เคาะแล้ว! โมเดลแก้จราจร”พิษณุโลก”ผุดระบบรถผสมผสานลงทุน3พันล้าน เร่งศึกษา”บึงกาฬ”รับเมืองโต

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองพิษณุโลก และการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญและจัดให้เมืองพิษณุโลก เป็น 1 ใน 6 เมืองหลักในภูมิภาค มีเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และหาดใหญ่

ที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรอย่างเร่งด่วนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558 – 2565 ของกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดให้มีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลัก

จึงได้มอบหมายให้ สนข.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เกิดการเชื่อมต่อ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ

รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองพิษณุโลกให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งต้องสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตของเมืองพิษณุโลก (พิษณุโลก 2020) จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ลดการใช้และนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศและแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบ
ด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด

โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 14 เดือน (ธ.ค. 59 – มี.ค. 61) โดยที่ผ่านมา สนข. ได้มีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว 2 ครั้ง จากผลการศึกษาพบว่าระบบการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองพิษณุโลก ได้แก่ ระบบรถผสมผสาน Auto Tram, Artculated Bus, Regular Bus, Micro Bus และ VIP Bus รวมทั้งแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ เงินลงทุนรวม 3,250 ล้านบาท

ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เปิดให้บริการ 6 เส้นทาง มีระยะทางรวม 83.5 กิโลเมตร และมีสถานีทั้งหมด 105 สถานี ใช้เงินลงทุน 2,607 ล้านบาท และในระยะที่ 2 จะเปิดให้บริการอีก 5 เส้นทาง มีระยะทางรวม 30.1 กิโลเมตร และมีสถานีทั้งหมดรวม 42 สถานี ใช้เงินลงทุน 643 ล้านบาท มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งพิษณุโลกแห่งที่ 1 สถานีขนส่งพิษณุโลกแห่งที่ 2 และห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสท่าทอง

นอกจากนี้มีจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 การศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีเขตแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นระยะทาง 330 กม. โดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน และมีจุดผ่านแดนถาวร 1 จุด คือ ด่านศุลกากรบึงกาฬ ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

มีศักยภาพพัฒนาเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันการลงทุน และการท่องเที่ยวซึ่งครอบคลุม แนวชายแดนไทย ลาว และเวียดนาม เนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น จึงยังไม่มีแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจร สนข. จึงได้ดำเนินการศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าของบึงกาฬในอนาคต

นางวิไลรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมปัญหาทุกระยะ โดยในระยะยาวต้องวางรากฐาน เพื่อความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม ส่งเสริมบทบาท และการใช้โอกาสของประเทศไทยในประชาคมอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ที่กำหนดวิสัยทัศน์ให้ “ประเทศไทย มีความมั่นคง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีแนวทางการพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ กระจายความเจริญและโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง ให้เมืองในภูมิภาค เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่มในสังคม

สนข.จะวางแผนบูรณาการระดับแผนงานโครงการ สำหรับการพัฒนา ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมการค้าชายแดน เส้นทางการท่องเที่ยวภายในจังหวัด ระหว่างจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง และเส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการเดินทางให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด

โดยท้ายที่สุดจังหวัดบึงกาฬจะมีแผนการแก้ไขปัญหา และการจัดการจราจรเฉพาะหน้าระยะเร่งด่วน แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว แผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจรที่นำแนวคิดการพัฒนาเมืองในอนาคต (Future City) เพื่อวางรากฐานการเจริญเติบโตของจังหวัดบึงกาฬ และป้องกันการเกิดปัญหาจราจร เพื่อให้จังหวัดบึงกาฬเป็นเมืองที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งมีแผนปฏิบัติการด้านการขนส่งและจราจรที่มีการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการปฏิบัติงานต่อไปในอนาคต