ดราม่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 2560 (จบ) อ้อนรัฐค่าปรับแพง-ขอเวลาปรับตัว 2 ปี

ในที่สุดซีรีส์รวบรวมมุมมองและผลกระทบจาก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 นำเสนอเป็นตอนจบ โดยแขกรับเชิญ “คุณกอล์ฟ-ณัฏฐพร กลั่นเรืองแสง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ช่วยแจมมุมมองถึงผลกระทบที่มีต่อวงการอสังหาริมทรัพย์

“ตอนนี้อยู่ในช่วงผ่อนผัน ผลกระทบตรง ๆ ตอนนี้เป็นเรื่องเวลาในไซต์ก่อสร้าง เพราะถ้ากลับบ้านเยอะก็อาจเจอผู้รับเหมาขอเลื่อนการส่งมอบงานก่อสร้าง แต่ไม่น่ากระทบราคาขาย”

ปัจจุบัน กลุ่มเรียลฯ มีไซต์ก่อสร้างแบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 2 ไซต์ที่โครงการสเตจ เตาปูน กับลาวีค สุขุมวิท 57 ที่เหลือก็เป็นไซต์ก่อสร้างแนวราบ 7 โครงการ อาทิ บ้านเดี่ยว วิรันยา วงแหวน-อ่อนนุช, ทาวน์เฮาส์สองชั้นแบรนด์สตอรี่, เดอะพรีเทียม บางนา และแบรนด์เพล็กซ์ 3 ทำเลที่บางนา วัชรพล นวมินทร์

ณัฏฐพร กลั่นเรืองแสง

“ปกติไซต์ก่อสร้างแนวราบใช้ผู้รับเหมาหลัก 2 ราย คอนโดฯ 4-5 ราย ในแง่ต้นทุนหลังจากหมดเวลาผ่อนผันในต้นปีหน้า ต้องดูว่าแรงงานที่กลับไปตั้งหลักใหม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มบ้าง”

ข้อคิดเห็นคือ กฎหมายใหม่ทางรัฐบาลเน้นบริหารจัดการเรื่องความมั่นคง ในขณะเดียวกันคือป้องกันคนกลาง ตอนนี้ไม่รู้ว่ายิ่งแก้ปัญหาจะยิ่งทำให้เกิดคนกลางเยอะขึ้นหรือไม่

“ผลกระทบระยะยาวตั้งแต่ปีཹ เป็นต้นไป ในมุมผู้ประกอบการตอนนี้ก็อาจมีเสียงบ่นหน่อย แต่น่าจะหาทางเอาตัวรอดได้ โจทย์คือทำยังไงไม่ต้องให้เดือดร้อนผู้บริโภคมากนัก”

“กอล์ฟ-ณัฏฐพร” เล่าให้ฟังว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวขาดแคลนไม่ได้เกิดครั้งแรก แต่ย้อนกลับไป 2-3 ปีที่แล้วซึ่งรัฐบาลไทยมีแรงกดดันจากปัญหาการค้ามนุษย์ก็มีนโยบายเข้มงวดจนทำให้มีภาวะแรงงานคืนถิ่นมาแล้ว ตอนนั้นกว่าจะกลับมาทำงานในไทยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน โดยผู้รับเหมาไม่ได้ขอขึ้นค่าแรงแต่ขอเลื่อนเวลาส่งมอบการก่อสร้าง

“เรามีประสบการณ์แล้ว ทุกวันนี้แผนธุรกิจจะบวกช่วงกันชนหรือบัฟเฟอร์ไว้ประมาณ 3 เดือน หมายความว่าถ้าผู้รับเหมานัดส่งมอบงานเดือนกรกฎาคม เราจะบวกเวลาอีก 3 เดือนค่อยออกหนังสือนัดลูกค้าให้มาตรวจห้อง เพราะฉะนั้นมีเวลาเผื่อเหลือเผื่อขาดที่ยังบริหารจัดการได้อยู่”

สำหรับข้อแนะนำฝากถึงรัฐบาล ทางภาคเอกชนรับทราบนโยบายและตระหนักดีว่าวัตถุประสงค์มาถูกทาง แต่ในขั้นตอนปฏิบัติต้องมีความยืดหยุ่นและให้เวลาเตรียมตัว เพราะกฎหมายใหม่มีบทลงโทษสูงกว่าเดิมอย่างมาก


“ช่วงรอยต่อหรือช่วงทรานซิชั่นจากกฎหมายเดิมมาบังคับใช้กฎหมายใหม่ ต้องให้เวลาเอกชนปรับตัวเพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ไซต์ก่อสร้างไม่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว ข้อเสนอของผมรัฐอาจมีตารางเวลาบังคับใช้เป็นขั้นบันได เช่น ค่าปรับใหม่ 4-8 แสนบาท อาจเริ่มต้นจากอัตราครึ่งราคา หรือเริ่มจาก 2 แสนบาทแล้วให้เวลาปรับตัวภายใน 2 ปีจึงไปใช้บทปรับสูงสุด”