“รถไฟทางคู่” มิติใหม่ระบบราง อัดงบประมาณ-คนกู้วิกฤตรถไฟไทย

ถึงแม้ “รัฐบาลทหาร” จะพยายามจัดทำแผนฟื้นฟูรถไฟไทยให้ลุล่วงโดยเร็ว ปลดแอกหนี้ 120,374 ล้านบาท เพื่อนำพาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์กรมีอายุ 121 ปี ไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 แต่ดูเหมือนหนทางยังห่างไกลยิ่งนัก

ด้วยสภาพปัญหา “ร.ฟ.ท.” ที่เรื้อรังและถูกปล่อยปละละเลยมานาน อาจจะใช้ระยะเวลาพอสมควรสะสาง เพราะรถไฟเวลานี้ขาดทั้งคนและเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กร

โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นรถจักรและล้อเลื่อนที่ใช้งานร่วม 40-50 ปี ไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารมากว่า 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2528 ขณะที่การบริหารจัดการทรัพย์สินไม่มีประสิทธิภาพ งบการเงินไม่ได้รับการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2555

สิ่งสำคัญคือขาดแคลนบุคลากรรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้น เช่น การเดินรถไฟทางคู่ และไม่มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใช้ในการบริหารจัดการ โดยทั้งหมดจะเริ่มต้น

ภายในปี 2561 ตามแผนที่ ร.ฟ.ท.เซตไว้ในเดือน มิ.ย. จะจัดซื้อรถจักรและล้อเลื่อน เช่น ซื้อรถจักร 50 คัน จัดหารถจักร 34 คัน รถโดยสารใหม่ 429 คัน รถดีเซลราง 524 คัน

โดย “ทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ กล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดใช้รถไฟทางคู่ 5 สายในปี 2562-2563 ในเร็ว ๆ นี้จะประกาศจัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน 6,500 ล้านบาท ส่วนการเช่าหัวรถจักร 50 คัน 13,344 ล้านบาท รอบอร์ดอนุมัติ ขณะที่การซื้อรถโดยสารดีเซลราง186 คัน 13,000 ล้านบาท รอเสนอสภาพัฒน์

นอกจากนี้ยังเตรียมถ่ายโอนงานบริหารทรัพย์สินให้บริษัทลูกดำเนินการ ในเดือน ก.ย.นี้ และเร่งตั้งบริษัทลูกเดินสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต

ด้านกำลังคน “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์”รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เสนอกระทรวงคมนาคมขออนุมัติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีปี 2541 เรื่องการรับพนักงานได้เพียง 5% ของจำนวนผู้เกษียณอายุแล้ว จากปัจจุบันมีพนักงานและลูกจ้าง 14,220 อัตรา มีพนักงานปฏิบัติการน้อยจึงต้องทำงานล่วงเวลาและวันหยุด โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน มีค่าล่วงเวลาและค่าทำงานวันหยุด25% ของค่าจ้างซึ่ง ร.ฟ.ท.มีแผนจะเพิ่มจำนวนขบวนรถ และคนเมื่อทางคู่ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แล้วเสร็จ (ดูกราฟิก) เมื่อคนไม่พอทำให้ค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้น ในปี 2559 มีค่าล่วงเวลา 1,053 ล้านบาท ค่าเงินเดือน 4,362 ล้านบาท หากเพิ่มคนได้ ถึงเงินเดือนสูงขึ้น 682.51 ล้านบาทต่อปี แต่ค่าล่วงเวลาจะลดลง 521.62 ล้านบาทต่อปี

คงต้องรอดูฝีมือบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ มี “กุลิศ สมบัติศิริ” อธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธาน จะพารถไฟไทยก้าวข้ามวัฒนธรรมเดิม ๆ ไปสู่มิติใหม่ได้สำเร็จหรือไม่