สภากทม.โหวตรับ-ไม่รับหนี้สายสีเขียวพ.ค.61

ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ให้ฝ่ายบริหาร กทม.เตรียมรายละเอียดการที่จะขออนุมัติจากสภาเรื่องรับโอนหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาทของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคตและแบริ่ง-สมุทรปราการ คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาต้นเดือน พ.ค.นี้

“วงเงินสูงอยากให้ทำรายละเอียดให้ครบก่อนชี้แจงสภา รวมถึงข้อมูลการเจรจากับรัฐให้ช่วยรับภาระบางส่วนให้ กทม. เราก็เร่งไม่อยากให้ล่าช้า เพราะจะกระทบการเปิดบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการใน ธ.ค.นี้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า วันที่ 23 เม.ย. คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จะประชุมเพื่อหาข้อยุติโดยเร็วเกี่ยวกับชำระหนี้ของ กทม.ที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

“การประชุมครั้งนี้ คมนาคมจะให้ได้ข้อยุติ หาก กทม.หาเงินมาชำระหนี้ไม่ได้ จะให้ รฟม.เปิดประมูลหาผู้เดินรถตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อให้เปิดบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการให้ทัน ธ.ค.นี้”

โดยผลการประชุมครั้งล่าสุดรับหลักการที่ กทม.ขอยืดเวลาชำระหนี้ 10 ปี และให้รัฐอุดหนุนการขาดทุน จะชำระคืนทั้งต้นและดอกเบี้ยหลังสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสิ้นสุดปี 2572 ซึ่งมอบให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) หาเงินอุดหนุนที่ กทม.ขอให้ช่วย เป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 44,429 ล้านบาท ซึ่ง สบน.จะปรับโครงสร้างหนี้ให้ กทม.ชำระคืนปี 2573 เป็นต้นไป

ขณะที่ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้า ไม่รวมขบวนรถ 32,373 ล้านบาท แยกเป็นค่าระบบ 22,373 ล้านบาทและค่าดอกเบี้ย 10,000 ล้านบาท กทม.ขอชำระค่าดอกเบี้ยปีละ 1,000 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2562-2572 ส่วนค่างานระบบจะคืนปี 2573-2576 และให้ กทม.หารือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้รับจ้างเดินรถช่วย กทม.หาเงินจ่ายค่างานระบบทั้งหมดในปี 2563 จากนั้นกระทรวงการคลังจะหาแหล่งเงินกู้ให้ กทม.เพื่อชำระคืน จะทำให้ กทม.ประหยัดดอกเบี้ยได้ 1,500 ล้านบาท

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาบีทีเอสถึงแนวทางการหาเงินชำระหนี้ค่างานระบบ โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดย กทม.ขอให้ บีทีเอสจัดหาวงเงินให้แล้วจะชำระคืนภายหลัง เนื่องจาก กทม.ไม่สามารถกู้เงินเองได้ และไม่มีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้คืน


“ตอนนี้กำลังทำความเข้าใจกับสมาชิกสภา กทม. และทำรายละเอียดที่จะตอบคำถามสภากรณีที่รัฐไม่ช่วย กทม.รับภาระค่าก่อสร้างโครงสร้างเหมือนกับ รฟม. ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐเหมือนกัน จึงต้องเลื่อนการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาออกไปก่อน” แหล่งข่าวกล่าวย้ำ