สำรวจค้าปลีกรถไฟฟ้าใต้ดิน ผุดพรึ่บ ลอว์สัน-สตาร์บัคส์-กูร์เมต์-อเมซอน

จากบรรยากาศที่เคยเงียบเหงา แทบจะไม่มีคนเดิน มาวันนี้ “เมโทรมอลล์” ค้าปลีกภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-บางซื่อ ดูจะคึกคักไม่น้อย

หลัง “BMN-บจ.แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์” บริษัทลูก “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” และ “บมจ.ช.การช่าง” ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Everyday Concept” ให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์การเดินทางของสังคมเมืองที่เน้นร้านอาหารและบริการที่สะดวกซื้อมากขึ้น

พร้อมกับดึงร้านค้าแบรนด์ดัง ๆ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต-สตาร์บัคส์-ลอว์สัน-คาเฟ่อเมซอน” มาเป็นพันธมิตร เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนเข้ามาใช้บริการ จนวันนี้ “เมโทรมอลล์” มีถึง 9 สถานี จากเป้าจะพัฒนา 11 สถานี ได้แก่ สถานีกำแพงเพชร สถานีสวนจตุจักร สถานีพหลโยธิน สถานีศูนย์วัฒนธรรม สถานีเพชรบุรี สถานีพระราม 9 สถานีสุขุมวิท สถานีคลองเตยและสถานีลาดพร้าว แต่มีบางสาขามีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ลืมภาพความเงียบเหงาในอดีตไปเลยทีเดียว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศภายในเมโทรมอลล์ พบว่า สถานีสุขุมวิท สถานีเพชรบุรี สถานีพระราม 9 และสถานีลาดพร้าว มีคนหนาแน่นเป็นพิเศษ โดยสถานีสุขุมวิทเป็นจุดต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีอโศกมีคนใช้บริการเฉลี่ย 200,000 เที่ยวคนต่อวัน อีกทั้งยังอยู่ทำเลใจกลางเมืองติดกับห้างเทอร์มินัล 21

แม้พื้นที่ใช้สอยสถานีจะมีประมาณ 700 ตร.ม. แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งที่นั่งพักคอยพร้อมปลั๊กไฟสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ ห้องน้ำ และร้านค้าที่เป็นตัวชูโรง ไม่ว่าลอว์สัน 108, ร้านกาแฟสตาร์บัคส์และคาเฟ่ อเมซอน, ร้านขนมอานตี้แอนส์, ยูเมะพลัส

ขณะที่ “สถานีเพชรบุรี” เพิ่งเปิดบริการเมื่อปลายปีที่แล้ว จะเป็นจุดต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์สถานีมักกะสัน รอบ ๆ สถานีมีอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียมและแหล่งสถานศึกษา ภายในมีร้านหลากหลายบริการ ที่น่าสนใจ มีร้านกาแฟแบรนด์ดัง “สตาร์บัคส์และคาเฟ่ อเมซอน” ยึดพื้นที่อยู่คนละมุม

ส่วนร้านสะดวกซื้อมี ลอว์สัน108 ซึ่งมีจุดเด่นด้านอาหารญี่ปุ่นแบบเร่งด่วน และขนมญี่ปุ่นหลากหลายแบบ ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง “กูร์เมต์ ทูโก” ที่เดอะมอลล์กรุ๊ปส่งชิมลางโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ไซซ์มินิ ขนาด 300 ตร.ม. โดยเน้นอาหารกล่องแบบปรุงสำเร็จและเครื่องดื่มจัดจำหน่าย ถัดจากนั้นเป็นร้านเบเกอรี่ยามาซากิ เอ็กซ์เพลส จะมีโต๊ะสำหรับรับประทานอาหารพร้อมปลั๊กสำหรับชาร์จไฟและห้องน้ำคอยให้บริการด้วย

“สถานีพระราม 9” เป็นรูปแบบ “เมโทร ไนน์” สามารถเดินทะลุเข้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 9 ภายในมีร้านค้าบริการมากมาย เช่น ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน108 และสินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ขณะที่ “สถานีลาดพร้าว” จะมีอาคารจอดแล้วจร ที่อำนวยสะดวกให้กับผู้โดยสารเพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางเพื่อเข้าเมือง

ถึงแม้ที่นี้จะยังไม่มี “เมโทรมอลล์” เต็มรูปแบบ แต่ BMN ผนึกเดอะมอลล์กรุ๊ปเนรมิตพื้นที่อาคารจอดแล้วจร ขนาด 2,300 ตร.ม. เป็น “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” มาเปิดให้บริการไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผลตอบรับถือว่าดีเกินคาด เพราะลูกค้าที่มาใช้บริการไม่ได้มีเพียงผู้โดยสารรถไฟฟ้า ยังมีผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบเข้ามาจับจ่ายซื้อของ

ภายในนอกจากจะมีอาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีใกล้เคียงกับสาขาที่เปิดในศูนย์การค้าแล้ว สาขานี้ยังเพิ่มกลุ่มสินค้าพร้อมรับประทานให้บริการทั้งในรูปแบบ take away และ Dine-in

มีการเพิ่มพื้นที่เคาน์เตอร์บาร์ และ common seats ให้ลูกค้าสามารถรับประทานได้ทันที นอกจากนี้ยังมีร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ร้านค้าแบบ take home และร้านของฝากที่ระลึกกว่า 20 ร้าน ซึ่งมีผู้เข้าไปใช้บริการทั้งซื้อของกลับบ้านและนั่งรับประทานเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ “เมโทรมอลล์” อีก 5 สถานีที่เหลือ ยังมีบรรยากาศเงียบเหงา ไม่คึกคักอย่างที่หวัง ไม่ว่าจะเป็น “สถานีพหลโยธิน”

ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว และยูเนี่ยนมอลล์ ที่ผ่านมาก็ได้ปรับคอนเซ็ปต์อยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังปลุกไม่ขึ้น ยังมีร้านรวงเปิดบริการค่อนข้างน้อย ทั้งที่อยู่ในจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน

เช่นเดียวกับ “สถานีจตุจักร” ที่คนยังมาใช้บริการบางตา แม้ว่าจะเป็นสถานีที่เป็นจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิต พื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีผู้เช่า ร้านค้าแบรนด์ดังมีเพียงลอว์สัน108 ให้บริการเพียงร้านเดียว นอกนั้นก็จะเป็นร้านขายเสื้อผ้า ร้านบอร์ดเกมส์ ร้านขายขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมไปถึงร้านค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับค้าขายออนไลน์ ไม่ต่างจาก “สถานีกำแพงเพชร” ที่จะคึกคักเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ เพราะคนมาใช้บริการเพื่อไปตลาดนัดจตุจักร

ด้าน “สถานีศูนย์วัฒนธรรม” เพิ่งเปิดบริการได้กี่เดือนที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่มีเพียง 1,600 ตร.ม. จึงทำให้มีร้านค้าแบรนด์ดังมาลงไม่มาก เช่น สะดวกซื้อลอว์สัน108 กาแฟคาเฟ่ อเมซอน ดังกิ้น โดนัท ที่เหลือจะเป็นร้านค้าเล็ก ๆ

สุดท้าย “สถานีคลองเตย” มีร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 และคาเฟ่อเมซอน ยังมีกรมการกงสุลเช่าพื้นที่ภายในสถานี เปิดบริการทำหนังสือเดินทาง รองรับผู้ใช้บริการกว่า 800 คน ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ 08.30-15.30 น.

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท BMN กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวนมาก เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 300,000 เที่ยวคนต่อวัน จึงต้องเร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เมโทรมอลล์ภายในสถานีมารองรับกับความต้องการ ในปี 2561 จะใช้เงินลงทุน 30-40 ล้านบาท รีโนเวตเมโทรมอลล์ทั้ง 9 แห่งใหม่ให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนเมือง ล่าสุดเมื่อสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาได้ปิดปรับปรุงเมโทรมอลล์สถานีจตุจักร พร้อมเปิดบริการโฉมใหม่ภายในสิ้นปีนี้

“รูปแบบเมโทรมอลล์จตุจักร จะมีความทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้โดยสารมากขึ้น เน้นร้านที่เป็นแบรนด์ อาหาร เครื่องดื่ม และบริการที่สะดวกซื้อมากขึ้น อีกทั้งกำลังศึกษาความเป็นไปได้จะดึงกูเมต์ มาร์เก็ต มาเปิดบริการด้วย”

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า ส่วนสถานีอื่น ๆ เช่น สถานีคลองเตย ล่าสุดทางกองสัญชาติและนิติกรสังกัดกรมการกงสุล เช่าพื้นที่เปิดบริการสำนักงานแบบเต็มรูปแบบเหมือนที่แจ้งวัฒนะภายในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนการเปิดพื้นที่ใหม่ในอีก 2 สถานีที่เหลือ คือ สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และสถานีรัชดาภิเษก ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการพัฒนาให้เหมาะสมกับทำเลที่ตั้งโดยรอบ คาดว่าจะเริ่มในปี 2562

สำหรับสถานีที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ สถานีสุขุมวิท 9 หมื่นเที่ยวคน/วัน สถานีพระราม 9 กว่า 6 หมื่นเที่ยวคน/วัน สถานีเพชรบุรี สถานีจตุจักร และสถานีสีลม อยู่ที่ 5 หมื่นเที่ยวคน/วัน