เม.ย.ชงรถไฟฟ้าต่อขยาย”สีม่วงใต้-แดง”

เร่งประมูล - ตั้งแต่เม.ย.นี้เป็นต้นไป กระทรวงคมนาคมเตรียมนำโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสารพัดสีเข้าเสนอครม.อนุมัติเพื่อเปิดประมูล มูลค่ากว่า 2.8 แสนล้าน

“อาคม” จัดแถวประมูลรถไฟฟ้าต่อขยาย 8 เส้นทาง วงเงินกว่า 2.8 แสนล้าน เร่งชง ครม.อนุมัติให้หมดภายในปี”61 ดีเดย์ เม.ย.คลอดทีโออาร์สายสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” แบ่งก่อสร้าง 6 สัญญา และสีแดง “ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา”

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการและรักษาการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้จะเปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 210,454 ล้านบาท ได้แก่ สายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท เตรียมจะประกาศประกวดราคางานโยธาภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ วงเงิน 77,385 ล้านบาท แยกเป็น 6 สัญญา มีงานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา และระบบราง 1 สัญญา คาดว่าปลายปี 2562 จะเซ็นสัญญาและเริ่มงานก่อสร้างและแล้วเสร็จในปี 2567

“การเปิดประมูลเลื่อนไปจากเดิมเดือน ก.พ. เพราะรอทางกรมบัญชีกลางอนุมัติการขอยกเว้นเงื่อนไขใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่จะให้ใช้เงินกู้ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี 10% ของวงเงินก่อสร้าง หรือ 7,700 ล้านบาท สำหรับจ่ายค่าก่อสร้างช่วงแรก ที่เหลือจะกู้ในประเทศ”

นอกจากนี้ยังต้องรอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อนุมัติการใช้พื้นที่สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบตรงข้ามท่าวาสุกรี เพื่อเป็นไซต์ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นงานก่อสร้างช่วงใต้ดิน โดย รฟม.จะจ่ายค่าชดเชยพร้อมกับสร้างอาคารหลังใหม่ให้หลังงานก่อสร้างแล้วเสร็จ หากไม่ได้รับการอนุมัติ อาจกระทบต่อการแบ่งสัญญางานก่อสร้างช่วงดังกล่าวจะต้องมีระยะทางที่ยาวขึ้น

“ในเดือน มี.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ รฟม. จะนำเสนอเรื่องผลวิเคราะห์รูปแบบการลงทุน PPP ของสายสีม่วงใต้ในส่วนของการเดินรถ”

นายฤทธิกากล่าวอีกว่า สำหรับสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 13.4 กม. กรอบวงเงิน 109,342 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน PPP ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อสร้างและบริการจัดการเดินรถตามขั้นตอนต่อไป

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ทั้งก่อสร้างและเดินรถ หรือ รฟม.จะลงทุนงานโยธาให้เอกชนลงทุนงานระบบ หรือ รฟม.ลงทุนเอง 100% ส่วนงานเดินรถจะรวมกับสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โดยให้เอกชนร่วมลงทุน PPP วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2568

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายในปี 2561 จะนำโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายที่เหลือให้ ครม.อนุมัติให้หมด มีทั้งสิ้น 7 เส้นทาง จำนวน 8 โครงการ รวมระยะทาง 87.6 กม. ได้แก่ สายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 7,596 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 19,042 ล้านบาท, สายสีน้ำเงินต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท, สายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์

ส่วนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 31,149 ล้านบาท จะนำไปรวมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ด้านสายเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกาคลอง 5 วงเงิน 9,803 ล้านบาท และช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146 ล้านบาท จะชะลอไปก่อน เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างเจรจาโอนทรัพย์สินโครงการส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงสำโรง-สมุทรปราการ ที่ รฟม.จะถ่ายโอนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับผิดชอบ โดยรถไฟชานเมืองสีแดงอ่อนจะเสนอในที่ประชุม ครม.ภายในเดือน เม.ย.นี้