เคาะ ส.ค.พิมพ์เขียวรถไฟฟ้าเฟส 2 คมนาคมเล็งดึง 5 สาย บรรจุในแผนเน้นเชื่อมซับเซ็นเตอร์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันทึ่ 9 เม.ย.2561 ได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ซึ่งผลศึกษามีความก้าวหน้าโดยลำดับ

ขณะนี้กำลังเร่งรัดให้โครงการตามแผนแม่บทระยะที่ 1 ได้รับการปฏิบัติจริงทั้งหมดก่อน ซึ่งตอนนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน – ราษฎร์บูรณะ) กำลังอยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคา ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรม) อยู่ระหว่างการรอเสนอเข้าคณะกรรมการ PPP

สำหรับตัว M-MAP2 วางไว้ว่า จะเน้นส่วนที่เป็น Sub-Center หรือศูนย์ย่อยรอบเมืองใน 3 จุดสำคัญ คือ 1.สถานีกลางบางซื่อ ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในอนาคต 2.บริเวณมักกะสัน และ 3.สถานีแม่น้ำ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนพัฒนาพื้นที่อยู่ ก็จะดูว่าสามารถนำระบบขนส่งใดเชื่อมต่อเข้าไปได้บ้าง เมื่อศึกษาเสร็จแล้ว ก็ไปสู่การทำรายละเอียดในแต่ละเส้นทางต่อไป

เบื้องต้น กำลังจะพิจารณาที่จะนำสายสีน้ำตาล (แคราย – ลำสาลี), สายสีเทา (วัชรพล – พระราม 9), สายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี – คลองสาน – ประชาธิปก) และโครงการรถไฟฟ้าบางนา – สุวรรณภูมิ เข้ามาอยู่ในแผน M-MAP2 นี้ด้วย แต่ทั้งนี้ อาจจะมีการปรับแก้ได้อีก เพราะสถานการณ์ของการใช้ที่ดินของกรุงเทพมหานครเปลี่ยนแปลงไปมาก

“บางเส้นทางอาจจะไม่ได้มีเพียงระบบรถไฟฟ้า อาจจะมีรถเมล์บ้างก็ได้ เพราะดีมานด์ยังไม่พอ จึงขอทางไจก้าให้พิจารณาตรงนี้ด้วย บางพื้นที่อาจจะมีดีมานด์เพียงพอ แต่ไม่คุ้มที่จะลงทุนก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบอื่น ผสมกันหลายอย่าง เพื่อเติมเต็มระบบโครงข่ายการเดินทางของประชาชน”

นายอาคมกล่าวต่อว่า ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะจัดสัมมนาเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการศึกษา ก่อนที่จะสรุปผลในเดือน ส.ค.นี้ จากนั้นก็จะนำผลการศึกษาที่ทางไจก้าจัดทำมาพิจารณาทบทวนกันอีกรอบ เพราะยังมีเวลาก่อนที่โครงการตามแผนแม่บทระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 2568

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ภาพรวมของ M-MAP 2 จะเน้นการระบายความหนาแน่นของประชาชนในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่เดิมในกรุงเทพฯ เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าแต่ละสายทั้งสายสีเขียว สีน้ำเงิน และสีม่วง มีปริมาณคนใช้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนใหญ่จะเชื่อมต่อกับโครงการหลักในแผน M-MAP 1 เดิม ในลักษณะแตกเป็นแขนงแตกออกมา โดยจะเน้นโมโนเรลและระบบรางเบามากขึ้น เมื่อทำแผนแล้วเสร็จ แต่ละหน่วยงานก็สามารถนำไปพิจารณาเพื่อจัดทำลงท้องถิ่นของตัวเองก็ได้

ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย – ลำสาลี) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างอยู่ หากผลการศึกษาแล้วเสร็จ ก็จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ต่อไป ส่วนจะนำมาบรรจุในแผน M-MAP 2 ต้องรอผลการศึกษาความเหมาะสมก่อน และต้องรอให้สายหลักที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้เสร็จก่อนด้วย

“ตอนนี้รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนโครงการในแผน M-MAP 1 ให้สำเร็จ ทุกอย่างอยู่ในไทม์ไลน์หมดแล้ว แต่ก็ต้องคิด M-MAP 2 เอาไว้ก่อน อาจจะใช้ใน 15 – 20 ปีข้างหน้า เพราะต้องขับเคลื่อนโครงการใน M-MAP1 ให้ครบและพร้อมใช้บริการทั้งโครงข่ายก่อนทั้งหมดก่อน คาดว่าประมาณปี 2568 นี้จึงจะครบทั้งหมด”

นายชัยวัฒน์ยังระบุอีกว่า นายอาคมฝากการบ้านให้ไจก้าเพิ่มเติมว่า ต้องการให้ศึกษาถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ที่ได้รับการก่อสร้างด้วย เพราะปัจจุบันมีพื้นที่แปลงใหญ่ในกรุงเทพฯที่มีศักยภาพเกิดขึ้นหลายพื้นที่ มีความสามารถที่จะพัฒนาได้ เช่น บริเวณสถานีแม่น้ำ ที่ร.ฟ.ท.สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาได้ ไม่ใช่คิดถึงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างเดียว