“BTS-ซีพี”ชิงไฮสปีดอีอีซี ปั่นที่ดินรอบใหม่ดักทำเล 5 สถานี

บิ๊กโปรเจ็กต์ EEC 2 แสนล้านเครื่องร้อน มี.ค.เคาะทีโออาร์ “สมคิด” เชิญทูตทั่วโลก แจงแผนยุทธศาสตร์ เปิดทางต่างชาติถือหุ้นไม่อั้น “ช.การช่าง” ร่วมพันธมิตรสายแข็งจากญี่ปุ่น “ซี.พี.” ผนึกทุนไทย-จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป “บีทีเอส” เร่งศึกษา “เซ็นทรัล” ตุนที่ดินรอพัฒนา เผยแบงก์กรุงไทยพร้อมปล่อยกู้ จับตา “เจ้าสัวเจริญ” กว้านซื้อที่บ้านบึง ชลบุรี “ศุภาลัย” ไล่เก็บ ชี้ราคาที่ดิน-อสังหาฯพุ่ง 50%

สมคิด ชงบิ๊กโปรเจ็กต์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – อู่ตะเภา ฉบับสมบูรณ์ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ กลางเดือนมีนาคมนี้ ตามด้วยโครงการสนามบินอู่ตะเภา ที่ทีโออาร์จะประกาศเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องโครงการท่าเรือแหลมฉบัง แผนลงทุนทั้งหมดจะให้ทีมเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เสนอเชิญชวนนักลงทุนและทูตจากทั่วโลกรับฟังรายละเอียดแผนเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภาคตะวันออกกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย

มี.ค.ประกาศเชิญชวน

นายอานนท์ เหลือบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมและรักษาการผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ด EEC อนุมัติกรอบลงทุนแล้วโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 226 กม. 2.06 แสนล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1.6 แสนล้านบาทและระบบสาธารณูปโภคและพัฒนาที่ดินมักกะสันกับศรีราชา 45,155 ล้านบาท ในเร็ว ๆ นี้บอร์ดอีอีซีจะเสนอ ครม.อนุมัติ

เดือนมีนาคมจะประกาศให้เอกชนไทยและต่างชาติร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 50 ปี ก่อสร้าง พร้อมพัฒนาพื้นที่ 9 สถานี ที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ และได้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ คาดกลางปีนี้จะได้ผู้ชนะมาดำเนินการ

สร้าง 5 ปีเดินรถ 45 ปี

“สัมปทาน 50 ปี เป็นงานก่อสร้าง 5 ปี เดินรถ 45 ปี จะเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จปี 2566 เอกชนจะหาทุนมาสร้างก่อน แล้วรัฐคืนภายหลังไม่เกินเพดานค่างานโยธา 1.2 แสนล้านบาท เริ่มชำระคืนปีแรกหลังสร้างเสร็จปี 2566 เพื่อลดความเสี่ยง โดยแบ่งชำระรายปีเบื้องต้น 10 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อเสนอของเอกชน” นายอานน์กล่าวและว่า

ส่วนผลตอบแทนที่ ร.ฟ.ท.จะได้คือส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารและค่าพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานี นอกจากนี้มีรายได้พัฒนาที่ดินมักกะสันและศรีราชาอีก 5 หมื่นล้านบาท และค่าโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้งานโยธากว่า 2 หมื่นล้าน รัฐบาลรับภาระ

“โครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูงมาก และเป็นครั้งแรกที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง จึงต้องเปิดประมูลแบบนานาชาติ ต้องหาจอยต์เวนเจอร์ที่แข็งแกร่ง ทั้งผู้เดินรถ ผู้รับเหมา อสังหาฯ ค้าปลีก เพราะมีหลายส่วน”

ต่างชาติถือหุ้นไม่อั้น

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ร่างทีโออาร์คืบหน้ากว่า 90% จะให้เวลาเอกชน 4 เดือนจัดทำรายละเอียด เดือน ส.ค.ยื่นซอง และเซ็นสัญญาก่อนสิ้นปีนี้

“ทราบจากรองนายกฯสมคิด มีผู้ให้ความสนใจมาก เอกชนร่วมทุนเป็นคอนซอร์เตี้ยม เราจะเปิดกว้างให้ต่างชาติร่วมโดยไม่จำกัดสัดส่วน”

ซี.พี.จับไทย-จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป

รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวว่า กำลังศึกษารายละเอียดด้านการเงินการลงทุน เพราะเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท จึงต้องมีพันธมิตรทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น และยุโรป อยู่ที่ว่าใครเก่งด้านไหน ซี.พี.แลนด์จะถนัดด้านโรงแรมและยังมี MQDC ทำโครงการมิกซ์ยูสไอคอนสยาม

ล่าสุด ซี.พี.ได้ซื้อที่ดินเตรียมไว้บ้าง แต่บอกรายละเอียดไม่ได้ เงื่อนไขที่ให้เอกชนกำหนดสถานีเองได้นั้น ไม่ว่าสถานีอยู่ตรงไหน เอกชนก็ต้องลงทุนก่อสร้างระบบเข้าไปเชื่อมทางอยู่แล้ว เหมือนไอคอนสยามเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีทอง

BTS จ้างที่ปรึกษา

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์รายละเอียด ระหว่างรอทีโออาร์ จะแล้วเสร็จใน 2-3 เดือนนี้ จะยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ มีซิโน-ไทย ราชบุรีโฮลดิ้ง ยูซิตี้ วีจีไอ ฯลฯ

CK ผนึกในเครือสู้

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ บมจ.ช.การช่าง กล่าวว่า พร้อมเข้าประมูลด้วย โดยมีบริษัทในเครือเข้าร่วม คือบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และหาพันธมิตรพัฒนาที่ดิน

รายงานระบุว่า ช.การช่างมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมี ปตท.และนักลงทุนจีน

เซ็นทรัลตุนที่ดิน

แหล่งข่าวผู้บริหารเซ็นทรัล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เซ็นทรัลมองทุกทำเลคือโอกาส โดยมีห้างที่ระยองและศรีราชา สามารถขยายลงทุนได้อีก

เช่นเดียวกับปีที่แล้วได้ซื้อหุ้นบริษัท ดาราฮาร์เบอร์ จำกัด 26 ล้านหุ้น หรือ 65% จาก บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค และได้สิทธิ์เช่าช่วงที่ดินในศรีราชา รองรับธุรกิจในอนาคต แผนเดิมเพอร์เฟคฯ เตรียมขึ้นศูนย์การค้า “ดารา ฮาเบอร์” ที่ใหญ่ที่สุดในศรีราชา พื้นที่ 125,700 ตร.ม. และพื้นที่เช่า 64,000 ตร.ม.

“ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่เรามีที่ดินไว้แล้ว การจะทำอะไรต่อยอดก็ไม่ใช่เรื่องยาก เซ็นทรัลจะไปในทุกที่ที่มีโอกาส”

KTB พร้อมปล่อยกู้

นายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังโครงการอีอีซีมีความชัดเจน ธนาคารก็มีโอกาสสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้รับเหมา ซึ่งมีไม่กี่รายในประเทศ ที่ผ่านมามีลูกค้าเตรียมเข้าไปประมูลงานนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ซึ่งกรุงไทยพร้อมซับพอร์ตเต็มที่ทั้งปล่อยกู้เดี่ยว และปล่อยกู้ร่วมสถาบันการเงินอื่นหรือซินดิเคตโลน

ที่ดินราคาพุ่ง

ส่วนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ตะวันออก แม้ยังไม่คึกคัก แต่ก็เป็นปัจจัยหนุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก สภาหอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการอีอีซี ทำให้ราคาที่ดิน 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง กลัวเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพราะเกิดเก็งกำไร ซึ่งราคาต่างกันไปแต่ละพื้นที่ บางจุดปรับสูงขึ้นเกินกว่า 50%

นายวิโรจน์ รมเยศ รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง ระบุว่าปัญหาที่น่ากังวลในขณะนี้คือ ราคาที่ดินขยับขึ้นทุกครั้งที่มีข่าวไฮสปีดไปลงระยอง ทำให้ราคาที่พุ่งสูงขึ้นติดเพดาน เช่น ถนนสาย 36 เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วอยู่ที่ไร่ละ 1 ล้านบาท แต่ตอนนี้พุ่งเป็น 12 ล้านบาท

เสี่ยเจริญ-ศุภาลัยหัวหอก

นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) กล่าวว่าขณะนี้เห็นการเก็งกำไรบ้างแล้ว ส่วนการกว้านซื้อที่เพื่อพัฒนาโครงการ จะมี บมจ. ศุภาลัย ลงทุนค่อนข้างมาก ที่หลายแปลงตั้งราคาสูงแต่ไม่มีคนซื้อ อย่างศรีราชาติดทางรถไฟ หรือติดถนนสุขุมวิท ราคาสูงถึงไร่ละ 40-50 ล้านบาท

“ด้านนิคมอุตสาหกรรม เริ่มเห็นต่างชาติมาดูพื้นที่ เนื่องกฎหมายอีอีซีให้เช่าที่ดินได้เกือบ 100 ปี ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ ตระกูลดัง มีการเคลื่อนไหวซื้อที่ดินในกลุ่มคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี คาดว่าจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม บริเวณบ้านบึง จ.ชลบุรี”

ท่องเที่ยวดี

นายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า ปี 2561 จะต้องทำแผนท่องเที่ยว EEC ให้เสร็จ คาดว่าปี 2564 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใน EEC จาก 29.89 ล้านคนปี 2560 เป็น 46.72 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มจาก 285,000 เป็น 508,000 ล้านบาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้ร่วมกับเอกชนในพื้นที่ เช่น หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรม

จังหวัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (ชลบุรี) สมาคมสปาไทย สมาคมเชฟเมืองพัทยาและจังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออก สมาคมผู้บริหารสนามกอล์ฟภาคตะวันออก สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก สวนเสือศรีราชา โรงแรมอวานีโฮเทลรีสอร์ทแอนด์สปา และเอกชนรายอื่น ๆ เข้าร่วมรับแผนและรับฟังความคิดเห็นร่างแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงพิเศษภาคตะวันออก รวมกว่า 300 ราย