ดาต้าเซ็นเตอร์ไทยบูม สหรัฐ-จีนแห่ลงทุน Q1/66 โต 30% 269 เมกะวัตต์

ไนท์แฟรงก์ - มาร์คัส

ไนท์แฟรงก์ ประเทศไทย เผยตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ไทยเป็นช่วงขาขึ้น ยักษ์เทคจากสหรัฐและจีนเข้ามาปักหมุดลงทุน ล่าสุดไตรมาส 1/66 พุ่งไปถึง 269 เมกะวัตต์ เติบโตเกือบ 30% เมื่อเทียบกับปี 2565

วันที่ 18 มิถุนายน 2566 เรด ฟิตซ์ลัน ฮาวาร์ด หัวหน้าด้านดาต้าเซ็นเตอร์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท ไนท์แฟรงก์ กล่าวว่า ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยเติบโตอย่างมาก รับอานิสงส์ยุคดิจิทัล

โดยผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ มองเห็นโอกาสในตลาดที่กำลังเติบโตเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย ประกอบกับการใช้งานระบบคลาวด์ที่มีอย่างแพ่รหลาย

กลุ่มนักลงทุนจึงใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ การรวมกิจการ การเข้าร่วมลงทุนร่วมกัน (M&A), การจัดหาที่ดิน ล่าสุด โดยผู้ให้บริการระบบคลาวด์จากประเทศสหรัฐและจีนมีแผนขยายตลาดเข้ามาในประเทศไทย

“เราคาดหวังที่จะเห็นการเติบโตของการใช้งานเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากผู้ให้บริการจากสหรัฐและจีนจะเช่าพื้นที่ที่สำคัญเพื่อดำเนินธุรกิจระบบคลาวด์”

ด้านมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายพื้นที่อุตสาหกรรม ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การหาทำเลดาต้าเซ็นเตอร์ที่เหมาะสม เป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักลงทุน

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยเติบโตอย่างมากในไตรมาส 1/66 โดยได้รับปัจจัยบวกจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และการพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่กำลังเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จำนวนการใช้งานเทคโนโลยีต่อประชากรในไทยยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดที่เติบโตแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง

ADVERTISMENT

จุดดึงดูดอยู่ที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BoI) ให้สิทธิประโยชน์ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี เป็นต้น

สถิติไตรมาส 1/66 ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ที่ 269 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากช่วงปลายปี 2565 หลัก ๆ มาจากการร่วมมือของผู้นำในตลาดและผู้ให้บริการรายใหม่

แนวโน้มตลาดคึกคักตลอดทั้งปี มีซัพพลายจากโครงการที่กำลังพัฒนา เช่น KDDI Telehouse สร้างโรงงานดาต้าเซ็นเตอร์แล้วเสร็จ ขนาด 9.5 เมกะวัตต์ ในโซนพระราม 9

ในขณะที่ OneAs1a กำลังพัฒนาพื้นที่ส่วนแรกขนาด 3 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 13.5 เมกะวัตต์ ในโซนปทุมธานี

นอกจากนี้ NTT Global Data Centers ได้ประกาศแผนพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ Bangkok 3 ซึ่งเป็นโรงงานขนาด 12 เมกะวัตต์ ตามแผนเปิดให้บริการที่จังหวัดชลบุรี ในปี 2567

และ GSA Data Center เพิ่งจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาด 20 เมกะวัตต์ ในจังหวัดสมุทรปราการ และยังมีแผนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568

ในส่วนดีมานด์ บริการคลาวด์และการจัดเก็บข้อมูลที่มีความต้องการมากขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย

โดยมาจากหลากหลายธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมการเงิน ทั้งธุรกิจธนาคาร หลักทรัพย์ ประกัน อีคอมเมิร์ซ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ บริษัทเทคโนโลยี และหน่วยงานรัฐบาล

ลูกค้าทั้งภายในประเทศเองหรือต่างชาติต้องการโครงสร้างพื้นฐานของดาต้าเซ็นเตอร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจและจัดการปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แนวโน้มดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย จะเห็นผู้ประกอบการต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ (Hyper Scalers)

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีดาต้าเซ็นเตอร์เพียงไม่กี่แห่ง มีความจุไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ ล่าสุดมีการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความจุ 10 เมกะวัตต์ หรือสูงกว่า

เมื่อเร็ว ๆ ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของผู้นำยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก อย่าง Google และ Amazon Web Services (AWS) จากการประกาศแผนจัดตั้งศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในประเทศไทย

การขยายตัวเชิงกลยุทธ์นี้ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับไทย ในฐานะศูนย์กลางดิจิทัลที่สำคัญในอาเซียน

ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดที่มีดาต้าเซ็นเตอร์มากที่สุดในภูมิภาค ได้ออกมาตรการใหม่ มีโควตาจำกัดที่ 60 เมกะวัตต์สำหรับกำลังการผลิตใหม่ในแต่ละปี

เป็นตัวช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากความต้องการของดาต้าเซ็นเตอร์ที่เพิ่มขึ้นได้ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่กำลังมองหาสถานที่สำหรับการดำเนินธุรกิจ

ในระดับโลก ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพใช้พลังงานภายในดาต้าเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง ลดการใช้พลังงาน (PUE) และเพิ่มความหนาแน่นเพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ มีการศึกษาและพัฒนานวัตกรรม เช่น การระบายความร้อนด้วยของเหลว การรวมพลังงานหมุนเวียนเข้าด้วยกัน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน