สำรวจรายได้ 10 รับเหมา ITD พลิกกำไร “ช.การช่าง-ซิโน-ไทย” วูบ

คอลัมน์ ดาต้าเบส

จากการปูพรมแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเมกะโปรเจ็กต์มาอย่างต่อเนื่องภายใต้การขับเคลื่อนของ “รัฐบาล คสช.” ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศตุนรายได้ปี 2560 กันคึกคักถ้วนหน้า

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมผลประกอบการของ 10 บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เริ่มที่พี่ใหญ่ของวงการ “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” แม้ในเวลา 1 เดือนที่ผ่านมานายใหญ่ “เปรมชัย กรรณสูต” จะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากสังคมอย่างหนักจากกรณีเข้าไปล่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ปี 2560 “อิตาเลียนไทยฯ” มีรายได้รวม 56,139.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,750.45 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้ 48,389.18 ล้านบาท และพลิกมีกำไรสุทธิ 412.65 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ขาดทุน 109.27 ล้านบาท

สาเหตุที่รายได้เพิ่มขึ้นมาจากเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการขนาดใหญ่ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1, รถไฟฟ้าสายสีส้มสัญญาที่ 3, โครงการกรุงศรีเพลินจิตทาวเวอร์, โครงการวิซดอม 101 และงานตกแต่งภายในสถาบันจักรีนฤบดินทร์ เป็นต้น

ฝั่งเบอร์สอง “บมจ.ช.การช่าง” ของตระกูลตรีวิศวเวทย์ ทำรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 38,553.61 ล้านบาท ลดลง 9,043.54 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้อยู่ที่ 47,597.15 ล้านบาท ในส่วนของกำไรสุทธิก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,810.01 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2559 อยู่ที่ 2,002.40 ล้านบาท เป็นเพราะงานก่อสร้างในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมีเพิ่มขึ้น บวกกับมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่างานก่อสร้างหลัก และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น350.30 ล้านบาท

ขณะที่เบอร์สาม “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น” ของตระกูลชาญวีรกุล มีรายได้รวมอยู่ที่ 21,190.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,504.77 ล้านบาท จากปี 2559 มีรายได้รวม 18,649.81 ล้านบาท เป็นผลมาจากการที่บริษัทและบริษัทย่อยสามารถชนะการประมูลงานก่อสร้างโครงการใหม่ได้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการขนส่งของภาครัฐ

แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นแต่กำไรสุทธิกลับติดลบ 610.83 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 อยู่ที่ 1,380.75 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีความล่าช้าส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่จนทำให้มีการขยายเวลาก่อสร้างออกไปและเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ต่อกันที่เบอร์สี่ของวงการ “บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น”ปี 2560 มีรายได้รวม 12,675.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.98 ล้านบาท จากปี 2559 มีรายได้รวมอยู่ที่ 12,665.14 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 890.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.72 ล้านบาท จากปี 2559 มีกำไรสุทธิ 883.37 ล้านบาท

ด้าน “บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ” มีรายได้ 9,345.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 945.91 ล้านบาท จากปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 8,399.41 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ที่มาจากการขายและบริการเพิ่มขึ้น 526.45 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 202.81 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 52.02 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารและการขายเพิ่มขึ้น 600.95 ล้านบาท

ส่วน “บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น” มีรายได้ 7,943.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 940.26 ล้านบาท จากปี 2559 มีรายได้ 7,003.29 ล้านบาทเป็นผลมาจากจำนวนงานก่อสร้างของบริษัทที่มีเพิ่มมากขึ้น และมีกำไรสุทธิ 94.47 ล้านบาท ลดลง 46.01 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 140.48 ล้านบาท เป็นเพราะต้นทุนงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น จากนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบกับบริษัทมากที่สุด

ค่าย “บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น” มีรายได้ 9,156.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,136.58 ล้านบาท จากปี 2559 อยู่ที่ 9,156.70 มีกำไรสุทธิ 1,008.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138.01 ล้านบาท จากปี 2559 มีกำไรสุทธิ 870.40 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ “บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง” มีรายได้ 8,427.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,035.69 ล้านบาท จากปี 2559 อยู่ที่ 5,392.22 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,113.41 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 922.29 ล้านบาท จากปี 2559 อยู่ที่ 191.12 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น

ด้าน “บมจ.พรีบิลท์” มีรายได้ 4,827.02 ล้านบาท ลดลง 547.05 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีรายได้ 5,374.07 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 703.55 ล้านบาท ลดลง 84.58 ล้านบาท จากปี 2559 มีกำไรสุทธิ 703.55 ล้านบาท เนื่องจากโครงการในแต่ละปีที่ทำเสร็จ จะมีอัตรากำไรและโครงสร้างสัญญาที่แตกต่างกันไป


สุดท้าย “บมจ.ซีฟโก้” มีรายได้ 1,907.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.15 ล้านบาท จากปี 2559 อยู่ที่ 1,878.10 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 210.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.81 ล้านบาท จากปี 2559 มีกำไรสุทธิ 156.07 ล้านบาท