงครามได้พิสูจน์แล้วว่า การลงทุนช่วงเริ่มต้นสงครามทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงที่สุด หรือหากคุณต้องการลงทุนเพิ่มก็ควรจะลงทุนในช่วงเริ่มต้นสงคราม เพราะดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกจะลดลงมาโดยธรรมชาติ จากความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นและความกังวลของนักลงทุน
  • การลงทุนช่วงกลางสงครามทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีที่สุด ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ Pearl Harbor ที่ถือเป็นจุดพลิกผันของสงครามพอดี แต่ในสงครามอื่นๆ การลงทุนระหว่างสงครามทำผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง หากคุณเริ่มต้นลงทุนในช่วงนี้ ก็ไม่ได้ผิดอะไร ย่อมดีกว่าการถือเงินสดไว้เฉยๆ โดยไม่ลงทุน เพราะภาวะเงินเฟ้อหลังสงครามเกิดขึ้นได้เสมอ และจะกัดกินมูลค่าเงินโดยธรรมชาติ
  • การลงทุนเมื่อสงครามสิ้นสุดทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ปานกลางเช่นเดียวกับช่วงกลางสงคราม แต่คุณต้องคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำมากๆ เพราะตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้นอยู่แล้ว หลังสงครามสิ้นสุด คุณต้องจับจังหวะนี้ให้ได้ทันท่วงที มิฉะนั้นคุณจะพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

สรุป คือ ลงทุนช่วงเริ่มต้นและช่วงกลางสงคราม แล้วถือเอาไว้ จะทำให้คุณไม่พลาดช่วงที่ตลาดหุ้นพลิกกลับมาเป็นขาขึ้น และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้คุณ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนทั่วโลกนิยมกัน เรียกว่า Buy the Invasion ลงทุนตอนช่วงบุกรุกห่ำหั่นกัน

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดที่นักลงทุนหลายคนพลาด จากความพยายามจับจังหวะตลาดหุ้น เพื่อซื้อที่จุดต่ำสุด ความเป็นจริง คือ คุณไม่มีทางรู้เลยว่า จุดต่ำสุดคือเมื่อไร

เพราะตลาดหุ้นในแต่ละปี มีทั้งขาขึ้นและขาลง ไม่ว่าจะเกิดวิกฤต มีสงคราม หรือช่วงเวลาปกติ หากเป็นการลงทุนระยะยาว กลยุทธ์ DCA อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่สนใจถึงความผันผวนที่เกิดขึ้น จะทำให้พอร์ตลงทุนของคุณแข็งแกร่งและเติบโตเช่นกัน และคุณจะสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับการลงทุน ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นอีกวิธีรับมือกับทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะช่วงเกิดสงคราม เศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วมสงครามจะถูกกระตุ้นจากนโยบายการคลังแบบขยายตัว (Expansionary Fiscal Policy) ภาครัฐต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่อจ้างให้ภาคเอกชนผลิตสิ่งของที่จำเป็นในการทำสงคราม เช่น การจ้างโรงงานเสื้อผ้าให้ตัดเย็บชุดทหาร หรือการจ้างโรงงานกระป๋องให้ผลิตกระติกน้ำทหาร นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไม่ได้หยุดชะงัก เพียงแต่เปลี่ยนกิจกรรม การลงทุนและการบริโภคยังคงมีอยู่

คุณจะเห็นว่า เมื่อสงครามจบลง ดัชนีตลาดหุ้นมักจะเป็นขาขึ้นต่อไปอีก จากแรงส่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสงคราม หรือที่เรียกว่า Post-war Economic Boom นั่นเอง

แต่ถ้าคุณเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกหรือกังวลต่อความผันผวนที่เกิดขึ้น อารมณ์และอคติจะส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณ หากคุณรีบขายสินทรัพย์ที่ดี จะทำให้คุณพลาดโอกาสทำผลตอบแทนที่ดีในช่วงสงครามก็ได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าสงคราม ที่เกิดขึ้นจะจบลงตอนไหน แต่ทุกสงครามมีจุดจบเสมอ

หวังว่าสถิติย้อนหลังนี้จะช่วยให้คำตอบกับคุณได้ว่า ‘กลยุทธ์ลงทุน’ แบบไหนที่สร้างผลตอบแทนให้คุณได้ดีที่สุดในช่วง สงคราม เพื่อให้คุณนำไปประยุกต์ให้เข้ากับพอร์ตลงทุนของคุณเองได้

หากคุณสนใจหลักการลงทุนระยะยาวเช่นกัน ผมมีเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจที่จะช่วยให้คุณสร้างความมั่งคั่ง ข้ามผ่าน ทุกช่วงเวลาไปได้อย่างแข็งแกร่ง ลองเข้ามาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://blog.jittawealth.com/