กฎหมายใหม่ BEC-มาตรฐานอาคารพลังงาน บังคับใช้ตั้งแต่ 13 มี.ค. 66

LWS เผยคอนโดฯ เกือบ 200 แห่งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ต้องออกแบบตามเกณฑ์อาคารประหยัดพลังงานที่ (BEC-Building Energy Code) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 ส่งผลต้นทุนก่อสร้างเพิ่ม 5% แต่สามารถประหยัดค่าพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี ระยะเวลาคืนทุน 3.5 ปี

8 พฤษภาคม 2566 นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยพัฒนาและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท LPN ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย

ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทำให้กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท ขนาดของอาคาร และกำหนดวิธีในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

โดยกฏกระทรวงดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 รวมทั้งออกประกาศกระทรวง ประกาศกรม ในปี 2564

มีผลบังคับใช้กับอาคารที่จะสร้างใหม่ หรือดัดแปลงอาคาร ให้มีการออกแบบเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมาย โดยเริ่มนำร่องใช้กับอาคารภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มมีบังคับใช้กับการก่อสร้างอาคารภาคเอกชนในวันที่ 13 มีนาคม 2566

ประเภทอาคารที่เข้าเกณฑ์ BEC

นายประพันธ์ศักดิ์อธิบายว่า กฎกระทรวงใหม่เป็นเกณฑ์ที่เรียกว่า “เกณฑ์มาตรฐานอาคาร ด้านพลังงาน (Building Energy Code หรือ BEC)”

มีผลบังคับใช้กับอาคาร 9 ประเภท ที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียว ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป

สาระสำคัญของการกำหนดค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการออกแบบทั้งสิ้น 6 ระบบ

ได้แก่ ระบบเปลือกอาคาร (OTTV, RTTV), ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (LPD), ระบบปรับอากาศ, อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน, การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียน

พร้อมกับแบ่งกลุ่มของอาคารเป็น 3 กลุ่มตามระยะเวลาการใช้งานของอาคารในแต่ละวัน ซึ่งใน 3 กลุ่มแบ่งประเภทอาคารรวมย่อยออกมาเป็น 9 ประเภท คือ

“กลุ่มที่ 1” ใช้งานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้แก่ สถานศึกษา, สำนักงานหรือที่ทำการ

“กลุ่มที่ 2” ใช้งานวันละไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า, สถานบริการ, โรงมหรสพ, อาคารชุมนุมคน

“กลุ่มที่ 3” ใช้งานวันละไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อวัน ได้แก่ สถานพยาบาล อาคารชุด โรงแรม

ขั้นตอนการยื่นเอกสาร อ.1

เกณฑ์ในการพิจารณาจะใช้โปรแกรม Building Energy Code (BEC) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการคำนวณค่าการอนุรักษ์พลังงาน ที่ต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานออกเป็น 2 ลักษณะคือ

1.การประเมินผ่านทุกรายระบบทั้ง 6 ระบบ หรือ 2.การประเมินการใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร ซึ่งสามารถดาวน์โหลดเพื่อดูหลักเกณฑ์การประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน เอกสารรายละเอียดเพิ่มเติม และข่าวสารสำคัญได้ทาง https://2e-building.dede.go.th/

หลังจากที่เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (BEC) มีผลบังคับใช้กับภาคเอกชนในวันที่ 13 มีนาคม 2566  “LWS” ได้สำรวจข้อมูลคอนโดมิเนียมที่เข้าเกณฑ์ต้องขออนุญาตในการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามเกณฑ์ BEC ในปี 2566 ทั้งสิ้น 168 อาคาร

แบ่งเป็นคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2566 ทั้งสิ้น 76 โครงการ มูลค่ารวม 94,224  ล้านบาท

และเป็นโครงการที่เปิดตัวใหม่ในปี 2565 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 จำนวน 92 โครงการ มูลค่า 135,297 ล้านบาท

ในขณะที่ พพ. รายงานว่า ปัจจุบันมีอาคารที่ผ่านเกณฑ์ของ BEC แล้วทั้งสิ้น 4,782 อาคาร

แบ่งเป็นอาคารที่มีขนาดพื้นที่ใช้สอยน้อยกว่า 2,000 ตารางเมตร จำนวน 1,780 อาคาร, อาคารที่มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 2,001-5,000 ตารางเมตร 1,360 อาคาร, อาคารขนาดพื้นที่ 5,001-10,000 ตารางเมตร 785 อาคาร

อาคารขนาด 10,001-20,000 ตารางเมตร 190 อาคาร และโครงการขนาดมากกว่า 20,001 ตารางเมตร 667 อาคาร

โดยเป็นอาคารชุดพักอาศัยสัดส่วน 53% ของอาคารทั้งหมด ตามมาด้วยอาคารสำนักงาน 13% และอาคารประเภทที่ใช้งานหลากหลายประเภท หรือ Mixed Use 8%

ขั้นตอนการยื่นเอกสาร อ.5

จากรายงานของ พพ. ระบุด้วยว่า อาคารที่ก่อสร้างภายใต้มาตรฐานของ BEC จะมีต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับอาคารทั่วไป (Typical Building)

ขณะเดียวกันอาคารที่ก่อสร้างตามมาตรฐานของ BEC จะสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าอาคารทั่วไปไม่น้อยกว่า 10%

จากผลการศึกษาพบว่า อาคารที่ก่อสร้างใหม่ (New Building) มีจำนวนเฉลี่ย 3,300 อาคารต่อปี เป็นส่วนของอาคารของภาคเอกชน 3,000 อาคารต่อปี และภาครัฐ 300 อาคารต่อปี

ภายใต้มาตรฐานของ BEC จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 1,400 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี

เมื่อคำนวณกับต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นจากการก่อสร้างภายใต้มาตรฐาน BEC จะใช้เวลาในการคืนทุนในส่วนของต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นได้ภายในระยะเวลา 42 เดือน หรือ 3 ปี 6 เดือน

“ผลศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อาคารที่ถูกออกแบบและก่อสร้างตามเกณฑ์ BEC ถึงแม้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่ระยะเวลาคืนทุนเร็ว สามารถประหยัดค่าพลังงานได้ในระยะยาว ในภาวะที่ราคาพลังงานปัจจุบันมีความผันผวนและแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ มาตรฐาน BEC นอกจากจะมีผลบังคับใช้กับอาคารใหม่ที่ขออนุญาตหลังวันที่ 13 มีนาคม 2566 แล้ว ยังมีผลกับอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่จะสร้างเสร็จหลังวันที่ 13 มีนาคม 2566 ด้วย

เนื่องจากตามเกณฑ์ดังกล่าว ในการเข้าตรวจสอบอาคารเพื่อเปิดใช้อาคารจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์ของ BEC หรือไม่ ภายใน 15 วันทำการ

หากอาคารและระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในอาคารไม่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทางเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการสั่งให้แก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดจึงจะสามารถเปิดใช้อาคารได้

นายประพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า จากมาตรฐานและเกณฑ์ BEC ดังกล่าว ทำให้นักพัฒนาอสังหาฯ ทั้งโครงการคอมเมอร์เชียล สำนักงาน คอนโดมิเนียม จำเป็นต้องให้ความสำคัญและได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่มีใบอนุญาตจากกระทรวงพลังงาน

เพื่อให้การออกแบบและปรับปรุงอาคารเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ LWS มีความเชี่ยวชาญ

“เรามีทีมงานที่ได้รับใบอนุญาตในการให้คำแนะนำ การเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงวิธีการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง และดัดแปลงอาคารด้านพลังงานด้วยโปรแกรมการประเมิน BEC” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว