“อาคม”แย้มสร้างทั้งรถไฟฟ้า-ทางด่วน​แก้รถติดเกษตร-นวมินทร์ เปิดทางเอกชนลงทุนสายสีน้ำตาลทั้งโครงการ

แฟ้มภาพ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2560 ว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับฟังความคิดเห็น การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ครั้งที่ 1 เพื่อสรุปรูปแบบการแก้ปัญหาจราจรภาพรวมและเชื่อมต่อการเดินทางโซนตะวันออกและตะวันตก

ซึ่งคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) มอบให้ สนข.ได้ศึกษาทบทวนและเสนอแนะการใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อที่ก่อสร้างไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยจะศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน พร้อมเสนอแนะรูปแบบการลงทุนและเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล กับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, N2 และวงแหวนตะวันออก) มีระยะเวลาศึกษา 14 เดือน เริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2560 ถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2561

มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มความสะดวก ความปลอดภัย และประหยัดเวลาการเดินทางของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ

ในเบื้องต้นได้กำหนดรูปแบบทางเลือกการพัฒนาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ในการพิจารณา 4 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) รูปแบบที่ 2 การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor รูปแบบที่ 3 การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ประกอบด้วย โครงข่ายทดแทน N1 (การเชื่อมต่อ N2 เข้ากับโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ) เพื่อเชื่อมวงแหวนตะวันออก-ตะวันตก N2 และ E-W Corridor และรูปแบบที่ 4 การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน

​นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาความเหมาะสมของโครงการจะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและทางด่วน

โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เริ่มต้นจากแยกแคราย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) บริเวณสถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตร เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-คูคต) บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) บริเวณแยกลำสาลี รวมระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร

“รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลในเดือนส.ค.นี้จะสรุปเป็นระบบไหน เช่น โมโนเรล ไรล์เรล. และจะเป็นโครงข่ายย่อยที่จะนำเข้าไปบรรจุในแผนรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ซึ่งไจก้ากำลังศึกษา จะแล้วเสร็จปีหน้า” นายอาคมกล่าวและว่า

ทั้งนี้มีแนวโน้มจะสร้างทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วน ดูตามความพร้อมของโครงการเนื่องจากโครงการทางด่วนการทางพิเศษพร้อมจะก่อสร้างก็ให้เดินหน้าต่อโดยรัฐให้ระดมทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFF ส่วนรถไฟฟ้ารูปแบบการลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการ เพราะเป็นระบบรองเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายหลักที่อยู่ในแผนแม่บท

​สำหรับแนวทางด่วนช่วง N2 และวงแหวนตะวันออกจะเริ่มจากบริเวณสี่แยกเกษตรไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ตัดถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนนวมินทร์ ไปสิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.9 กิโลเมตร

ขณะที่แนวทดแทน N1 ช่วงแยกเกษตร-แคราย-วงแหวนตะวันตก ทาง สนข.เสนอส่วนต่อขยายจากบริเวณสี่แยกเกษตรไปเชื่อมต่อกับโทลล์เวย์และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก

ทั้งนี้ การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ทาง สนข.จะได้นำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมภายในเดือน ก.ย. 2560 จากนั้นนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรยากาศการเปิดรับฟังความคิดเห็นมีประชาชนสนับสนุนให้สร้างรถไฟฟ้ามากกว่า เนื่องจากทางด่วนอาจจะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เหมาะที่จะสร้างในพื้นที่เกษตร-นวมินทร์ที่ประสบปัญหารถติดอยู่แล้วในปัจจุบัน