อัพเดต 1 เดือน “แอชตันอโศก” อาถรรพ์…สร้างเสร็จแต่โอนไม่ได้ เปิดโพยเอกชนแห่ขอใช้ทางเข้า-ออกที่ดินรัฐ

เวลาผ่านไปอีกเดือนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น กรณีคอนโดมิเนียมแบรนด์หรู “แอชตัน อโศก” ของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่เพิ่งเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เนื่องจากสร้างเสร็จ 100% แต่ลูกค้ารับโอนไม่ได้

1 เดือนหลังเดดไลน์แอชตัน

โดยบริษัทกำหนดเดดไลน์ 26 มีนาคม 2561 ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ที่มีการเผื่อเวลากันเหนียวระหว่างทางไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นโดยมาสะดุดขั้นตอนการยื่นเอกสารตรวจสอบอาคาร หรือเอกสาร “อ.6” ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ในกรณีนี้ที่ตั้งอยู่ติดสถานี MRT อโศก จึงต้องยื่นเอกสาร อ.6 ไปที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อตรวจสอบการก่อสร้างอาคารขั้นสุดท้าย ก่อนเปิดใช้อาคารและนำ อ.6 ไปยื่นกับกรมที่ดินเพื่อขอออกเอกสารสิทธิห้องชุดสำหรับการโอนให้ลูกค้าต่อไป

ทั้งนี้ การยื่นขอเอกสาร อ.6 ดังกล่าว ทางเจ้าของโครงการบอกให้ลูกค้าเข้ามาตรวจรับมอบห้องตั้งแต่ปลายปี 2560 แต่การขอเอกสาร อ.6 ได้รับคำชี้แจงจากสำนักการโยธา กทม. ว่าเอกชนเพิ่งยื่นขอเอกสาร อ.6 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561

สรุปว่ามีการยื่นขอเอกสาร อ.6 ไว้แล้ว แต่ กทม.ต้องการทำขั้นตอนให้เข้มงวดรัดกุม จึงต้องใช้เวลาทำหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง และบอกสั้น ๆ ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 30 วัน

ถึงแม้ไม่ได้ระบุว่ากำหนด 30 วันเริ่มนับเมื่อไหร่ และสิ้นสุดเมื่อใด หากนับจากเดดไลน์ส่งมอบห้องชุดวันที่ 26 มีนาคม 2561 ย่อมเท่ากับวันที่ 26 เมษายน 2561 น่าจะครบกำหนด 1 เดือนหรือ 30 วันแล้ว

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามความคืบหน้าการพิจารณาเอกสาร อ.6 ของแอชตัน อโศก ไปยังผู้บริหารสูงสุดคือ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาติดต่อประสานงาน 1 สัปดาห์คำตอบสุดท้ายจากทีมงานหน้าห้องแจ้งว่ายังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ และตอนนี้

เอกชนขอใช้ที่ดินรัฐตรึม

ผู้สื่อข่าวสำรวจการขออนุญาตใช้ที่ดินของรัฐวิสาหกิจเพื่อทำเป็นทางเข้า-ออกโครงการของภาคเอกชน พบว่า บริษัทอนันดาไม่ใช่ผู้ประกอบการเอกชนรายเดียวที่ขอใช้ทางเข้า-ออกจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ “รฟม.”

หากแต่ยังมีโครงการเอกชนได้ขอใช้ที่ดินหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างน้อย 3 องค์กรด้วยกัน คือ รฟม., การรถไฟแห่งประเทศไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

นับเฉพาะการขอใช้ที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. มีด้วยกัน 5 ราย อยู่บนถนนอโศกมนตรี 3 ราย กับถนนเพชรเกษม แนวรถไฟฟ้าสีน้ำเงินต่อขยายอีก 2 ราย

รวมทั้งขอใช้ทางเข้า-ออกจากการทางพิเศษฯ มี 3 ราย อยู่บนถนนพระราม 9 ตัดใหม่, ถนนรามคำแหง และถนนประดิษฐ์มนูธรรม ส่วนการขอใช้ทางเข้า-ออกจากการรถไฟฯ มีตัวอย่าง 4 ราย อยู่บนถนนรัชดาภิเษก, ถนนกำแพงเพชร และถนนวิภาวดีรังสิต (ดูตารางประกอบ)

สรุปของสรุป คอนโดฯ สร้างเสร็จแต่โอนไม่ได้ ลูกค้าที่จองซื้อ 783 ห้องค้างเติ่ง อยากรับโอนก็ไม่ได้โอน แปลกแต่จริง