รัฐบาลชูแผนรถไฟฟ้ากทม.รวมเกือบ 500 กม. ยาวกว่าลอนดอน เล็งเพิ่มจุดจอดแล้วจร

รัฐบาลกางแผนขนส่งมวลชน ชูเส้นทางรถไฟฟ้า กทม.ยาวเกือบ 500 กม. มากกว่ากรุงลอนดอน วางสายสีน้ำตาลเป็นตัวเชื่อม สร้างทางด่วนขนานทางรถไฟฟ้า เพิ่มจุดจอดแล้วจรอำนวยความสะดวกปชช. เผยติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้าง พร้อมผลักดันระบบขนส่งมวลชนตามจังหวัดใหญ่-เปิดทางเอกชนร่วมทุน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า วันนี้ที่ประชุมได้รับทราบแผนแม่บทการเดินรถโครงการรถไฟฟ้า มีการพิจารณาสายที่ 11 คือสายสีน้ำตาล ทำให้รวมแล้วกรุงเทพมหานครจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด 480 กิโลเมตร มากกว่าเส้นทางในกรุงลอนดอนที่มีเพียงกว่า 200 กิโลเมตรเท่านั้น โดยสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวจะมีทั้งระบบขนส่งมวลชนหรือรถไฟฟ้าและระบบทางพิเศษหรือทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน เพื่อเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ ทั้งนี้ สายสีน้ำตาลถือเป็นสายพิเศษที่เชื่อมรถไฟฟ้า 7 สายเข้าด้วยกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพิจารณาความเหมาะสม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน เชื่อว่าจะทำให้ระบบการเดินทางมีความสมบูรณ์ โดยพยายามใช้พื้นที่ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ด้วยการอ้อมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทางด้านหลัง แต่ที่มีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องมีการศึกษาโดยเฉพาะมลพิษทางเสียง ซึ่งปัจจุบันสามารถป้องกันได้ดี และอยากให้มองถึงผลประโยชน์โดยรวมของคนกรุงเทพมหานครและคนไทย

“ผมยังจำได้ เมื่อ 30 ปีที่แล้วตอนผมยังเป็นนักศึกษาอยู่ ทางด่วน 2 อันนี้คร่อมคลองประปา หลายคนกังวลว่าอนาคตคลองประปาจะเต็มไปด้วยตะกั่ว ซึ่งวันนี้ถ้าเราติดระบบกันเสียงและระบบต่างๆ ก็จะเห็นว่าสามารถจัดการได้และจะไม่มีปัญหามากมายอย่างที่กังวล ซึ่งทางด่วนจะอยู่ด้านหลัง ไม่ได้ผ่านด้านข้าง จะอยู่ในช่วงวิภาวดี-รังสิต” นายไพรินทร์กล่าว

เมื่อถามว่า หากมีรถไฟฟ้าแล้ว ทางด่วนยังมีความจำเป็นหรือไม่ นายไพรินทร์กล่าวว่า การเชื่อมต่อระหว่างตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานครมีความจำเป็น มิเช่นนั้นการวิ่งจากตะวันตกไปตะวันออกจะต้องวิ่งลงทางราบ ซึ่งหากนำรถเหล่านี้ขึ้นไปวิ่งบนทางด่วนได้ จะช่วยลดภาระของถนนแจ้งวัฒนะ ติวานนท์ และสายอื่นๆ ทั้งนี้ การสร้างรถไฟฟ้าและทางด่วนไม่ได้ช่วยให้จำนวนรถยนต์ลดลง เนื่องจากสถิติการจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นวันละ 1,500 คัน แต่จะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้เดินทาง และระบบขนส่งมวลชนจะใช้พลังงานรวมถึงสร้างมลพิษน้อยกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล

นายไพรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาค แบ่งเป็น 1.ภาคเหนือ คือจังหวัดเชียงใหม่ เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา และทางวิ่งระดับดิน ส่วนพิษณุโลก ที่ประชุมกำลังศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 รูปแบบ คือ รถโดยสารขนาดปกติ รถโดยสารขนาดขนาดเล็ก และรถรางล้อยาง เพื่อรองรับบริการขนส่งสาธารณะและบริการด้านโลจิสติกส์ 2.ภาคอีสาน คือ จังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งจะหารือกับท้องถิ่นถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นปลายทางของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะต้องเร่งสร้างการรองรับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3.ภาคใต้ คือ จังหวัดภูเก็ต เป็นระบบรางเบาและระบบทางวิ่งระดับดิน ขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการในเรื่องการลงทุนและก่อสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสม คาดว่าแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาการก่อสร้างจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) จำนวน 51 จุด ตามแนวรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 1.แผนการพัฒนาจุดจอดแล้วจรระยะเร่งด่วน ซึ่งเปิดให้บริการแล้วบางส่วนและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2562 ทั้งหมด 17 สถานี 2.แผนการพัฒนาจุดจอดแล้วจรระยะกลาง ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563-2565 ทั้งสิ้น 24 สถานี และ 3.แผนการพัฒนาจุดจอดแล้วจรระยะยาว ก่อสร้างในปี 2566-2572 จำนวนทั้งสิ้น 5 สถานี โดยแนวทางนี้จะเป็นการแก้ปัญหารถติดสำหรับผู้ที่เดินทางจากรอบนอกของกรุงเทพมหานครให้มีที่จอดรถ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าอีกด้วย

“หลักการของจุดจอดแล้วจร คือความต้องการให้ประชาชนจอดรถนอกเมือง เราไม่สามารถสร้างรถไฟฟ้าไปถึงบ้านของทุกคนได้ จึงหวังให้คนขับรถมาจอดที่จุดจอดก่อนจะเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้า ในปัจจุบัน จุดจอดแล้วจรในบางสถานีถือว่าประสบความสำเร็จ มีรถมาจอดเต็มความจุ เช่น แอร์พอร์ตลิงก์ แต่ที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าเช่น สถานีสายสีม่วง ซึ่งคนยังเข้าไปจอดรถค่อนข้างน้อย ในแต่ละจุด คาดหวังว่าจะรองรับจำนวนรถได้ 40,000 คัน โดยจุดจอดแล้วจรจะมีระบบรักษาความปลอดภัยด้วย” นายชัยวัฒน์กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์