2 แสนล้านผุดสนามบินแห่งที่ 2 “พังงา-บ้านธิ” แก้วิกฤต “ภูเก็ต-เชียงใหม่”

เรียกว่าขยันขันแข็งเดินสายมอบนโยบายติดตามงานขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขุนพลเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.

นอกจากจะทำงานแข่งกับเวลา ยังต้องเร่งสปีดเค้นผลงาน เก็บคะแนนความนิยมให้กับดรีมทีมรัฐบาลปรากฏต่อสายตาประชาชน ก่อนโหมดการเลือกตั้งจะเริ่มบรรเลง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา “สมคิด” หนีบสองรัฐมนตรีคุมกระทรวงคมนาคม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” และ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ตรวจแถวการทำงานของ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” โดยเฉพาะการรับมือนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

เร่งแก้วิกฤตเที่ยวบิน-คนทะลัก

จนทำให้ 2 สนามบินหลัก “ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ” มีความแออัดทั้งผู้โดยสารและการจราจรทางอากาศ ซึ่งเรื่องนี้ “สมคิด” เดดไลน์ ทอท.แก้ปัญหาให้เห็นผลใน 3 เดือน ขณะที่สนามบินภูมิภาคซึ่งมีปัญหาไม่ต่างกัน ได้สั่งการให้ ทอท.เร่งแก้ไข

เริ่มจาก “สนามบินเชียงใหม่” ในระยะสั้นเร่งพัฒนาที่จอดรถเพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวและให้เห็นความก้าวหน้าใน 3 เดือน ส่วนระยะยาว “ทอท.” กำลังหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 รองรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการที่เพิ่มขึ้นทุกปี

Advertisment

ส่วน “สนามบินภูเก็ต” ซึ่งประสบปัญหามีรันเวย์เดียว ทำให้ขีดความสามารถจะรองรับนักท่องเที่ยวมีไม่เพียงพอ ทาง “ทอท.” กำลังหาพื้นที่เหมาะสมก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งใหม่ ซึ่งได้พื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว

บูมสนามบินหัวเมืองรอง

Advertisment

ขณะเดียวกัน “สมคิด” มีแนวคิดที่จะบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยกว่า 30 ล้านคนต่อปี ให้กระจายกันไปใช้บริการสนามบินจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นเมืองรอง สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่กำลังมีแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

โดยเฉพาะภาคใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร กำลังมีการพัฒนาโครงการ “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” แต่สนามบินในพื้นที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จึงได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ ทอท.ประสานงานกันแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว

ทอท.ทุ่มลงทุน 2.2 แสนล้าน

ด้าน “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวเสริมว่า แผนงานต่าง ๆ ตามที่ได้วางแผนลงทุนระยะ 10 ปี (2558-2568) ใช้งบฯลงทุน 2.2 แสนล้านบาท เดิมปี 2558 วางไว้ว่า จะมีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวได้ 83.5 ล้านคนต่อปี ผ่านมา 3 ปี ได้ปรับศักยภาพใหม่เป็น 101 ล้านคนต่อปี แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะศักยภาพจริงนั้นรองรับอยู่ที่ 130 ล้านคนต่อปี

ดังนั้น ทอท.จะเน้นการดำเนินงานในแผนระยะสั้นและระยะกลางก่อน เพราะแผนงานในระยะยาวที่ต้องประเมินตัวเลขผู้ใช้บริการยังไม่นิ่งและมีแนวโน้มจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ทุกปี เบื้องต้นจะเน้นแก้ปัญหาระยะสั้นในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ตก่อน แต่มีนโยบายให้นำสนามบินดอนเมืองเข้าไปรวมด้วย เพราะมีปัญหาในระดับวิกฤตเช่นกัน

สำหรับการแก้ปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ ในระยะสั้นจะเพิ่มจุดเช็กอินและจุดตรวจกระเป๋าและสัมภาระ และจะใช้พื้นที่ห้องรับรอง (Lounge)ของการบินไทยที่ได้รับการคืนพื้นที่มา ทำเป็นจุดเช็กอินและจุดตรวจค้น อาจจะกระจายเพิ่มขึ้นบริเวณโรล A และ B รวมถึงการใช้ระบบ auto check-in มาใช้อีกด้วย

สุวรรณภูมิเฟส 2 ทยอยเสร็จ

ขณะที่ความคืบหน้าการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ได้เปิดประมูลครบแล้วทุกแผนงาน ยังเหลืองานอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ยังติดขัดการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

เนื่องจากการขยายพื้นที่บางส่วนจะต้องทุบกระจกบริเวณอาคารผู้โดยสารเดิม จะทำให้จุดเช็กอินหายไป 25-30% จึงต้องทำ EIA เพิ่ม ในช่วงนี้ จะก่อสร้างในบางส่วนไปก่อน เช่น อาคารจอดรถ อาคารสำนักงาน อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 จะเสร็จในเดือน พ.ย. 2562 รันเวย์ 3 แล้วเสร็จปี 2563

ส่วนการแก้ปัญหาสนามบินภูมิภาค สำหรับภาคใต้ที่มีสนามบินภูเก็ตเป็นสนามบินหลักกำลังมีปัญหานักท่องเที่ยวแออัด แม้ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศจะสร้างเสร็จพร้อมให้บริการวันที่ 28 พ.ย.นี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี เพราะยังมีปัญหาเรื่องรันเวย์และทางขับไม่เพียงพอ

ปักธงพังงาแห่งที่ 2 สนามบินภูเก็ต

วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ หาพื้นที่ใหม่สำหรับก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 เบื้องต้นได้ศึกษาร่วมกับกระทรวงคมนาคมแล้ว น่าจะเป็นพื้นที่ใน จ.พังงาที่เป็นแผ่นดินใหญ่ (mainland) เป็นหลัก จะมีที่ดินทั้งของกรมธนารักษ์และที่ดินเอกชนปะปนกันไป เพราะเป็นสนามบินขนาดใหญ่

“คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาให้เห็นชอบในหลักการได้ในเดือน เม.ย.- พ.ค.นี้ จากนั้นก็จะขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 75,000 ล้านบาท รองรับนักท่องเที่ยวได้ 10 ล้านคนต่อปี”

ส่วน “สนามบินเชียงใหม่” คาดการณ์ผู้มาใช้บริการปีนี้อยู่ที่ 8 ล้านคน แต่ขณะนี้ต้องรองรับผู้ใช้บริการถึง 20 ล้านคน ในเบื้องต้นก็มีการปรับการคาดการณ์โดยปรับจากเดิมปี 2568 จะรองรับได้ 18 ล้านคน มาอยู่เป็นเป้าของปี 2565 แทน ส่วนปี 2574 จะรองรับได้ 20 ล้านคน ก็ร่นมาอยู่ปี 2568 ขณะนี้ดีมานด์ของสนามบินโตไม่ทันตัวเลขผู้ใช้บริการจริง

“ปริมาณผู้ใช้บริการที่มีจำนวนมาก รองนายกฯสมคิดจึงอยากให้สร้างอีกสนามบินหนึ่งไว้รองรับลูกค้าระดับแมสที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุก ๆ ปี ขณะที่ตัวสนามบินเดิมก็ทำให้รองรับลูกค้าระดับไฮเอนด์”

เบื้องต้นกำหนดรูปแบบสนามบินแห่งใหม่ให้รองรับผู้มาใช้บริการได้ 10 ล้านคน ใช้เงินลงทุนประมาณ 54,000-60,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะกรรมการเห็นชอบในหลักการได้ในเดือน เม.ย.- พ.ค.นี้ พร้อมกับสนามบินภูเก็ต ส่วนจะเริ่มลงทุนเมื่อไหร่ต้องขึ้นอยู่กับการผลักดันอย่างจริงจังของภาครัฐด้วย หากสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งใหม่ไม่เสร็จใน 10 ปีนี้ความแออัดของสนามบินจะยิ่งแย่

เคาะบ้านธิ “เชียงใหม่ 2”

ขณะที่การสนับสนุนโครงการ “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” ทาง ทอท.และ ทย.จะช่วยกันพิจารณาศักยภาพพื้นที่ใน อ.หัวหิน และ จ.ชุมพรเตรียมการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ว่า พื้นที่ใดมีความเหมาะสมมากกว่า คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นถึงเริ่มกระบวนการทำแผน อาจจะวางโมเดลเหมือนกับ 6 สนามบินที่ ทอท.บริหาร คือ โอนที่ดินให้กรมธนารักษ์ดูแล ส่วน ทอท.ก็เช่ามาดำเนินการ

ด้าน “ประสงค์ พูนธเนศ” ประธานคณะกรรมการ ทอท.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่ก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 อยู่บริเวณ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ส่วนภูเก็ตอยู่พื้นที่ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา จะข้ามสะพานสารสินไป โดย ทอท.จะนำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาเร็ว ๆ นี้