“ดิจิทัล” เชื่อมบัตรโดยสารรถไฟฟ้า คมนาคมตื่นอัพเกรดระบบแมงมุม 4.0

ยังไม่ทันเริ่มกดปุ่มคิกออฟ “ระบบตั๋วร่วม” กับบัตรแมงมุม เพื่อขยุ้มการเดินทางระบบขนส่งมวลชนด้วยบัตรใบเดียวอย่างที่ตั้งเป้าไว้

 

ล่าสุด “กระทรวงคมนาคม” เตรียมอัพเกรดระบบให้รับกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล และนโยบายอีเพย์เมนต์ (e-Payment) ของรัฐบาล คสช. จัมป์ก้าวกระโดด จาก “บัตรแมงมุม 2.0” ที่ใช้กับบัตรเฉพาะเจาะจงภาคขนส่ง เป็น “บัตรแมงมุม 4.0” เป็นระบบเปิดตามมาตรฐาน EMV ที่ใช้ได้ทั้งบัตรเครดิตและเดบิต มีข้อกังขากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ทั้งที่ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ใช้เวลาร่วม 5 ปีนับจากปี 2555 กว่าจะตั้งไข่ระบบและส่งไม้ต่อให้ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) จากนั้นไม่นาน “ระบบ EMV” ก็เข้ามาอยู่ในสารบบของตั๋วร่วม

ชี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว

นายภคพงศ์ สิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระบบเปิดตามมาตรฐาน EMV เป็นการอัพเกรดระบบตั๋วร่วมแมงมุมที่ สนข.ดำเนินการอยู่ให้ทันกับเทคโนโลยี ซึ่ง สนข.ศึกษาระบบ EMV ไว้แต่แรกแล้ว แต่เดินหน้าตามสเต็ป ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาระบบ EMV ยังไม่มีการใช้แพร่หลาย เริ่มใช้ที่ลอนดอนประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรก แต่ปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่าระบบเสถียรและมีใช้อย่างแพร่หลาย 127 ประเทศ

“ช่วงที่ สนข.ศึกษา ระบบ EMV ยังไม่เป็นที่ยอมรับ จึงเสนอเป็นระบบตั๋วแมงมุมก่อน แต่ด้วยความเร็วของเทคโนโลยียุคดิจิทัลและ EMV เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าดีและคล่องตัวกว่า ข้อดีคือผู้ถือบัตรสมาร์ทการ์ดติดระบบ EMV ที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ ใช้บัตรที่มีอยู่ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต นำมาใช้แทนบัตรโดยสารได้โดยไม่ต้องออกใหม่ เพียงแตะบัตรก็เข้าไปในระบบได้ ส่วนค่าเดินทางจะเรียกเก็บภายหลังเหมือนกับใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าต่าง ๆ ในปี 2563 ทางมาสเตอร์การ์ดและวีซ่าจะบังคับให้ใช้ระบบนี้ทั้งหมด”

เพิ่มทางเลือกผู้บริโภค

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับบัตรแมงมุม จะแปลงสภาพเป็นระบบหลังบ้านเคลียร์เรื่องค่าโดยสารของแต่ละระบบ และส่งข้อมูลให้แต่ละธนาคารเพื่อหักบัญชีผู้ถือบัตร จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินในบัตรโดยสารไว้ล่วงหน้า จะจ่ายก็ต่อเมื่อเดินทาง (pay as you go) เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคและเป็นการจูงใจให้คนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ที่สำคัญทำให้ลดต้นทุนการจัดหาและดูแลรักษาระบบได้เท่าตัว โดย รฟม.จะเป็นผู้ลงทุนระบบ ใช้เวลา 18 เดือน จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2562

นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวเสริมว่า บัตรแมงมุมเป็นระบบปิดที่ใครจะใช้ต้องปรับปรุงให้รับกับระบบ ปัจจุบันโลกไปไกลเป็นระบบเปิด EMV บัตรใบไหนก็ได้ในกระเป๋าสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ เมื่อระบบสมบูรณ์จึงจัมป์จากแมงมุม 2.0 เป็นแมงมุม 4.0

EMV ลดต้นทุนเท่าตัว

โดยประเมินไว้ภายใน 20 ปีระบบแมงมุมเดิมจะใช้เงินลงทุนระบบประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่เมื่ออัพเกรดระบบเป็น 4.0 จะเหลือ 2,000 ล้านบาท โดยมีเงินลงทุนขั้นต้น 623 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงานปีแรก 49 ล้านบาท จากระบบเดิมมีเงินลงทุนขั้นต้น 1,086 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงานปีแรก 143 ล้านบาท

“ระบบรองรับบัตรแมงมุม ก่อนหน้านี้ประเมินรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ บีทีเอสสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และแอร์พอร์ตลิงก์ จะต้องลงทุนระบบ 500 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นระบบ EMV อยู่ที่ 218 ล้านบาท เพราะหัวอ่านทำหน้าที่น้อยลง ต่อไปจะใช้ได้ทั้งทางด่วน มอเตอร์เวย์ และรถเมล์ด้วย”

นายเผด็จกล่าวว่า สำหรับบัตรแมงมุม จำนวน 2 แสนใบที่ผลิตออกมาแล้วนั้น จะนำมาใช้ในระยะสั้น ๆ วันที่ 1 ต.ต. 2561 เรียกว่าบัตรแมงมุม 2.5 กับรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีม่วง แอร์พอร์ตลิงก์ และรถเมล์ ขสมก. ส่วนบีทีเอสอยู่ระหว่างเจรจาจะอัพเกรดระบบ EMV หรือไม่ ถ้าบริษัทไม่ดำเนินการจะทำให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.3 ล้านใบ ที่ติดระบบ EMV แล้วก็ไม่สามารถใช้กับบีทีเอส ใช้ได้แต่บัตรแรบบิท

บัตรแรบบิทบีทีเอสสะเทือน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า บริษัทกำลังศึกษารายละเอียดข้อมูลให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งมีนโยบายเปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องดูเรื่องค่าทรานแซ็กชั่นฟีของแต่ละสถาบันการเงินด้วย ทั้งนี้หากเป็นระบบเดิม จะคล้ายกับบัตรแรบบิทของบีทีเอส แต่เมื่อเป็นระบบ EMV ก็อาจจะเป็นคู่แข่งของแรบบิทได้ในอนาคต

สำหรับบัตรแรบบิทบีทีเอสเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2555 โดยเป็นบัตรสามร์ทการ์ดที่สามารถใช้ชำระเงินได้ทั้งระบบขนส่งสาธารณะ เช่น บีทีเอส บีอาร์ที และสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิทมากกว่า 8.5 ล้านใบ และมีจุดรับบัตรมากกว่า 5,200 จุดทั่วประเทศ