เจ้าท่าผนึกเรือด่วนเปิดบริการรับ-ส่ง​คนถึงสถานีรถไฟฟ้า

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่าได้ประชุมหารือ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เพื่อวางแผนพัฒนา การเดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยารูปแบบใหม่ อันเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมการขนส่งผู้โดยสารทางน้ำ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน และสามารถเชื่อต่อกับระบบขนส่งทางราง (รถไฟฟ้า)

ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทฯ ให้บริการเดินเรือ ตั้งแต่ท่าเรือปากเกร็ดถึงท่าเรือวัดราชสิงขร มีเรือให้บริการ 4 ประเภท อาทิ เรือโดยสารประจำทาง (ไม่มีธง) เรือด่วนพิเศษธงส้ม เรือด่วนพิเศษธงเหลือง และเรือด่วนพิเศษธงเขียว มีเรือที่ใช้งานอยู่ ทั้งสิ้น 59 ลำ เป็นแบบเรือ mono hull (ลำตัวเดี่ยว) ตัวเรือทำด้วยไม้ตะเคียน มีทั้งเรือโดยสาร 1 เครื่องยนต์ และเรือโดยสาร 2 เครื่องยนต์ ซึ่งบริษัทฯ มีแผนจะทำการยกระดับพัฒนาเรือโดยสารฯ ให้เป็นเรือลำตัวคู่ Catamaran วัสดุตัวเรือทำด้วยอะลูมิเนียม มีการออกแบบที่ก่อให้เกิดคลื่นน้อย และประหยัดพลังงาน มีความสะดวกสบายและทันสมัย มีความปลอดภัย มีระบบติดตามเรือ (GPS) และระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในเบื้องต้น บริษัทจะสร้างเรือ จำนวน 6 ลำ เพื่อให้บริการตั้งแต่ ท่าเรือพระนั่งเกล้า ถึงท่าเรือสาทร เรือโดยสารรูปแบบใหม่นี้จะให้บริการรับส่งผู้โดยสารจำนวน 10 ท่าเรือ ซึ่งเป็นท่าเรือมีระบบขนส่งเชื่อมต่อทางราง อาทิ ท่าเรือพระนั่งเกล้า (รถไฟฟ้าสายสีม่วง) ท่าเรือบางโพ (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) ท่าเรือราชินี (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) และท่าเรือสาทร (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) ซึ่งระยะเวลาเรือโดยสารรูปแบบใหม่จะให้บริการเดินเรือตั้งแต่เวลา 06.30 – 19.00 น. จำนวน 44 เที่ยว/วัน ความถี่ในการเดินเรือ ประมาณ 20-30 นาที /เที่ยว และที่สำคัญประชาชนสามารถประหยัดเวลาเดินทางจากท่าเรือต้นทางถึงท่าเรือปลายทาง จากปกติใช้เวลาประมาณ 45 นาที ทำให้ลดลงเหลือเวลาประมาณ 30 นาทีประหยัดเวลาได้ประมาณ 10-15 นาที มีความสะดวกและรวดเร็วเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยารูปแบบใหม่จะใช้เวลาในการต่อสร้างเรือประมาณ 8-10 เดือน พร้อมรองรับการต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 และต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้า BTS ที่ท่าเรือสาทรอีกด้วย โดยกรมเจ้าท่า จะกำหนดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม