เคาะ PPP ไฮสปีดอีอีซี-เปิดทางเอกชนเลือกจุดที่ตั้งสถานี

อีอีซี
จับตา 1 ก.พ. “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะบอร์ดอีอีซี เคาะรูปแบบ PPP ลงทุนไฮสปีด”อีอีซี” ดึงเอกชนลงทุนเฟสแรกเชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท รถไฟร่างทีโออาร์เปิดกว้างให้เอกชนปักหมุดตำแหน่งสถานีเอง รับสัมปทาน 50 ปี เก็บค่าโดยสาร พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี 9 แห่ง พ่วงที่ดินมักกะสัน 140 ไร่

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 1 ก.พ. 2561 นี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเสนอแผนการลงทุน PPP ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ในเฟสแรก ระยะทาง 220 กม. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา หลังจากคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกมีการพิจารณาในเบื้องต้นตามที่ ร.ฟ.ท.รายงานความก้าวหน้าไปแล้ว

หากได้รับอนุมัติจะออกประกาศร่างทีโออาร์ภายในเดือน ก.พ.นี้ และประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนในเดือน ก.ค. 2561 เซ็นสัญญาเดือน ส.ค. และเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566 คาดว่ามีผู้โดยสารอยู่ที่ 169,550 เที่ยวคนต่อวัน

“ร่างทีโออาร์ที่รถไฟดำเนินการ มีการปรับรายละเอียดให้เปิดกว้างและเป็นที่ดึงดูดความสนใจต่อนักลงทุนมากขึ้น โดยให้เอกชนที่สนใจลงทุนสามารถกำหนดตำแหน่งที่ตั้งสถานีเองได้ เพื่อเอกชนที่มีที่ดินอยู่ในมือสามารถนำที่ดินมาพัฒนาสร้างรายได้เลี้ยงโครงการได้ เนื่องจากโครงการใช้เงินลงทุนสูง แต่จะต้องรับผิดชอบการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอเพิ่มเติมเอง เหมือนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่เอกชนผู้ลงทุนเสนอพัฒนาเพิ่มเติม”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากเอกชนเสนอปรับตำแหน่งสถานี มีแนวโน้มที่จะทำให้มูลค่าการลงทุนโครงการเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันใช้เงินลงทุน 236,700 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็น PPP net cost รัฐเป็นผู้เวนคืนที่ดิน จำนวน 3,600 ล้านบาท และให้เอกชนลงทุนงานก่อสร้าง งานระบบ ซ่อมบำรุงรักษาโครงการและรับสัมปทานเก็บค่าโดยสารและบริหารโครงการ 50 ปี โดยได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี 9 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา รวมถึง
ที่ดินมักกะสันอีก 140 ไร่ พร้อมจ่ายผลตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.เป็นรายปีตลอดอายุสัญญา

ส่วนการลงทุนระยะที่ 2 จากอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 40 กม. จะต้องรอให้รายงานอีไอเอได้รับการอนุมัติก่อน เนื่องจากยังติดเรื่องแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่นิคมมาบตาพุด แต่ที่สามารถเดินหน้าเฟสแรกก่อนนั้น เนื่องจากกระทรวงจะขอให้คณะกรรมการอีไอเอพิจารณาช่วงนี้ก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้เร็ว หากต้องรอทั้งโครงการจะใช้ระยะเวลานาน ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) มีข้อท้วงติง อาจจะใช้เวลาพิจารณานาน อาจจะกระทบต่อแผนการพัฒนาโครงการได้

สำหรับเงินลงทุนรวมทั้งโครงการ 260 กม. อยู่ที่ 296,421 ล้านบาท แยกเป็น เงินลงทุนรถไฟความเร็วสูง 214,308 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืนที่ดิน 4,992 ล้านบาท งานโยธา 148,842 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 32,577 ล้านบาท จัดหาขบวนรถ 22,032 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 5,866 ล้านบาทและเงินลงทุนการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม 82,113 ล้านบาท ได้แก่

การพัฒนาที่ดินที่สถานีมักกะสัน 140 ไร่ 56,685 ล้านบาท การพัฒนาที่ดินรอบ 4 สถานีฉะเชิงเทรา สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีระยอง 25,428 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจังหวัดระยอง พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯเป็นส่วนใหญ่ มีผู้เดินรถรายเดียวกัน

การเดินรถช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ วิ่งด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. และช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภา อยู่ที่ประมาณ 500 และ 300 บาทต่อเที่ยว