บขส.ฮึดสู้โลว์คอสต์เพิ่มรถใหม่-นครชัยแอร์ลุยลงทุนเพิ่ม

บขส.,นครชัยแอร์
214 คัน - รถ บขส.รุ่นใหม่ 214 คัน วิ่งเสริมเส้นทางหลักจากต้นทางกรุงเทพฯไปยังปลายทางหัวเมืองหลัก
บขส.ทุ่ม 1.4 พันล้าน เช่ารถใหม่ 214 คัน สู้โลว์คอสต์ หลังแย่งผู้โดยสารไปบานเบอะ หวังดึงผลประกอบการพลิกมีกำไร 120 ล้าน ส่วนผู้ประกอบการรถร่วมทยอยถอดใจ ล่าสุดประกาศขายกิจการหลังขาดทุนหนัก “นครชัยแอร์” ไม่หยุดลงทุน จัด 400 ล้านซื้อรถใหม่ 42 คัน และผุดสถานีเพิ่ม 3 จังหวัด สุรินทร์ ชลบุรี อุดรธานี

 

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ความต้องการเดินทางมีมากขึ้น แต่ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถ บขส.ลดน้อยลง เนื่องจากประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น หลังจากมีสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์เปิดบริการ เนื่องจากสะดวกและใช้เวลาเดินทางน้อย ซึ่ง บขส.ต้องปรับปรุงการบริการและแผนธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ผลประกอบการปี 2559 ขาดทุนอยู่ที่ 115 ล้านบาท ปี 2560 มีกำไรประมาณ 16 ล้านบาท เพราะเรามีการลดค่าใช้จ่ายและปรับแผนการเดินรถใหม่ สำหรับปี 2561 ตั้งเป้าจะมีรายได้รวมกว่า 3,800 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 120 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมามีกำไรเแล้ว 35 ล้านบาท”

นายจิรศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการเพิ่มรายได้และยกระดับด้านการบริการ ในปีนี้ บขส.เตรียมจะเปิดประมูลเช่ารถใหม่ จำนวน 215 คัน วงเงิน 1,473 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี กำหนดเป็นรถขนาดมาตรฐานยุโรป เน้นความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกที่หรูหรา คาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้จะเปิดประมูล หลังจากได้ผู้ชนะแล้ว จะใช้เวลา 18 เดือนจัดหารถใหม่

“ระหว่างรอรถใหม่ เราจะนำรถเก่าที่มีอยู่กว่า 500 คัน แยกเป็นรถเช่ากว่า 200 คัน ปัจจุบันหมดสัญญาเช่าแล้ว จะต่อสัญญาเช่าและรถ บขส.เองอีกกว่า 200 คัน มาปรับรุงใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ห้องน้ำต้องสะอาด รวมถึงอยู่ระหว่างขอปรับขึ้นค่าโดยสารเพิ่ม”

นายจิรศักดิ์กล่าวอีกว่า ไม่ใช่เฉพาะ บขส.ที่ต้องปรับตัว ในส่วนของผู้ประกอบการรถร่วม บขส.ในเส้นทางต่าง ๆ ก็มีการปรับตัวรับกับการแข่งขันที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาก็มีการขอยกเลิกการเดินรถในบางเส้นทางทั้งรถทัวร์และรถตู้ เนื่องจากผู้โดยสารมีจำนวนน้อยประสบปัญหาขาดทุน ในบางเส้นทางผู้โดยสารหันไปใช้บริการโลว์คอสต์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในหมวด 2 (กทม.-ต่างจังหวัด) แต่ว่าเส้นทางยังอยู่ เพียงยกเลิกใบอนุญาตการเดินรถ หากผู้ประกอบการรายใหม่มีความสนใจสามารถมาขอใบอนุญาตได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดมีผู้ประกอบการรถทัวร์เส้นทางสายเหนือรายหนึ่งประกาศขายกิจการรถทัวร์ มูลค่า 200 ล้านบาท หลังจากได้โทรศัพท์สอบถาม ทางบริษัทดังกล่าวระบุว่า เป็นเส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เนื่องจากผู้โดยสารมีจำนวนน้อย ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องการยุติเส้นทางเดินรถดังกล่าว แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อบริษัทได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2560 ทาง บขส.ได้ทำการยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งรถหมวด 2 สายที่ 1 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ของบริษัท นครชัยทัวร์ เป็นเครือข่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ในภาคเหนือ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่นิยมใช้บริการรถโดยสารในเส้นทางดังกล่าว เพราะเป็นเส้นทางสายเก่า ใช้เวลาในการเดินทางนาน ทำให้ผลประกอบการเดินรถขาดทุน ไม่สามารถจัดการเดินรถต่อไปได้ ประกอบกับมีการเดินรถโดยสารประจำทางสายอื่น ๆ ที่มีต้นทาง-ปลายทางเดียวกัน และมีช่วงบริเวณทับซ้อนกันให้บริการเป็นทางเลือกแก่ผู้ใช้บริการอย่างเพียงพอแล้ว ได้แก่ เส้นทางที่ 18 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ข)

ด้านนางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2561 บริษัทเตรียมจะลงทุน 400 ล้านบาท สำหรับซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่ จำนวน 42 คัน วงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อรองรับขยายเส้นทางเดินรถใหม่ และนำมาเปลี่ยนรถที่ครบอายุการใช้งานในเส้นทางปัจจุบัน ส่วนที่เหลือประมาณ 100 ล้านบาท จะลงทุนสร้างสถานีใหม่อีก 3 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ พัทยา จ.ชลบุรี และอุดรธานี

สำหรับรถรุ่นใหม่ดีไซน์คลาสสิกชื่อรุ่น “นครชัยแอร์ 30 ปี Safety Coach” ขนาด 32 ที่นั่ง มาตรฐาน NCA Gold Class ภายใต้แนวความคิดการออกแบบรถที่มีความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้โดยสารทุกที่นั่ง ซึ่งเป็นจุดเด่นของรถรุ่นนี้ คือ มาตรฐานผ้าหุ้มเบาะโดยสารชนิดไม่ลามไฟ และพื้นยางห้องโดยสารเกรดพรีเมี่ยมเป็นชนิดไม่ลามติดไฟ ยังได้เพิ่มการเสริมโครงเหล็กด้านหน้ารถ ด้านข้างประตูคนขับ และประตูทางขึ้น รองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินการกระแทกจากด้านหน้ารถ