30 ปีลิฟต์ฮิตาชิ “ไมเคิล ถัง” เราต้องการโตยั่งยืนในตลาดพรีเมี่ยม

สัมภาษณ์

โครงการอสังหาริมทรัพย์แนวสูงในยุคบูมเป็นปัจจัยบวกให้กับตลาดลิฟต์โดยสารเป็นอย่างมาก ล่าสุด “ไมเคิล ถัง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดบ้านชั้น 18 ตึกสยามกลการย่านปทุมวัน ให้สัมภาษณ์ถึงแผนธุรกิจในโอกาสย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ตลาดเมืองไทย

Q : ทิศทางตลาดลิฟต์ปีนี้

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีของลิฟต์ฮิตาชิในประเทศไทย เราเป็นฐานโรงงานผลิตป้อนตลาดเมืองไทยและอาเซียน มีพนักงาน 500 กว่าคนรองรับด้านบริการหลังการขาย และมีพนักงานในโรงงานอีก 500 กว่าคน

แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้และปีหน้า ยังเติบโตต่อเนื่อง 3-5% ต่อปี ผลกระทบที่มีต่อตลาดลิฟต์ ซึ่งมีขนาดตลาด 7,000 ตัวต่อปี ในขณะที่ตลาดฮิตาชิเป็นกลุ่มตลาดลิฟต์มีแบรนด์ อยู่ที่ปีละ 5,000 ตัว แผนธุรกิจปี 2561 ตั้งเป้าผลักดันยอดขาย 1,100 ยูนิต

ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าเอกชน 60% ภาครัฐ 30-40% เทียบกับปีที่แล้วตลาดภาครัฐยังมีสัดส่วนสูงเนื่องจากโครงการเอกชนยังมีไม่มากนัก สัดส่วนที่เหมาะสมควรเป็นภาคเอกชน/รัฐ 70/30 หรือ 80/20

ตัวบิลต์ดีมานด์มองว่ามาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีเหลือง โดยตลาดมาจากการสร้างคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมประชากรผู้สูงวัย รูปแบบเป็นคอนโดฯ โลว์ไรส์ เน้นความสะดวกและความปลอดภัย รวมทั้ง home lift บ้านที่ติดตั้งลิฟต์เพื่ออำนวยความสะดวกในการพักอาศัย

ปี”60 ตลาดในประเทศฮิตาชิมียอดขาย 950 ยูนิต เทียบปี”59 ทำได้ 850 ยูนิต เท่ากับมีอัตราเติบโต 12% ปี”61 ตั้งเป้าโตต่อเนื่อง 1,100 ยูนิต

ในด้านตลาดส่งออก สยามฮิตาชิยังไม่ได้เข้าตลาดออสเตรเลีย อเมริกา โดยมีฮิตาชิญี่ปุ่น, ฮิตาชิเมืองจีน ดังนั้น สยามฮิตาชิจึงตั้งโรงงานเพื่อครอบคลุมตลาดที่เหลือ ประกอบด้วยฟิลิปปินส์ อินเดีย ตะวันออกกลาง

ขณะนี้เรามีฐานผลิตในไทย และเข้าไปตั้งโรงงานในเมียนมากับกัมพูชา

Q : ปีนี้โฟกัสเซ็กเมนต์ไหน

โปรดักต์ไฮไลต์ปีนี้ยังเป็นสินค้าตลาดกลาง ราคาย่อมเยา โดยเราเพิ่งเปิดตัว “ลิฟต์ไร้ห้องเครื่อง” เมื่อสองปีที่แล้ว มียอดขายน่าพอใจ ขายได้แล้ว 300 ยูนิต ล่าสุดเตรียมลอนช์ “TX Series-บันไดเลื่อนไร้ห้องเครื่อง” ผลิตจากเมืองจีน ฟังก์ชั่นเพิ่มด้านความปลอดภัยรวมทั้งประหยัดเวลาติดตั้งและก่อสร้างให้สั้นลง

ในส่วนของลิฟต์ไร้ห้องเครื่อง ดีไซน์เรียบง่าย ขณะที่โครงการอสังหาฯ เมื่อไร้ห้องเครื่องทำให้เป็นตัวช่วย เพราะความสูงตึกเป็นตัวไกด์ไลน์ การไร้ห้องเครื่องทำให้อสังหาฯ หันมาใช้มากขึ้น

เทียบลิฟต์มีห้องเครื่องต้องมีห้องลิฟต์กับห้องเครื่องด้านบน ไซซ์ 9-10 ตรม. ทำให้จุดติดตั้งต้องสูงขึ้น ใช้พื้นที่มากขึ้น ถ้าติดตั้งลิฟต์ไร้ห้องเครื่องทำให้เจ้าของโครงการสามารถนำพื้นที่ไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากขึ้น

Q : ส่วนแบ่งตลาดของฮิตาชิ

ภาพรวมตลาดลิฟต์มี 4 เทียร์ เทคโนโลยีญี่ปุ่นกับฝรั่งอยู่ในกลุ่มเทียร์ 1 แบรนด์ญี่ปุ่นมีเรากับมิตซูบิชิ แบรนด์ฝรั่งมีโอทิส ซิสเต็ม โครเน่ กับชินด์เลอร์

ปีนี้เราจบที่ส่วนแบ่งตลาด 18% เป็นเบอร์สอง โดยเบอร์หนึ่งคือ มิตซูบิชิ ตลาดใหญ่สุดเป็นการติดตั้งในอาคารโลว์ไรส์ สูง 8 -10 ชั้น ในขณะที่ลิฟต์ฮิตาชิได้รับความไว้วางใจติดตั้งในโครงการไอคอนสยาม สูง 70 ชั้น, แพลทินัมมาร์เก็ต, อินเตอร์ลิงก์ทาวเวอร์, เกตเวย์บางซื่อ, เอ็มควอเทียร์ ฯลฯ

แน่นอนว่าการแข่งขันเราแบรนด์ชนแบรนด์กับมิตซูบิชิ เป้าธุรกิจต้องการขึ้นเบอร์หนึ่ง แต่ใจผมอยากให้เป็นการเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งลิฟต์ผลิตได้เร็ว แต่คนและการติดตั้งการบริการเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในธุรกิจนี้ ฉะนั้นจึงอยากสร้างทีมก่อน

ปัจจุบัน เรามีพนักงาน 500 กว่าคน แผนกบริการมีขนาดใหญ่สุด 250 คน แผนกติดตั้ง 100 คน ที่เหลือเป็นแผนกเซลกับแบ็กออฟฟิศ และมีศูนย์บริการกระจายอยู่ 15 แห่งทั่วประเทศที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น โคราช พัทยา ประจวบฯ ระยอง สงขลา ภูเก็ต และในกรุงเทพฯ ที่ปทุมวัน เพชรบุรี รามอินทรา วิภาวดี และหนองแขม ในด้านสาขาปีนี้เตรียมเปิดเพิ่มในจังหวัดอุดรธานี

Q : ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลิฟต์

เฉลี่ยตึกสูงใช้ลิฟต์ 5-6 ตัว ตึกโลว์ไรส์ใช้เฉลี่ย 2 ตัว ปกติมีค่าบริการทำสัญญา 3 ปีต่อครั้ง เพราะสินค้าเราแบรนด์เนม ต้องมีพรีเมี่ยมมากกว่า ถ้าเจ้าของอาคารให้ third party (ผู้รับจ้างอิสระ) เข้ามาจะเหมือนกับรถยนต์ อยู่ที่เจ้าของต้องการซ่อมศูนย์หรือซ่อมอู่ทั่วไป

อายุการใช้งาน ลิฟต์ญี่ปุ่นอยู่ได้ 20-25 ปี ถึงจุดนั้นมีออปชั่นให้เลือกซึ่งธุรกิจลิฟต์เรียกว่า modernization เปลี่ยนใหม่หมด หรือเปลี่ยนบางส่วนแค่สมองคอนโทรลหรืออิเล็กทรอนิกส์พาร์ต ในขณะที่อาคารเก่าเมืองไทยเริ่มมีเยอะขึ้น ก็เป็นตลาดรายได้หลักที่เรามองอยู่

Q : พฤติกรรมการใช้ลิฟต์ในบ้าน

ผมก็มีคำถามเหมือนกันเวลาเจอเจ้าของโครงการ housing estate บ้านราคา 30-50 ล้าน หรือบ้านผู้สูงอายุ ทำไมไม่ใส่ลิฟต์ล่ะ ฮิตาชิรองรับได้หมดทั้งโฮมลิฟต์และคอนโดฯ ลิฟต์ ถ้าเป็นลิฟต์บ้านเราอิมพอร์ตจากญี่ปุ่น สปีดช้ากว่าเยอะเลยเพราะมีแค่ 2-5 ชั้น

Q : การแข่งขันด้านราคา

แข่งสูง (ยิ้ม) ตลาดลิฟต์พรีเมี่ยมก็มีการตัดราคาเหมือนกัน โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่างาน 60-70 ล้าน จะมีการเฉือนราคารุนแรงพอสมควร

เราชนะได้งานมามีหลายปัจจัยเพราะลิฟต์เป็นสินค้าที่ต้องการงานบริการหลังการขายสูงมาก เหตุผลหลักที่ลูกค้าตัดสินใจเลือกแบรนด์เราก็เพราะทีมบริการ

ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ผมมั่นใจว่าทำให้เรามีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน อย่างน้อยภายใน 3-5 ปีคิดว่าตัวเลขโตต่อเนื่องได้ปีละ 5-10%

Q : สถานการณ์ตลาดต่างจังหวัด

อีสานกับเหนือตลาดลิฟต์ใช้เยอะมากกว่าภูมิภาคอื่น แต่ตอนนี้ศักยภาพสูงมาจากภาคตะวันออกที่รัฐบาลกำลังโปรโมตอีอีซี (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ต้องเตรียมตัวรองรับอนาคต

ผมดูตัวเลขในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บอกว่าตลาดโครงการใหญ่สุดต้องภาคตะวันออก มีการลงทุน 13-14% ของภาพรวมทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันดีมานด์ใช้ลิฟต์ยังอยู่ในภาคอีสานกับเหนือมากกว่า

โดยภาคเหนือลูกค้าหลักมาจากสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ส่วนภาคอีสานการใช้ลิฟต์มีทั้งคอนโดฯ กับอพาร์ตเมนต์และอาคารหน่วยงานภาครัฐมากกว่า