รุมชิงดิวตี้ฟรีเมืองใหม่ไฮสปีด “คิงเพาเวอร์-ปตท.-ซี.พี.” ลุย

เปิดโผเอกชนตีตั๋วประมูลรถไฟความเร็วสูงอีอีซี 2 แสนล้าน หลังรัฐบาลจัดฟูลออปชั่น พ่วงที่ดิน “มักกะสัน-ศรีราชา” ผุดมิกซ์ยูส เปิดทางกำหนดที่ตั้งสถานีได้เอง “จีน-ญี่ปุ่น” รุกหนัก “ซี.พี.” ซุ่มศึกษาโปรเจ็กต์ ปตท.-บีทีเอสเอาด้วย หวังต่อยอดสมาร์ทซิตี้บางซื่อ ช.การช่างชู BEM เป็นหัวหอก ฝุ่นตลบยักษ์ค้าปลีกเซ็นทรัล เดอะมอลล์ คิวเพาเวอร์ไม่ยอมตกขบวน เวนคืนแปดริ้ว 84 ไร่สร้างสถานี-เมืองใหม่ 5,000 ไร่รองรับ

หลังรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขประมูลแพ็กเกจโครงการรถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 226 กม. เงินลงทุน 2.06 แสนล้านบาท สัมปทาน 50 ปี เดินรถและพัฒนาพื้นที่ 9 สถานี พร้อมสิทธิพัฒนาที่ดินมักกะสัน 140 ไร่ ศรีราชา 30 ไร่ รวมถึงสิทธิเดินรถและพัฒนาพื้นที่สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) โดยให้เอกชนปรับตำแหน่งสถานีได้ตามความเหมาะสม เพื่อจูงใจเอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP

เอกชนสนใจคึกคัก

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีเอกชนไทยและต่างชาติสนใจลงทุนโครงการนี้มาก แต่ขอรอดูเงื่อนไขที่จะประกาศในเดือน มี.ค.นี้ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกำลัง พิจารณารายละเอียด ผู้สนใจมีทั้งผู้รับเหมา ผู้ประกอบการเดินรถ นักพัฒนาที่ดินและค้าปลีก อาทิ นักลงทุนจีน ญี่ปุ่น บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เซ็นทรัล เดอะมอลล์ และ บมจ.ปตท. เนื่องจากการลงทุน

ไม่ได้มีเฉพาะรถไฟฟ้าอย่างเดียว ยังมีที่ดินรอพัฒนาในระยะยาว

ปตท.หวังต่อยอดสมาร์ทซิตี้

“ที่เคลื่อนไหวมี ซี.พี. เพราะมีธุรกิจในเครือรองรับได้ ทั้งงานก่อสร้าง พัฒนาที่ดิน โดยมี บมจ.ซี.พี.แลนด์ ล่าสุดมีผู้ประกอบการเดินรถและพัฒนาอสังหาฯจากญี่ปุ่นได้เจรจากับ ซี.พี.ด้วย” แหล่งข่าวกล่าวและว่า ปตท.ก็สนใจ เนื่องจากมีเงินลงทุนพร้อม อาจร่วมกับพันธมิตรก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน เพื่อต่อยอดกับโครงการสมาร์ทซิตี้ที่บางซื่อ ที่ ปตท.สนใจจะพัฒนาโครงการร่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่น เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อมถึง 3 สนามบิน และมีบางซื่อเป็นศูนย์กลาง

จีน-ญี่ปุ่นชิงดำ

“ตอนนี้จีนกับญี่ปุ่นรุกหนัก เพราะอยากเปิดตลาดรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งจีนได้สายกรุงเทพฯ-โคราชไปแล้ว และภาคตะวันออกเป็นฐานธุรกิจของญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงอยากรักษาฐานที่มั่นไว้ หากสำเร็จมีแนวโน้มจะขยายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่จำนวนมาก”

สำหรับที่ดินมักกะสัน 140 ไร่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาที่มีอยู่ทั้งหมด 497 ไร่ แปลงที่คณะกรรมการอีอีซีนำไปให้สิทธิเอกชนนั้นอยู่โซน A ติดกับสถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน

ลุยมิกซ์ยูสมักกะสัน-ศรีราชา

“กรอบการพัฒนาจะเป็นมิกซ์ยูส city air terminal ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม-สัมมนา อาคารสำนักงาน และอาคารจอดรถ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเสนอของเอกชน”

ส่วนสถานีศรีราชา 30 ไร่ ซึ่งเป็นบ้านพักพนักงานรถไฟคงต้องรื้อย้าย ตามแผนจะพัฒนาเป็นมิกซ์ยูสเช่นกัน โดยให้ศรีราชาเป็นศูนย์กลางนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรม

เวนคืนสร้างเมืองใหม่

“ตำแหน่งสถานีที่ศึกษาไว้จะสร้างในพื้นที่สถานีเดิม และสร้างใต้ดินที่อู่ตะเภา อยู่ใกล้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และมีเวนคืนที่ใหม่ 1 สถานี คือ ฉะเชิงเทรา 84 ไร่ ห่างสถานีรถไฟเดิมไปทางทิศเหนือ 1.5 กม. ปัจจุบันเป็นพื้นที่โล่ง รอบสถานีเป็นพื้นที่เกษตรกรรม บ่อน้ำและบ่อกุ้ง อยู่ที่เอกชนจะปรับตำแหน่งใหม่หรือไม่”

“เพราะในเงื่อนไขยืดหยุ่นได้ เช่น เอกชนมีที่ดินใกล้สถานี อาจมีข้อเสนอพัฒนาต่อยอดเป็นเมืองใหม่ก็ทำได้ แต่หากมีเวนคืนเพิ่ม เอกชนต้องจ่ายค่าที่เอง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในแผนของคณะกรรมการอีอีซี จะพัฒนาเมืองใหม่ตามแนวรถไฟความเร็วสูง แต่ยังไม่รู้จะผนวกกับทีโออาร์หรือไม่ หรือรัฐจะพัฒนาเองด้วยการจัดรูปที่ดิน

ขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไป ได้ คอนเซ็ปต์เป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เบื้องต้นจะนำร่องที่สถานีฉะเชิงเทรา 5,000 ไร่ พัฒนาเป็นเฟส เฟสแรกรอบสถานี 400-500 ไร่

C.P.ผนึกจีนตั้งทีมศึกษา

ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล ผู้บริหารระดับสูงเครือ ซี.พี. ผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล และรอดูความชัดเจนของทีโออาร์ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่พิจารณาอย่างระมัดระวัง และรอบคอบ โดยมีพันธมิตรจีนที่เชี่ยวชาญรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก เคยตั้งทีมศึกษาร่วมกันมาบ้าง

โครงการนี้ดีมากและสำคัญ ในฐานะเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทย การทำระบบขนส่งร่วมกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หากทำได้ดีจะทำให้พื้นที่อีอีซีเป็นจุดสนใจดึงกลุ่มทุนไฮเทคโนโลยีจากต่าง ประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้

“เวลานี้เป็นเวลาของภูมิภาคเอเชีย จะมีโอกาส มีเวทีสำคัญในโลก หากทำอีอีซีให้ถูกต้องสอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก โครงการนี้จึงมีความสำคัญกับประเทศ ในฐานะบริษัทคนไทย หากมีส่วนร่วมผลักดันทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้เหมือนที่เคยเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์”

รายงานข่าวระบุว่า กลุ่ม C.P. เคยร่วมกับ บจ.ซิติก คอนสตรัคชั่น จากฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง ออกแบบ ที่ปรึกษา มีสถาบันการเงินสนับสนุน และ บจ.ไหหนาน กรุ๊ป ที่เชี่ยวชาญงานก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ ซึ่งได้ศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองมาแล้ว

ช.การช่างผนึกโตคิว

แหล่งข่าวจาก บมจ.ช.การช่างกล่าวว่า บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูล แต่ขอดูเงื่อนไขทีโออาร์ก่อน โดยจะร่วมกับ บมจ.BEM บริษัทลูก ที่มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง โดยจะหาพันธมิตรด้านพัฒนาที่ดินมาร่วมด้วย

“เราเคยร่วมกับโตคิว คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญอสังหาฯและคอมเพล็กซ์ เคยประมูลที่ดินเตรียมทหาร อาจมีความเป็นไปได้จะร่วมกับโตคิว”

BTS จับบิ๊กรับเหมา-พลังงาน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.BTSC กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด เพราะใช้เงินลงทุนสูง ต้องร่วมกับพันธมิตรหลายกลุ่ม ทั้งพัฒนาที่ดิน อาทิ แสนสิริ ยูซิตี้ หรือนักลงทุนต่างชาติ นอกเหนือจากกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ที่มี บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้า บมจ.ซิโน-ไทยฯ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง

2 ยักษ์ค้าปลีกไม่ตกขบวน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า มีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่คาดว่าจะเข้าร่วมเป็นกิจการร่วมค้า และไม่ยอมตกขบวน คือ กลุ่มคิง เพาเวอร์ กลุ่มเซ็นทรัล ที่สนใจร่วมพัฒนาพื้นที่และเปิดบริการร้านค้า ในบริเวณสถานีรถไฟที่เชื่อมกัน 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีร้านค้าอยู่แล้ว

ชวนเกาหลีประมูลดิวตี้ฟรี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยการหารือระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายโนควัง-อิล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย ว่า นักธุรกิจสนใจลงทุนในไทยมากขึ้น หลังเห็นจีนและญี่ปุ่นลงทุนเพิ่มซึ่งไทยได้ชวนเกาหลีใต้ร่วมลงทุนในโครงการ อีอีซี และประมูลโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งเชิญชวนให้ร่วมประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่สัมปทานจะหมดอายุปี 2563 โดยกลุ่มลอตเต้ของเกาหลีใต้แสดงความสนใจ