ปธ.ศาลปกครองสูงสุดเผย อ่านคำตัดสิน แอชตัน อโศก ไม่เกิน มิ.ย.66

ประธานศาลปกครองชี้มิถุนายนนี้ตัดสินคดีแรก ทุบไม่ทุบ แอชตัน อโศก เปิดหลักกฎหมายรื้อคดีอสังหาฯ

วันที่ 7 มีนาคม 2566 นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่น ในศาลปกครองสูงสุด ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีแอชตัน อโศก ว่า ในศาลปกครองนั้นมีคดีเกี่ยวกับอาคารแอชตัน อโศก อยู่ทั้งสิ้น 2 คดี คือ

1. คดีสมาคมต่อต้านโลกร้อนเป็นผู้ฟ้องให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งมีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อทำคำพิพากษาซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนพิพากษาคดี

2.คดีที่สยามสมาคมฟ้องให้รื้อถอนอาคาร ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 และคู่ความได้มีการอุทธรณ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจอุทธรณ์

สำหรับในคดีสมาคมต่อต้านโลกร้อนนั้นอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนพิจารณาแล้ว ขอเวลาอีกไม่นานจะมีคำพิพากษาออกมา นายประวิตรกล่าว

ด้านนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในคดีที่เกี่ยวข้องกับ “แอชตัน อโศก” นั้นมี 2 คดีดังที่นายประวิตรได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งทั้ง 2 คดีมีข้อแตกต่างกันหลายประการทั้งคู่ความ และประเด็นข้อวินิจฉัยในคดี ดังนั้นการจะถือเอาว่าคำพิพากษาในคดีหนึ่งจะส่งผลต่ออีกคดีย่อมไม่อาจถือเอาได้

เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่ว่านายชาญชัย แสวงศักดิ์ อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยว่า คดีแอชตัน อโศกจะจบในปี 2565 นั้น นายวรพจน์กล่าวว่า ในสมัยท่านชาญชัยและผมเองก็มีการเร่งรัดคดีในศาลปกครองทั้งหลายให้มีความรวดเร็วมาโดยตลอด

ในคดีของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนนั้นคาดว่าไม่น่าจะเกินช่วงเดือนมิถุนายนนี้จะได้เห็นคำตัดสิน

นอกจากนี้ประธานศาลปกครองสูงสุดยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับขอพิจารณาคดีใหม่อีกด้วยว่า การขอให้พิจารณาคดีใหม่ เป็นกลไกตามพระราชบัญญัติจัดตั้งและวิธีพิจารณาความศาลปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75

ที่ให้ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงใน 4 ประเด็น คือ

1.ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

2.คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกนั้นมิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา

3.มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม

4.คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

อันเป็นผลให้อาจจะตัดสินเป็นอื่นได้ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร้องขอต่อศาลใน 90 วัน แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่คดีถึงที่สิ้นสุด

เมื่อถามถึง 2 กรณีว่า ทั้งกรณีอาคารสูงในซอยร่มฤดี และแอชตัน อโศก หากคำพิพากษาออกมาในกรณีต้องรื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. … มาตรา 42 นั้น

หากมีข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปเช่น มีทางเข้าออกครบตามเกณฑ์ของพระราชบัญญัติหรือมีการแก้ไขกฎหมายให้การขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย จะขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่


นายวรพจน์กล่าวว่า กรณีที่ยกตัวอย่างนั้นเป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับรื้อคดีดังนั้นสามารถกระทำได้ในกรอบที่กำหนด แต่ในด้านกรอบเวลาจะต้องพิจารณารายละเอียดในข้อเท็จจริงอีกครั้ง