“ซีเมนส์” ยึดระบบรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน 2 หมื่นล้าน

“ช.การช่าง” ซื้อขบวนรถซีเมนส์ 35 ขบวน 2 หมื่นล้าน วิ่งสายสีน้ำเงินส่วนขยาย “บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค” คาดเปิดหวูด 1 สถานีต่อเชื่อมสีม่วง หนุนผู้โดยสารใต้ดินเพิ่มเป็นวันละ 3.5 แสนเที่ยวคน ดันรายได้โต 10% บอร์ดบีโอไอไฟเขียว BEM-BTS ได้รับส่งเสริมลงทุนซื้อรถไฟฟ้า-โมโนเรล 3 สายกว่า 7 หมื่นล้าน

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เซ็นสัญญากับ บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้รับจ้างในสัญญางานบริหารโครงการ รวมถึงจัดหา ติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์งานระบบและทดลองเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. วงเงินกว่า 19,642 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-หลักสองเดือน ก.ย. 2562 และช่วงเตาปูน-ท่าพระเดือนมี.ค. 2563

ส่วนระบบอาณัติสัญญาณและขบวนรถ จะซื้อ 35 ขบวน ๆ ละ 3 ตู้ สำหรับใช้เดินรถสายสีน้ำเงินเดิม 7 ขบวนและสีน้ำเงินต่อขยาย 28 ขบวน ทาง ช.การช่างตกลงจะซื้อของซีเมนส์ ผลิตจากโรงงานที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยหน้าตาและสเป็กรถจะทันสมัยและอัพเกรดอุปกรณ์ภายในตัวรถให้มากขึ้นกว่าเดิม

“เลือกซีเมนส์ เพื่อเชื่อมกับระบบใต้ดินปัจจุบัน ขณะที่ราคารถ ค่าซ่อมบำรุงอยู่ในกรอบเรารับได้ เพราะเราต้องการรถมีคุณภาพ วิ่งได้ดี ไม่เกิดปัญหาหากหยุดให้บริการ ตัวรถโครงสร้างเหมือนเดิม แต่ความจุจะมากขึ้น เช่น ปัจจุบันรับผู้โดยสารได้ 900 คน อาจจะเพิ่มอีก 100 คนต่อตู้”

สำหรับการติดติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและทดสอบเดินรถ 1 สถานีเตาปูน-บางซื่อ ทางบริษัทดำเนินการเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนด 7 วัน จากสัญญาจะต้องเสร็จวันที่ 15 ส.ค. แต่เร่งงานให้สามารถเปิดบริการได้ภายในวันที่ 11 ส.ค. 2560 ซึ่งหลังเปิด 1 สถานีแล้ว จะทำให้ผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินเดิมเพิ่มขึ้น 20,000- 30,000 เที่ยวคนต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 330,000 เที่ยวคนต่อวัน เป็น 350,000 เที่ยวคนต่อวัน

“ผู้โดยสารจากสายสีม่วงจะเข้าในระบบสีน้ำเงินจะไม่เพิ่มก้าวกระโดด คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 7% และรายได้ 10% จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 3-4 คาดว่าทั้งปีรายได้ธุรกิจรถไฟฟ้าอยู่ที่ 4,300 ล้านบาท และมีกำไร 400 ล้านบาท”

ทั้งนี้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินจะเพิ่มขึ้น ต่อเมื่อเปิดส่วนต่อขยายไปฝั่งธนฯ ต้องรอปี 2562 เนื่องจากการเปิดใช้ต้องสอดคล้องกับงานโยธาและขบวนรถที่สั่งผลิต ซึ่งรถเดิมรองรับคนที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลาย 100,000 เที่ยวคนไม่ได้ขนาดนั้น โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน ซึ่งภาครัฐต้องการให้ BEM ทยอยเปิดใช้สายสีน้ำเงินต่อขยาย เช่น เปิด 2-4 สถานีก่อน เพราะมีงานโยธาบางส่วนที่สร้างเสร็จแล้ว จะต้องหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติให้ 3 บริษัทรับสัมปทานรถไฟฟ้า 3 สายได้รับการส่งเสริมการลงทุนรถไฟฟ้าและรถโมโนเรล ได้แก่ สายสีน้ำเงินต่อขยายของบริษัท BEM จะซื้อรถ 35 ขบวน จากซีเมนส์ วงเงิน 22,036 ล้านบาท, สีชมพูแคราย-มีนบุรี ของ บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรงของ บจ.อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล ในเครือบีทีเอส จะซื้อรถโมโนเรล 288 ตู้ จากบอมบาดิเอร์และบริษัท CRC ประเทศจีน ร่วม 50,000 ล้านบาท