เสร็จมี.ค.นี้! สำรวจและออกแบบมอเตอร์เวย์ “ชลบุรี-หนองคาย” เร่งสร้างช่วงท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี

กรมทางหลวง โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดำเนินการสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษ สายชลบุรี – หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) – ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 1 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ในแผนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี – หนองคาย

เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ มีศักยภาพในการรองรับด้านคมนาคมและการขนส่งจากภูมิภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประกอบกับมีท่าเรือแหลมฉบังซึ่งถือเป็นประตูการค้าที่สำคัญระดับประเทศไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ พื้นที่ศึกษางานสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษ สายชลบุรี – หนองคาย ตอน ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) – ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 1 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ระยะทางรวม 64.95 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ตอนที่ 1 ส่วนที่ 1 มีจุดเริ่มต้นที่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จุดสิ้นสุดที่บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 331 กม.19+500 ต.เข้าคันทอง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ระยะทางรวม 20.45 กิโลเมตร แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ จ.ชลบุรี 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางละมุง และอำเภอศรีราชา

และตอนที่ 1 ส่วนที่ 2 มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 331 กม.ที่ 19+500 ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จุดสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 3340 กม.ที่64+000 บริเวณ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ระยะทางรวม 44.5 กิโลเมตร แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ จ.ชลบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีราชา, อำเภอบ้านบึง, อำเภอหนองใหญ่ และอำเภอบ่อทอง

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างได้กำหนดให้เป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 – 8 ช่องจราจร คาดว่าจะสำรวจแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561

หลังจากนั้นกรมทางหลวงจะดำเนินการศึกษาด้านวิศวกรรม, ด้านการจราจรและขนส่ง, ด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ด้วยเส้นทางการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ช่วยเสริมศักยภาพการเดินทางและการขนส่งระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สามารถกำหนดเวลาได้ ลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้า ตลอดจนลดปริมาณเชื้อเพลิง เป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและช่วยบรรเทาปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ